ตัวแทนเยาวชนอาเซียนประชุม eYAA ที่ไทย สร้างความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค
เยาวชน 100 คน ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง เข้าร่วมการประชุม eYAA รุ่นที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นที่ไทย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแก่ผู้คนกว่า 89,000 คนทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพันธมิตรกว่า 40 แห่ง
การประชุม eYAA รุ่นที่ 5
ก่อนการเฉลิมฉลองวันอาเซียน ในวันที่ 8 สิงหาคม 2568 ที่จะถึงนี้ มูลนิธิเมย์แบงก์และมูลนิธิอาเซียนได้จัดพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อเสริมพลังเยาวชนทั่วอาเซียน (eYAA) รุ่นที่ 5 อย่างเป็นทางการ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย โดยงานนี้ได้ต้อนรับอาสาสมัครเยาวชนจำนวน 100 คน รวมถึงตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคม (CSO) และวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) อีก 10 คน ที่เดินทางมาจากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญเพื่อจุดประกายพลังและศักยภาพของเยาวชนในอาเซียน
อาสาสมัครเยาวชนทั้ง 100 คนนี้มีอายุระหว่าง 19 ถึง 35 ปี โดยได้รับการคัดเลือกมาจากสิบประเทศสมาชิกอาเซียน แต่ละคนมีความเป็นมาที่หลากหลาย เปี่ยมด้วยแนวคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีจิตวิญญาณอาสาสมัครที่เข้มแข็ง เยาวชนเหล่านี้จะร่วมดำเนินงานกับองค์กรภาคประชาสังคม (CSO) และวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) ในท้องถิ่น ซึ่งองค์กรเหล่านี้ได้รับการคัดเลือกโดยพิจารณาความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในประเด็นที่มีความท้าทายของชุมชน และความสามารถในการให้คำแนะนำแก่โครงการที่ขับเคลื่อนโดยเยาวชนเมื่อปฏิบัติงานจริงในพื้นที่
การประชุมเชิงปฏิบัติการซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20–23 กรกฎาคมนี้ ได้รวบรวมกลุ่มผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงชุมชนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น และตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคม (CSO) รวมถึงวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) ที่มาร่วมกันเพื่อร่วมมือสรุปโครงการพัฒนาชุมชนทั้ง 10 โครงการ ซึ่งพร้อมจะนำไปปฏิบัติในประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมโครงการนี้ ได้แก่ เวียดนาม
การประชุมระดับภูมิภาคเป็นระยะเวลา 4 วันนี้ เป็นการต่อยอดจากการเรียนรู้ออนไลน์ และถือเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับผู้เข้าร่วมทุกคนในการพัฒนาโครงการชุมชนของตนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการในรุ่นก่อนหน้า ตลอดจนเสริมสร้างทักษะการทำงานร่วมกัน เพื่อวางรากฐานในการดำเนินโครงการที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายและยั่งยืนในชุมชนเป้าหมาย
ในการกล่าวเปิดงาน ตันศรี ดาโต๊ะ ศรี ซัมซัมไซรานี โมฮัมหมัด อาซิซา ประธานกลุ่มเมย์แบงก์และมูลนิธิเมย์แบงก์ กล่าวว่า "เมย์แบงก์ยังคงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการเสริมสร้างศักยภาพทางสังคมผ่านโครงการ eYAA ร่วมกับมูลนิธิอาเซียน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมนักสร้างการเปลี่ยนแปลงรุ่นเยาว์สามารถสร้างผลกระทบที่เป็นรูปธรรมและมีความหมาย ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อผู้คนและชุมชน ช่วยส่งเสริมความสามัคคีระหว่างวัฒนธรรม และสร้างประชาคมอาเซียนที่ครอบคลุมและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น"
ท่านยังกล่าวต่อว่า "เราเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่า หากเยาวชนของเราได้รับทรัพยากร คำแนะนำ โอกาส และการสนับสนุนที่เหมาะสม พวกเขาจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนา พลังของเยาวชนไม่ได้อยู่ที่การทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การค้นพบศักยภาพและความกล้าหาญภายในตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อให้พวกเขาสามารถบรรลุสิ่งที่ทรงคุณค่าในอนาคต"
ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน กล่าวว่า "เรารู้สึกตื่นเต้นอย่างยิ่งที่จะได้สานต่อการเดินทางครั้งนี้กับมูลนิธิเมย์แบงก์ โครงการนี้ย้ำเตือนเราว่า เยาวชนไม่ได้เป็นเพียงผู้นำในอนาคต แต่พวกเขากำลังเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน เรากำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างแท้จริงในการบรรลุวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 ผ่านโครงการ eYAA ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เยาวชนเป็นแกนหลักในการสร้างสรรค์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความครอบคลุม นวัตกรรม และความสามารถในการปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น"
ลงพื้นที่ร่วมโครงการ
โครงการที่ดำเนินการโดยชุมชนทั้ง 10 โครงการนี้ ได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับคัดเลือก โดยครอบคลุม 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การสร้างชุมชน ศิลปะและวัฒนธรรม ความหลากหลายทางสิ่งแวดล้อม และการศึกษา แต่ละทีมจะได้รับเงินสนับสนุนสูงสุด 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ และองค์กรภาคประชาสังคมรวมถึงภาคธุรกิจท้องถิ่นจะมีบทบาทสำคัญในการร่วมรับรองความสำเร็จของโครงการที่กล่าวมานี้
ตัวอย่างหนึ่งคือโครงการ "Green Roots Eco-Tourism" ซึ่งดำเนินงานโดย Recyglo ในจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย โดยอาสาสมัครเยาวชนจากรุ่นที่ 5 จะมีส่วนร่วมในโครงการนี้ ซึ่งมุ่งเน้นเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนและข้อจำกัดด้านโอกาสทางเศรษฐกิจที่สตรีผู้ด้อยโอกาสต้องเผชิญ สตรีกลุ่มนี้ซึ่งประกอบด้วยคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว แม่บ้านที่มีรายได้น้อย และนักศึกษาหญิงจำนวนมาก มักประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งรายได้ที่มั่นคง เนื่องจากขาดทักษะด้านการประกอบอาชีพ และยังคงพึ่งพาแนวทางการปฏิบัติแบบดั้งเดิมที่ไม่ยั่งยืน