โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ไต่สวน “คดีชั้น 14” นัดที่ 3 ศาลซักละเอียด “ผู้คุม” 9 ปาก เคลื่อนย้าย “ทักษิณ” จากเรือนจำถึง รพ. ตำรวจ

ไทยพับลิก้า

อัพเดต 15 กรกฎาคม 2568 เวลา 2.41 น. • เผยแพร่ 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ไต่สวน “คดีชั้น 14” นัดที่ 3 ศาลสอบผู้คุม 9 ปาก ซักละเอียดการเคลื่อนย้าย “ทักษิณ” จากเรือนจำถึง รพ. ตำรวจ – สั่งนักข่าห้ามจดคำเบิกความพยาน

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไต่สวนการบังคับโทษคดีถึงที่สุดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นัดที่ 3 ได้ไต่สวนกลุ่มเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทั้งหมด 9 ราย ช่วงเช้าเริ่มตั้งแต่ 9.10-12.00 น. เป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ทำหน้าที่ควบคุมตัวนายทักษิณนำส่งโรงพยาบาลตำรวจในคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 รวม 5 ราย อันได้แก่

1. นายสัญญา วงค์หินกอง ผู้อำนวยการส่วนบริหารงานทั่วไป เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ในคืนวันเกิดเหตุทำหน้าที่พัศดีเวร

2. นายสมศักดิ์ บุดดีคำ นักทัณฑวิทยาชำนาญการ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ในคืนวันเกิดเหตุทำหน้าที่ผู้ช่วยพัศดี และหัวหน้าเวรคนที่ 1

3. นายจารุวัฒน์ เมืองไทย ปัจจุบันเป็นนักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ เรือนจำกลางอุบลราชธานี คืนวันเกิดทำหน้าที่ควบคุมตัวนายทักษิณจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครไปโรงพยาบาลตำรวจ

4. นายธีระศักดิ์ คงหอม หัวหน้างานตรวจค้น เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร คืนวันเกิดเหตุทำหน้าที่ควบคุมตัวนายทักษิณจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครไปโรงพยาบาลตำรวจ และได้รับคำสั่งให้เป็นผู้คุมขณะผู้ต้องขังพักอยู่ที่ รพ. ตำรวจหลังจากนั้นเช่นกัน

5. นายเทวรุทธ สุนทร ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการทัณฑสถานเปิดห้วยโป่ง จังหวัดระยอง วันเกิดเหตุมีตำแหน่งนักวิชาการอบรม และฝึกวิชาชีพเรือนจำจังหวัดสระแก้ว แต่มาปฏิบัติหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทำหน้าที่ควบคุมนายทักษิณจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพไปโรงพยาบาลตำรวจ

ส่วนช่วงบ่ายเริ่มตั้งแต่เวลา 13.15-14.45 น. เป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ไปปฏิบัติหน้าที่ควบคุมตัวนายทักษิณพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 – วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 อีก 4 ราย อันได้แก่ 1. นายนพรัตน์ ไกรแสวง นักทัณฑวิทยาชำนาญการ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 2. นายเจนวิทย์ เรือนคำ เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ชำนาญการ เรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ทำหน้าที่เป็นผู้คุมขณะที่นายทักษิณพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ 3. นายศิวพันธุ์ มูลกัน เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ชำนาญการ เรือนจำอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา วันเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้คุมช่วงทานายทักษิณพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ และ 4. นายนิภัทร์ชล หินสุข เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ปฏิบัติงาน เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้คุมขณะผู้ต้องขังพักอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ

แต่เนื่องจากศาลเคยมีคำสั่งให้คู่ความและผู้เข้าฟังการพิจารณาคดี งดเว้นการเผยแพร่โฆษณาคำเบิกความพยานบุคคล และพยานเอกสารที่ศาลไต่สวน แต่ปรากฏว่ายังมีผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีและผู้สื่อข่าวบางรายนำคำเบิกความพยานไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ศาลจึงกำชับคู่ความและผู้เข้าฟังการพิจารณาคดี ให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด โดยในการไต่สวนครั้งถัดไปในวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 ศาลฎีกาฯ ไม่อนุญาตให้ผู้เข้าฟังและผู้สื่อข่าวจดบันทึกคำเบิกความ แต่ยังอนุญาตให้เข้าฟังได้

