อินเดียเร่งเจรจาลดภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ หวังได้ข้อตกลงดีกว่าอินโดนีเซีย ก่อนเส้นตาย 1 ส.ค.
ทางการอินเดียกำลังเร่งผลักดันข้อตกลงการค้ากับรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยมีเป้าหมายหลักคือการได้รับอัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำกว่าที่สหรัฐฯ เพิ่งตกลงกับอินโดนีเซีย หวังบรรลุข้อตกลงก่อนเส้นตายวันที่ 1 สิงหาคมนี้
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศว่า สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากอินโดนีเซียในอัตรา 19% ซึ่งลดลงจากระดับ 32% ที่เคยมีการขู่ไว้ก่อนหน้า ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว สหรัฐฯ จะได้รับสิทธิ์ในการส่งออกสินค้าไปยังอินโดนีเซียโดยไม่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้า และในเวลาเดียวกัน ทรัมป์ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ข้อตกลงกับอินเดียจะอยู่ใน ‘ระดับเดียวกัน’ พร้อมทั้งย้ำว่า “เรา (สหรัฐฯ) จะสามารถเข้าถึงตลาดอินเดียได้”
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่อินเดียที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เปิดเผยว่า อินเดียต้องการข้อตกลงอัตราภาษีนำเข้าที่ดีกว่าที่อินโดนีเซียได้รับ และต่ำกว่าระดับ 20% ที่ทรัมป์ประกาศว่าจะใช้กับเวียดนาม ก่อนหน้านี้ Bloomberg News รายงานว่า ทั้งสหรัฐฯ และอินเดียกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อลดอัตราภาษีนำเข้าที่เสนอไว้ให้ต่ำกว่า 20% โดยปัจจุบัน คณะเจรจาจากอินเดียกำลังอยู่ในกรุงวอชิงตัน เพื่อผลักดันให้ข้อตกลงดังกล่าวสามารถบรรลุได้ทันเวลาที่กำหนด
เจ้าหน้าที่อินเดียเปิดเผยว่า อินเดียหวังว่าจะสามารถเจรจาอัตราภาษีนำเข้าที่จะช่วยให้ประเทศได้เปรียบทางการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกัน โดยอินเดียมองว่า ตนเองแตกต่างจากเวียดนาม หรือประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายอื่นๆ ที่สหรัฐฯ อาจมองว่าเป็นเพียงศูนย์กลางการส่งผ่านสินค้า (transshipment hub) และจากการหารือที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า อินเดียอาจได้รับอัตราภาษีนำเข้าที่ดีกว่าประเทศเหล่านั้น
Soumya Kanti Ghosh หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก State Bank of India ระบุว่า คณะเจรจาของอินเดียตั้งเป้าที่จะลดอัตราภาษีนำเข้าให้ต่ำกว่า 10%
“อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ย่อมคาดหวังสัมปทานที่สำคัญในการเข้าถึงตลาดอินเดียสำหรับสินค้าของตนเป็นการตอบแทน” Ghosh กล่าว
ทั้งนี้ แม้ว่าอินเดียจะยังคงลังเลที่จะเปิดตลาดสำหรับสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์นม แต่ก็อาจพิจารณาให้สัมปทานในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การเกษตร โดยอินเดียได้เสนอจะปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ลงเหลือ 0% หากสหรัฐฯ ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน นอกจากนี้ อินเดียยังเสนอแนวคิดในการเปิดตลาดให้กับสินค้าการเกษตรบางประเภทจากสหรัฐฯ และมีความเป็นไปได้ในการพิจารณาสั่งซื้อเครื่องบินเพิ่มเติมจากบริษัท Boeing
สหรัฐฯ ลดท่าทีเผชิญหน้ากับจีน ท่ามกลางข้อกังวลนโยบายที่ผันผวน
ในอีกด้านหนึ่ง ทรัมป์ได้ลดท่าทีที่แข็งกร้าวกับจีนลงอย่างเห็นได้ชัด เพื่อปูทางไปสู่การจัดการประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
ปัจจุบัน ทรัมป์ได้หันมามุ่งเน้นการทำข้อตกลงด้านการจัดซื้อสินค้าจากจีน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการเจรจาในช่วงสมัยแรกของการดำรงตำแหน่ง โดยเน้นการเฉลิมฉลองผลสำเร็จในระยะสั้น มากกว่าการแก้ไขปัญหารากฐานที่นำไปสู่ความไม่สมดุลทางการค้า ทั้งนี้ จีนเพิ่งรายงานตัวเลขดุลการค้าที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อันเป็นผลมาจากการส่งออกที่พุ่งสูงขึ้น
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวได้เน้นย้ำว่า ทรัมป์ยังคงมีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โดยยกตัวอย่างมาตรการที่เข้มงวดที่ยังคงบังคับใช้กับจีนตั้งแต่สมัยแรกของการดำรงตำแหน่ง เช่น การจำกัดกิจกรรมของบริษัท Huawei Technologies Co. และการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเกือบทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ท่าทีที่กลับไปกลับมาของทรัมป์ และการเปลี่ยนทิศนโยบายที่เคยให้คำมั่นไว้ ได้ก่อให้เกิดความกังวลในหมู่ผู้กำหนดนโยบาย ทั้งภายในรัฐบาลและที่ปรึกษาภายนอก โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวล่าสุดในสัปดาห์นี้ ยิ่งตอกย้ำความกังวลที่ว่า ‘เส้นแดง’ หรือจุดยืนสำคัญที่สหรัฐฯ เคยวางไว้กับจีนนั้น อาจกลายเป็นประเด็นที่สามารถต่อรองได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การที่รัฐบาลได้อนุญาตให้บริษัท Nvidia Corp. กลับมาจำหน่ายชิป H20 ซึ่งเป็นชิปที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับตลาดจีนอีกครั้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายรายเคยยืนยันว่าประเด็นนี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งนับเป็นการเคลื่อนไหวที่ย้อนแย้งกับแนวทางเดิมของฝ่ายบริหาร ที่มุ่งมั่นที่จะป้องกันเทคโนโลยีสำคัญของสหรัฐฯ มิให้ตกไปอยู่ในมือของจีน
ภาพ: Mr Changezi / Shutterstock
อ้างอิง: