โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

‘ออมสิน’ พร้อมเชื่อมฟันเฟืองเล็กๆ ต่อจิ๊กซอว์ บรรเทาปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้วย ‘Creating Shared Value’

ไทยพับลิก้า

อัพเดต 15 กรกฎาคม 2568 เวลา 2.15 น. • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

วิกฤติศรัทธาที่เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ จากการเพิกเฉย/ละเลย ไม่ปฏิบัติตาม Rule of Law เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำลงเรื่อยๆ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าในปีนี้ประเทศไทยโตร้อยละ 1.6 ต่ำสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ “ทุน” ทั้งที่เป็นธรรมชาติและที่สร้างขึ้นมาอย่างฟุ่มเฟือย จน “ทุน” ที่ดีร่อยหรอ ขีดความสามารถในการแข่งขัน ศักยภาพของประเทศลดลงไปเรื่อยๆ จึงมีคำถามว่า ถ้าประเทศไทยต้องรอด เราจะร่วมกันฟื้นฟูอย่างไร

…….

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน มองสถานการณ์ประเทศไทยว่า ถ้าพูดถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยตอนนี้ที่คุยกันปลายเดือนมิถุนายน 2568 มีความผันผวน มีความไม่ชัดเจนมากๆ ในหลายเรื่องว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษีของอเมริกาซึ่งการเจรจายังไม่สิ้นสุด ของไทยเองก็ยังไม่สิ้นสุด ไม่ชัดเจนว่าผลการเจรจาภาษีของไทยเรื่องจะเป็นยังไง อันนั้นมีผลต่อการส่งออกของเราทั้งหมด ขณะที่สงครามในตะวันออกกลางดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ว่ามีปัจจัยที่ยังไม่จบ ไม่ชัดเจน รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย พี่งพาหลักๆ อยู่สองตัวมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็คือการส่งออกกับการท่องเที่ยว

ท่ามกลางสงครามการค้าจะจบยังไง เพราะฉะนั้นการส่งออก คงพึ่งไม่ได้มากนัก ส่วนการท่องเที่ยวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลักของเราในช่วงที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเราเพิ่มจาก 11 ล้านคนเป็น 28 ล้านคนเป็น 35 ล้านคน ปีนี้กังวลว่าน่าจะเป็นตัวที่ไม่ถึง 35 ล้านคน น่าจะเป็นตัวติดลบ GDP คงจะมีผลกระทบแน่นอน

สิ่งที่ทุกคนพยายามทำตอนนี้ก็คือ ช่วยแก้ปัญหาในมุมมองต่างๆ เรากังวลเรื่องเศรษฐกิจจะซึมยาว ด้วยสภาวะปัญหาทางเศรษฐกิจมากมาย ดัชนีที่ออกมาทุกตัว ดูเหมือนบ่งชี้ไปในทางที่น่ากังวล ถ้าไม่รีบแก้

ผมไม่คิดว่า เราพูดถึงวัฏจักรขึ้นลงปกติ ซึ่งถ้าเศรษฐกิจขึ้น ก็ขึ้นดอกเบี้ย ลดการร้อนแรง เศรษฐกิจลง ก็ลดดอกเบี้ย แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นการลงลึก แล้วก็จะลงยาวถ้าไม่รีบแก้ไข เพราะฉะนั้น ต้องช่วยกันหลายทิศทาง นโยบายการคลัง นโยบายการเงิน แบงก์รัฐ หน่วยงานกำกับอื่น รวมถึงมาตรการป้องกันสินค้าที่นำเข้าที่จะอาจจะไหลบ่าเข้ามา ทุกอย่างต้องสอดรับ สอดประสาน ช่วยกันทำงาน