ภายหลังศาลฎีกาฯ สอบปากคำเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทั้ง 9 รายเสร็จเรียบร้อย นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “ผมได้ยื่นคำร้องต่อศาลมาแล้ว 2 ครั้ง โดยขอให้ศาลออกข้อกำหนดในการพิจารณาไต่สวนคดีเป็นวาระลับ หรือจำกัดจำนวนผู้เข้าฟังการไต่สวน และห้ามนำคำเบิกความไปเผยแพร่ เนื่องจากมีผู้เข้าฟังบางรายการนำข้อเท็จจริงหรือคำเบิกความไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ นำไปวิเคราะห์ สรุปประเด็นการซักถามว่าศาลถามเรื่องอะไร แสดงอากัปกิริยาอาการอย่างไร อาจทำให้สังคมเกิดความสับสนได้ ปรากฏว่าศาลเห็นว่ายังไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องออกข้อกำหนดในการพิจารณาไต่สวนคดีเป็นวาระลับตามที่ผมร้องขอ ซึ่งผมก็น้อมรับคำสั่งศาล และขอขอบคุณศาลที่ได้กำชับประเด็นที่ผมร้องขอ โดยมีคำสั่งให้คู่ความและผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด โดยห้ามเผยแพร่คำเบิกความ”

“จริงๆ ผมก็ขอว่าศาลออกข้อกำหนดในการพิจารณาไต่สวนคดีเป็นวาระลับ แต่ศาลก็เห็นว่ายังไม่มีเหตุที่จะต้องออกข้อกำหนด ยังให้พิจารณาเป็นการเปิดเผยอยู่ ผมก็น้อมรับคำสั่งของศาล ขอบคุณศาล และสื่อมวลชนที่สนใจติดตามคดีนี้ เมื่อศาลมีคำสั่งออกมาชัดเจนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ใครอยากรู้อะไร ผมก็พร้อมจะพูดในเวลานั้น แต่ระหว่างนี้ขอไว้ก่อน เนื่องจากเป็นข้อมูลที่สำคัญในหลายๆ ส่วน และศาลก็ได้กำชับไว้แล้ว”

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณียื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ ขอให้ศาลออกข้อกำหนดพิจารณาไต่สวนเป็นวาระลับนั้น นายทักษิณกำชับมาหรือไม่

นายวิญญัติตอบว่า “ไม่ใช่ครับ คุณทักษิณไม่ได้กังวลอะไรอย่างนั้น ผมในฐานะคนที่ทำงานอยู่หน้างาน ต้องประเมินว่าอะไรเป็นอะไร ประเมินบรรยากาศในห้องพิจารณาคดีว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งดูว่าหลังจากนั้นแล้วมีฟีดแบ็กหรือมีผลอะไรตามมาหรือไม่ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ช่วยศาลตรวจสอบ และศาลเองก็มีเจ้าพนักงานตรวจด้วย ส่วนเรื่องการออกข้อกำหนดนั้นก็เป็นดุลยพินิจของศาล ท่านเห็นอย่างไร ผมก็ต้องน้อมรับ แต่อย่างไรก็ตาม ศาลก็ได้กำชับถึงกรณีที่มีบุคคล ซึ่งขอไม่เอ่ยชื่อ ได้นำข้อมูลการไต่สวนไปให้สัมภาษณ์ตามรายการสื่อต่างๆ หรือโพสต์เฟซบุ๊ก โดยให้ข้อมูลข้อเท็จจริงขาดๆ เกินๆ นั้น ซึ่งศาลได้กำชับไปแล้ว ดังนั้น เมื่อถึงเวลาผมอาจจะต้องขอปกป้องสิทธิของตนเอง แต่ตอนนี้ยังไม่คิดจะฟ้องใคร เพราะอยู่ในระหว่างการไต่สวนของศาล”

ถามว่า เหตุใดต้องขอให้ศาลออกข้อกำหนดการพิจารณาไต่สวนเป็นวาระลับ

นายวิญญัติกล่าวว่า “ไม่ใช่ผมอยากจะให้พิจารณาเป็นการลับนะ แต่บางครั้งมันก็มีเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อการพิจารณาคดีเกิดขึ้นหลายเรื่อง อย่างที่ศาลเคยกำชับไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า เมื่อมีคนนำข้อมูลพยานที่มาให้ปากคำออกไปพูด ทำให้พยานมาให้ปากคำทีหลังรู้แบบผิดๆ ถูกๆ ข้อเท็จจริงที่ศาลได้รับก็อาจไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ถามว่าถ้าเป็นอย่างนี้ควรจะพิจารณาลับ หรือไม่”

