‘แพนเอเซียฟุตแวร์’ รุกรองเท้าลำลอง-ไลฟ์สไตล์ ดันสัดส่วนรายได้ 20-30%
คนไทยใส่รองเท้าเฉลี่ย 2.5 คู่ต่อคนต่อปี ตลาดรองเท้ายังมีโอกาสเติบโต “แพนเอเซียฟุตแวร์” ในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตจากรองเท้ากลุ่มใหม่ๆ รวมถึงตลาดต่างประเทศ
เส้นทางของ “แพนเอเซียฟุตแวร์” อยู่ในธุรกิจผลิตรองเท้าย่างก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ทุกขณะ เคยยิ่งใหญ่มาก ในฐานะผู้ผลิตไทยรายแรกที่ผลิตแบรนด์ระดับโลกที่ทำรายได้มหาศาล มีพนักงานนับหมื่นชีวิต
แม้อดีตจะผ่านพ้นยุครุ่งโรจน์ จนทำให้บริษัทต้อง “พลิกกระบวนท่าครั้งใหญ่” เพื่อเคลื่อนธุรกิจต่อ ซึ่งตามแผนบริษัทต้องการเทคออฟ เพื่อทำรายได้ทะยานสู่จุดสูงสุดอีกครั้ง
สมมาต ขุนเศษฐ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด(มหาชน) ฉายภาพว่า แผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์รองเท้า “DAYBREAK” มากขึ้น รวมถึงการขยายพอร์ตโฟลิโอของรองเท้าให้มีความหลากหลาย ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง จากปัจจุบันสินค้าหลักจะเป็นรองเท้ากีฬาหมวดฟุตบอลและฟุตซอล มีสัดส่วนกว่า 90%
ทว่า เมื่อมองตลาดรองเท้าที่มีขนาดใหญ่พฤติกรรมคนไทยใส่รองเท้าเฉลี่ย 2.5 คู่ต่อคนต่อปี การใส่รองเท้าฟุตบอล ฟุตซอล “โอกาสเฉพาะ” หรือ Niche เมื่อเล่นกีฬาฟุตบอลเท่านั้น กลับกันตลาดรองเท้าหมวดอื่นๆ ทั้งรองเท้าลำลอง เช่น รองเท้าแตะ รองเท้าแตะหนีบ รองเท้าสลิปออน รองเท้าผ้าใบ ฯ โอกาสใส่บ่อยมีค่อนข้างมาก ทำให้ปี 2568 บริษัทจะพัฒนาสินค้าใหม่ในกลุ่มนี้มากขึ้น
นอกจากโอกาสใส่ถี่ ใส่ได้หลายโอกาส ศักยภาพในการทำ “กำไร” ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีด้วย
“สินค้าใหม่ปีนี้จะเน้นรองเท้าไลฟ์สไตล์ รองเท้าลำลองมากขึ้น เพื่อให้เติบโตควบคู่กับรองเท้าฟุตบอล ฟุตซอล อย่างรองเท้าแตะ รองเท้าทำงาน รองเท้าเดินเล่น จ๊อกกิ้ง ฯ เพื่อให้อนาคตมีสัดส่วนสินค้านอนฟุตบอล 20-30% และรองเท้าฟุตบอล 70-80% ซึ่งรองเท้าลำลองเป็นสินค้าส่วนใหญ่ที่ผู้คนใช้ ไม่มีใครใส่รองเท้าฟุตบอลแล้วชวนแฟนไปเดินห้าง แต่รองเท้าลำลองใส่ในโอกาสต่างๆได้ ใส่จ๊อกกิ้ง ใส่ไปต่างประเทศ อีกทั้งการทำกำไรอยู่ในเกณฑ์ที่ดีด้วย”
นอกจากตลาดในประเทศที่ต้องสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รับรู้แก่ผู้บริโภคเป้าหมาย ต่างประเทศบริษัทยังเดินหน้าขยายตลาดเพิ่มเติม ซึ่งปีนี้จะมีการร่วมทริปกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ไปโร้ดโชว์ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งมีประชากรมหาศาล เป็นตลาดใหญ่ รวมถึงเตรียมบุกตลาดในอาเซียนอย่างมาเลเซีย และบรูไนเพิ่มเติม
แม้บริษัทจะรุกหนัก แต่การทำธุรกิจปี 2568 มีความท้าทายอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อที่ซบเซา อีกทั้งยอดขายไตรมาสแรกมากกว่า 471 ล้านบาท เติบโตต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ แต่ภาพรวมทั้งปีบริษัทยังมองอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 20%
ทั้งนี้ เพื่อผลักดันยอดขายให้เติบโตตามเป้า จึงเดินหน้านโยบาย “Growth Mindset” ใช้กับบุคลากรทุกคน ซึ่งปัจจุบันทั้งพนักงานโรงงาน และพนักงานขายหน้าร้านมีเกือบ 2,000 คน พร้อมกันนี้มีการสร้างแรงจูงใจด้านผลตอบแทน ทั้งเงินเดือน โบนัส ให้กับคนทำงาน
“ธุรกิจต้องเติบโตทุกปี การจะเติบโตต้องโตทั้งยอดขายและกำไร ซึ่งการมีโกรทว์มายด์เซ็ทจะต้องเติบโต ต้องมีให้นโยบาย เซ็ทการทำงานกับทีมงานทุกคน การสร้างโกรทว์ มายด์เซ็ทใช้แล้วพนักงานให้การตอบรับที่ดี ทำแล้วธุรกิจเจริญเติบโตขึ้น มีกำไร มีแต่ได้กับได้ คือได้ทั้งองค์กร และได้กับตัวเอง มีรายได้ดูแลครอบครัว บริษัทเติบโตย่อมสร้างความมั่นคงให้กับทุกคน แล้วนี่คือเครือสหพัฒน์ด้วย”
อย่างไรก็ตาม ปี 2568 “สมมาต” ยอมรับว่าปัจจัยลบรายล้อมธุรกิจมีมากมาย แต่ยังเชื่อมั่นว่าตลาดมี“ปัจจัยบวก” เช่นกัน โดยเฉพาะสภาวะเศรษฐกิจกำลังซื้อไม่ดี ย่อมทำให้มีผู้เล่นอ่อนแอบ้าง จึงควรใช้โอกาสในการลุกขึ้นทำตลาดเชิงรุก
“คนอื่น(ผู้เล่นในตลาด)อ่อนแอ แต่เราต้องไม่อ่อนแอไปด้วยนะ ยามที่คนอื่นอ่อนแอเราต้องสร้างขวัญกำลังใจให้ดี ต้องแข็งแรง เปรียบการทำธุรกิจเหมือนนักฟุตบอล ถ้าคู่แข่งกำลังเพลี่ยงพล้ำ เราต้องลุกขึ้นสู้ การทำตลาดรองเท้าก็เช่นกัน ต้องสร้างโอกาสให้เป็นของเรา ซึ่งตลาดรองเท้าโดยรวมถือว่ามีมูลค่ามหาศาล”
รายงานข่าวระบุว่า ตลาดรองเท้าทุกหมวดหมู่ในไทยมีมูลค่ากว่า 9.8 หมื่นล้านบาท