ปัญหาที่น่ากังวลมาจากโครงสร้างพื้นฐานหรือมาจากอะไร

เรากังวลเรื่องเศรษฐกิจจะชะลอตัวไปยาวๆ ซึ่งชะลอตัวมาต่อเนื่อง เราเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ แล้วศักยภาพเราก็ต่ำลงมาเรื่อยๆ อันนี้เป็นเรื่องจริง เราเคยเติบโต 5% สบายๆ 3% เราก็งงๆ หน่อย ตอนนี้เราพูดถึงต่ำกว่า 2% ปีนี้จะ 1% (1.7-1.8%) มันต่ำลงมาเรื่อยๆ ต่ำกว่าศักยภาพของเราลงมาเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าต้องมีอะไรเปลี่ยน ถ้าอยู่เหมือนเดิม กระตุ้นด้วยการลดดอกเบี้ยนิดหนึ่ง เหมือนเดิม นโยบายการคลังอัดเงินเข้าไป จนกระทั่งตัวหนี้ต่อ GDP หนี้สาธารณะมัน 64% ปีหน้าน่าจะ 67-68% จะตันที่ 70% แล้ว ต้องแก้ไข ต้องรีบเปลี่ยน

ต้องบอกว่าปัญหาทางเศรษฐกิจรอบนี้ไม่เหมือนกับวิกฤติปี 2540 ตอนนั้นคนที่ได้รับผลกระทบหลักๆ จะเป็นสถาบันการเงินภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่ใช้เงินกู้จากต่างประเทศ และคนที่ทำงานในภาคธุรกิจนั้นๆ ปิดกิจการไป

แต่ว่ารอบนี้เราพูดถึงเศรษฐกิจที่ไม่ดี ขีดความสามารถการแข่งขันที่ลดลง จนกระทั่งส่งผลต่อ GDP ที่เติบโตลดลง ปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ที่รุมเร้ามากตอนนี้ หนี้ครัวเรือน หนี้ NPL ความยากจน การกระจายรายได้ การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินในการกู้เงินเพื่อทำธุรกิจ เพราะฉะนั้น รอบนี้เราพูดถึงเศรษฐกิจข้างล่าง เราพูดถึงพ่อค้า แม่ค้า คนประกอบอาชีพอิสระ เอสเอ็มอีขนาดเล็ก ซึ่งได้รับผลกระทบหนัก

แน่นอนว่า ถ้าสงครามการค้าเกิดขึ้น ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบ ก็จะส่งมาที่ตัวซัพพลายเชนของผู้ส่งออก รวมถึงเอสเอ็มอีที่ผลิตสินค้าสู้กับสินค้าที่จะไหลบ่าเข้ามาจากต่างประเทศ แต่สุดท้ายมันจะกลับมาที่คนฐานราก พ่อค้า แม่ค้า คนที่ทำงานในโรงงาน เอสเอ็มอีขนาดเล็ก ตัวนี้จะเป็นตัวที่ได้รับผลกระทบชัดเจน เพราะฉะนั้น รอบนี้ผมคิดว่าปัญหาอยู่ข้างล่างมากกว่าในช่วงปี 2540 ซึ่งอาจจะอยู่ในกลุ่มคนชั้นบนธุรกิจขนาดใหญ่

เศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ จะแก้ยังไง

นักเศรษฐศาสตร์เวลาบอกว่า GDP โตเต็มศักยภาพ เหมือนกับเราใส่ทรัพยากรทั้งหมดที่เรามีเข้าไป เราโตได้เท่าไหร่ ตอนนี้บางคนก็บอกว่า 2.5% บางคนก็บอกว่า 3%

ผมประเมินคร่าวๆ GDP ตามศักยภาพน่าจะโต 2.5-3% แต่ GDP ของเราโตต่ำกว่านั้น เราก็ต้องเพิ่ม productivity เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มกำลังทั้งหลายของเรา ให้การใช้ทรัพยากรที่มีคุณภาพมากขึ้น ทำให้ศักยภาพมันโตขึ้น ถ้าเราเชื่อว่าวันนี้ศักยภาพของเราอยู่ที่ 2.5-3% แต่เราโต 1.7%, 1.6%, 1.8% มันก็คือต่ำกว่าศักยภาพ ต่ำเกินไป