“อย่างไรก็ตาม ศาลฯ เห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องออกข้อกำหนด แต่การไต่สวนครั้งหน้า ไม่ให้ผู้เข้าฟังการไต่สวนจดข้อความหรือคำพูดออกมา อยากรู้ให้เข้ามานั่งฟังได้ แต่ถ้าจดคำเบิกความออกไปถ่ายทอด ไม่สมควร ซึ่งผมก็เข้าใจ คดีนี้เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ประชาชนสนใจ ผมไม่ได้ไปปิดหูปิดตาประชาชน ไม่ใช่นะ ถ้าไม่มีเหตุตามที่กล่าวข้างต้น ผมก็คงไม่ร้องขอให้ศาลพิจารณาเป็นวาระลับ ตรงนี้เป็นการทำหน้าที่ตามปกติของทนายความ” นายวิญญัติกล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2568 ศาลฎีกาฯ ไต่สวนนัดแรก ได้เชิญนายมานพ ชมชื่น ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครสอบปากคำ ทั้งในประเด็นข้อกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ และขั้นตอนในการนำผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ จากนั้นก็มีคำสั่งให้ออกหมายเรียกพยานอีก 20 ปาก มาไต่สวนในวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 เป็นกลุ่มบุคลากรการแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ รวม 5 ปาก เช่น แพทย์หญิงรวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่ตรวจร่างกายนายทักษิณ นายแพทย์นทพร ปิยะสิน แพทย์เวรทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์, นายธัญพิสิษฐ์ ขบวน พยาบาลเวร เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

และล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 ศาลฎีกาฯ ได้ไต่สวนกลุ่มของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 9 รายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 โดยในช่วงเช้าของวันที่ 8 กรกฎาคม ศาลฎีกาฯ ได้ไต่สวนพยาน 5 ปาก มีทั้งพัศดีเวร หัวหน้าเวร และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการนำตัวนายทักษิณไปส่งโรงพยาบาลตำรวจ หลังจากที่ได้รับแจ้งจากพยาบาลเวรว่านายทักษิณป่วยหนักจำเป็นต้องส่งโรงพยาบาลภายนอก ตามความเห็นของแพทย์เวรโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และพยาบาลเวร โดยพยานแต่ละคนซึ่งอยู่อีกห้องหนึ่งจะถูกนำตัวมาให้ปากคำทีละคน และศาลมีการซักถามด้วยคำถามเดียวกัน แต่คำตอบที่ได้จากพยานจะแตกต่างกันไป

อย่างกรณีที่ศาลฯ ได้ซักถามรายละเอียดเรื่องการนำตัวนายทักษิณส่งโรงพยาบาลตำรวจนั้น มีผู้คุม 2 นายขึ้นไปประคองตัวนายทักษิณลงมาจากห้องกักโรคชั้น 2 ของสถานพยาบาลในเรือนจำเดินไปขึ้นรถพยาบาลที่จอดรออยู่ ปรากฏพยานคนหนึ่งให้การว่ามือหนึ่งหิ้วเครื่องออกซิเจน อีกมือประคองผู้ป่วยขึ้นรถพยาบาลระยะทางไม่ไกลมากประมาณ 50 เมตร ขณะที่พยานอีกคนที่ช่วยประคองนายทักษิณให้การว่า ขณะที่ผู้ป่วยนอนอยู่ที่ห้องพยาบาลมีการให้ออกซิเจน แต่ระหว่างเดินไม่มีเครื่องออกซิเจน แต่พอขึ้นไปบนรถพยาบาลก็มีการให้ออกซิเจนอีก นอกจากนี้ศาลก็ได้มีการซักถามอาการผู้ป่วย การแต่งกายของผู้ต้องขัง จำนวนรถพยาบาลที่ใช้ในการเคลื่อนย้าย ซึ่งได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ว่าใช้แค่ 1 คัน จอดรออยู่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หรือผู้คุม พยาบาลเวร คนขับรถ และผู้ป่วย นั่งอยู่ในรถพยาบาลรวมทั้งหมด 8 คน ซึ่งใช้เวลาเดินทางไม่นานก็ถึงโรงพยาบาลตำรวจ เพราะรถไม่ติด รถพยาบาลก็ขึ้นไปจอดที่ทางลาดชั้น 2 อาคารภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตำรวจนำผู้ป่วยขึ้นเตียงเข็นเข้าลิฟต์ไปชั้น 14 ห้อง 1407 โดยในห้องดังกล่าวมีการติดตั้งอุปกรณ์การแพทย์ แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หรือผู้คุมไม่ทราบว่าเป็นเครื่องมืออะไร และก็มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมาพักที่ห้อง 1404 แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ห้อง 1407 เป็นหลัก

จากนั้น ทางเรือนจำกรุงเทพฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 4 นาย ทำหน้าที่ควบคุมตัวนายทักษิณขณะพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งศาลได้มีการซักถามถึงสภาพห้องพักของผู้ป่วย อาการของผู้ป่วย และการเข้าเยี่ยมของญาติ โดยผู้คุมจะมีโต๊ะนั่งอยู่หน้าห้องพัก และจะเปิดประตูเข้ามาตรวจทุกๆ 1 ชั่วโมง พบว่าผู้ป่วยนั่งบนเตียงตลอด ไม่สามารถลุกลงจากเตียงได้ด้วยตนเอง หากผู้ป่วยต้องการลงจากเตียงหรือเข้าห้องน้ำ ต้องกดปุ่มเรียกพยาบาลให้ช่วยประคองลงจากเตียง เวลาญาติมาเยี่ยม ผู้ป่วยก็จะนั่งบนเตียง ทั้งนี้ อาการป่วยของนายทักษิณทรงตัวตั้งแต่วันที่เข้ารับการรักษาตัวจนถึงวันที่ออกจากโรงพยาบาลตำรวจ

สำหรับการไต่สวนครั้งถัดไปเป็นวันอังคารที่ 15 กรกฎาคม 2568 นายวิญญัติกล่าวว่า “ศาลนัดจะนัดสอบปากคำพยานประมาณ 5-6 ปาก ในจำนวนนี้คาดว่าจะมีอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์รวมอยู่ด้วย จากนั้นถัดไปก็จะเป็นในวันที่ 18 กรกฎาคม และวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 ในส่วนของจำเลย ถ้าศาลไม่ได้มีหมายเรียกพยานอื่นเพิ่มเติมแล้ว ผมก็จะขอใช้สิทธิ์นำตัวพยานจำเลยที่ผมได้แสดงความประสงค์ไว้ก่อนหน้านี้เข้ามาเบิกความต่อศาลในวันที่ 30 กรกฎาคม 2568 ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่ดุลพินิจของศาลด้วย แต่ก็จะขอดูอีกครั้งว่าพยานจำเลยไปซ้ำกับพยานที่ศาลออกหมายเรียกมาหรือไม่ หากไม่ซ้ำ และผมเห็นว่ายังมีข้อเท็จจริงที่อยากให้ศาลทราบ ก็จะเตรียมมา แต่ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่ามีทั้งหมดกี่ปาก ซึ่งพยายามดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 นัด”

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ไทยพับลิก้า

‘ออมสิน’ พร้อมเชื่อมฟันเฟืองเล็กๆ ต่อจิ๊กซอว์ บรรเทาปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้วย ‘Creating Shared Value’

2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ปฏิบัติการ ‘โดรน’ ของอิสราเอลและยูเครน ทำให้โลกสู่ยุค “สงครามกองโจรของยานยนต์”

3 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความทั่วไปอื่น ๆ

อัลคาราซ vs. ซินเนอร์ คู่ปรับยุคใหม่

THE STANDARD
วิดีโอ

"โรแมนซ์สแกม" ลวงรัก หลอกลงทุน ตุ๋นเงินเหยื่อ | เนชั่นทันข่าวค่ำ | NationTV22

NATIONTV
วิดีโอ

อัยการรับสำนวนคดีคลิปเสียง "ฮุน เซน-แพทองธาร" | ยุคล ชนข่าว | NationTV22

NATIONTV

สถิติหวย ตรวจหวย ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวด 16 ก.ค. ย้อนหลัง 10 ปี

ประชาชาติธุรกิจ

“หับเผย–ใบโพธิ์” : ปลาหมอคางดำ จากปลารุกราน สู่แบรนด์เงินล้านของบ้านเกิด

สยามรัฐ

พศ. อัปเดตล่าสุด สึกแล้ว 7 รูป กรณี ‘สีกากอล์ฟ’

The Bangkok Insight

เลขาฯ ป.ป.ช. ยังไม่ยืนยันมติตั้งองค์คณะไต่สวนนายกฯ แพทองธาร กรณีคลิปเสียงสนทนา ฮุน เซน

THE STANDARD

สินค้าไทย ขาดตลาดในเกาะกง กัมพูชาพึ่งนำเข้าเวียดนาม เมินใช้ของในประเทศ

Khaosod

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...