เพราะฉะนั้น ต้องทำทั้งสองเรื่อง ศักยภาพก็ต้องขยับขึ้นไปให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ต้องมีตัวขับเคลื่อนใหม่เข้าไปเพื่อผลักดัน บางคนอาจจะบอกว่าต้องมี S-curve เขาถามว่า S-curve คืออะไร อยู่ที่ไหน ก็ยังงงกันอยู่ แต่ว่ามันมี product champion มันมีอุตสาหกรรม champion ที่ต่อยอด แล้วก็ไปต่อได้ เช่น ธุรกิจอาหาร เกษตรที่เป็นเกษตรที่แปรรูปได้ มีมูลค่าสูงขึ้น hospitality, wellness, การท่องเที่ยว พวกนี้ต่อยอดได้เร็ว ใส่พวกนี้เข้าไปก็เพิ่มศักยภาพได้

ขณะที่ทุนมนุษย์ ถ้าระยะยาวเราสามารถทำให้คนมีการศึกษาดีขึ้น เทคโนโลยีเราดีขึ้น หรืออะไรก็ตามที่ทำให้ productivity เราขึ้น ก็ทำให้ขยายขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลต่อศักยภาพของเรา แล้ว GDP ก็เติบโตไปด้วย

ปัญหาจริงๆ ตอนนี้ จุดบอดอยู่ตรงไหน

จุดบอดผมคิดว่าเรามีปัญหาเชิงโครงสร้างมากจริงๆ ต้องยอมรับ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทุกคนเห็นปัญหา แต่ว่าไม่ได้มีการแก้ไขจริงจัง เวลาพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็นเหลื่อมล้ำทางการเงิน เหลื่อมล้ำทางการศึกษา เหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ เราพูดถึงปัญหาการกระจายรายได้ความยากจน เราพูดถึงปัญหา aging society ว่าจะแก้ยังไง จะดูแลคนสูงวัยยังไง หรือจะดึงเขากลับมาทำงานต่ออีกสักระยะหนึ่ง

เราพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจ เช่น การเมืองที่อาจจะไม่แข็งแรง เราพูดถึงตัว governance ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล ปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างหลักของเราเลย และเป็นปัญหาอย่างนี้ทั้งรัฐและเอกชน ปัญหาระบบอุปถัมภ์ซึ่งเศรษฐกิจกลุ่มใหญ่โตมากับอุปถัมภ์ โดยที่การแข่งขันก็ไม่ดี ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของเราก็ถูกบั่นทอน

ถามว่าแก้ได้มั้ย แก้ได้ บรรเทาได้ ค่อยๆ บรรเทาไป สมมุติพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น หนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังปัจจุบัน ถามว่ากดปุ่มทีเดียว ออกมาตรการทีเดียวหายเลยมั้ย ไม่จริง แต่มาตรการที่ออกมา ถ้าทำดีๆ จะบรรเทาปัญหาเชิงโครงสร้างนั้นๆ ได้ และต้องออกหลายมาตรการ ต่อเป็นจิ๊กซอว์ออกมา แล้วก็ออกด้วยหลายหน่วยงาน แบงก์ชาติก็มีกำลังลักษณะหนึ่งเรื่องนโยบายการเงิน กระทรวงการคลังก็มีขีดความสามารถกำลังอีกแบบหนึ่ง หน่วยงานอื่นก็มีขีดความสามารถอื่น การศึกษาก็เหมือนกัน

ทุกอย่างถ้าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ชีวิตจริงคือต้องค่อยๆ ทำให้บรรเทาด้วยมาตรการต่างๆ ด้วยโครงการต่างๆ แต่ต้องสอดรับ สอดประสานด้วยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ มี capacity ที่แตกต่างกัน แล้วเข้ามาช่วยต่อจิ๊กซอว์กัน ปัญหานั้นๆ จะบรรเทา

ฉะนั้น เวลาบอกว่ามีปัญหาเชิงโครงสร้าง ทุกคนบอกมีปัญหา แต่ว่ามันไม่ได้รับการร่วมกันแก้ไขบรรเทาปัญหานั้น มันต้องช่วยกันทำ ทุกปัญหามันแก้ได้ มันบรรเทาได้ในช่วงแรก แล้วระยะยาวมันก็จะกลายเป็นแก้ปัญหาระยะยาว

หลายคนพูดว่าปัญหาโครงสร้างแก้ยาก

เวลาคนพูดถึงปัญหา ต้องทำยังไง ต้องมีมาตรการยังไง สุดท้ายมันไม่ออกมาจริง เท่านั้นเอง กลายเป็นเรื่องภาพลักษณ์ กลายเป็นเรื่องพีอาร์ ไม่ได้เกิดผลกระทบ ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ จะแก้ปัญหาเรื่องความยากจน ก็ต้องสร้างมาตรการ แล้วทำให้เกิดผลกระทบ แล้วทำด้วยกันหลายหน่วยงาน ด้วยหลายจิ๊กซอว์

อย่างธนาคารออมสินเอง เป้าหมายเราคือบรรเทาปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการเงิน บรรเทาปัญหาเรื่องความยากจน ต้องยอมรับก่อนว่าเราเป็นแบงก์ ผมไม่สามารถไปบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา มันคนละเรื่องเดียวกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องการเงิน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นต้นเรื่องในการแก้ปัญหา คือถ้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เขามีอาชีพได้ สร้างอาชีพได้ ก็จะมีรายได้ไปหล่อเลี้ยง ใช้หนี้ได้ สามารถเอามาใช้จุนเจือในครอบครัวได้ อันนี้ก็จะบรรเทาปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการเงินได้ แล้วก็ช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องความยากจน การศึกษาได้ด้วย

เราก็ทำลักษณะนี้ โครงการที่ออกมาทั้งหมดก็ทำเรื่องบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางการเงิน บรรเทาปัญหาความยากจน ออกโครงการต่างๆ ขึ้นมา หรืองานพัฒนาที่ออมสินทำ ทำเพื่อให้คนมีรายได้มากขึ้น แก้ปัญหาหนี้สิน เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ปล่อยสินเชื่อให้กับคนที่ปกติแล้วไม่สามารถกู้ได้จากสถาบันการเงินปกติ

โครงการพวกนี้ขาดทุนแน่นอน คุม NPL ให้อยู่ เพียงแต่ว่าเราเอากำไรจากธุรกิจใหญ่เชิงพาณิชย์มาสนับสนุนภารกิจเชิงสังคม แล้วก็บริหารในองค์รวมของออมสินให้กำไรพอสมควร ไม่ต้องกำไรสูงสุด และเพื่อส่งเป็นงบประมาณให้รัฐบาล

เราอาจจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองเล็กๆ ที่ต่อจิ๊กซอว์ บรรเทาปัญหาเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางการเงิน แล้วก็หวังว่าหน่วยอื่นจะมาช่วยกันต่อจิ๊กซอว์ แล้วปัญหานี้จะถูกบรรเทาไป เป็นรูปธรรมจริง ไม่ใช่กลายเป็นเรื่องพีอาร์ ไม่ได้กลายเป็นเรื่องภาพลักษณ์

อีกปัญหาที่ผมเห็นก็คือเรื่องของ CG (corporate governance) ธรรมาภิบาล ทุจริตคอร์รัปชัน เราต้องทำให้เป็นเรื่องทำจริง ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ no gift policy ไม่ใช่ no gift policy แต่ส่งที่บ้าน no gift ใส่รถ ใส่หลังรถ มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ทุกเรื่องต้องค่อยๆ ทำ พวกนี้ต้องเป็นวัฒนธรรม ต้องทำในทุกเรื่อง ต้องช่วยกันทำ

ธรรมาภิบาลเป็นตัวถ่วงประเทศไทยมากที่สุดหรือไม่

ผมคิดว่ามีปัญหาเชิงโครงสร้างมากมายจริงๆ ของไทย ทั้งเชิงโครงสร้างทางการเงิน และไม่ใช่ทางการเงินด้วย แต่ถามว่าอะไรหนักที่สุด ตอบไม่ได้จริงๆ ผมไม่รู้จะวัดยังไง แต่ว่าหนักทุกตัว แต่เชื่อว่าปัญหาบรรเทาได้ทุกตัว ถ้าร่วมกันทำจริงๆ ถ้าถามถึงว่าปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลเมืองไทยหนักที่สุดมั้ย หนักมากแน่นอน เรื่องจริงเป็นอย่างนั้นเลย

ถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหาหรือลดปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลได้ในเมืองไทย ผมว่ามันจะกลายเป็นตัวเหนี่ยวรั้งทุกอย่าง เหนี่ยวรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ สิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้นยาก คนดีๆ ก็จะเกิดขึ้นยาก การขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมือง การขึ้นสู่ตำแหน่งทางข้าราชการ การได้มาของงานของเอกชน กลายเป็นสิ่งที่ต้องมีปัญหาเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมด

ก็ต้องพยายามบรรเทา พยายามแก้ ซึ่งไม่อยู่ในสถานะของออมสินที่จะเป็นผู้ทำเรื่องนี้ แต่ผมทำเรื่องธรรมาภิบาลภายในองค์กร แต่ว่าในภาพใหญ่ก็ต้องมีหน่วยอื่นที่รับผิดชอบ แล้วก็บรรเทาปัญหานี้ ก็ต่อจิ๊กซอว์กันอย่างที่บอก

เราทำของเราเองภายใน อาทิ การแต่งตั้งขึ้นสู่ตำแหน่ง ก็ต้องเป็นเรื่อง Performance based ต้องมี Merit ต้องมีคุณธรรมขึ้นมา ฟังดูเหมือนง่าย แต่ก็ทำไม่ง่าย มีแรงกระทบ มีแรงกระแทกสูงๆ พอสมควร เวลาคนนู้นจะเอาอย่างนี้ เวลา Stakeholder อยากได้อย่างไร เราก็ต้องพยายามทำให้มันเป็นเรื่องคุณธรรมให้ได้

ประเทศไทยรอดได้ บรรเทาได้ ถ้าเข้าใจปัญหา แล้วค่อยๆ แก้ไป

ใช่ครับ คือถ้าเราเอาเศรษฐศาสตร์สถาบันมาจับ เศรษฐศาสตร์มันจะมองว่าปัญหา มันเป็นปัญหาเชิงสถาบัน เวลาพูดถึงอันนี้มันเป็นโครงสร้างเชิงสถาบัน ที่เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม รูปธรรมคือตั้งแต่เรื่องของกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง อะไรก็ตามที่มันเป็นรูปธรรม

นามธรรมมันก็คือเรื่องของตัววัฒนธรรม การยอมรับได้ การสนับสนุนเรื่องปัญหา CG ไปเกี่ยวข้องกับการมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล การยอมรับได้กับระบบอุปถัมภ์ สนับสนุนระบบอุปถัมภ์ พวกนี้ก็เป็นปัญหาโครงสร้างเชิงสถาบัน ทั้งรูปธรรมและนามธรรม

ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำ เรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องการขึ้นสู่ตำแหน่ง อะไรก็ตาม มันบรรเทาปัญหาได้ แต่สุดท้ายต้องแก้ที่โครงสร้างเชิงสถาบัน ต้องแก้กฎหมาย แน่นอนเวลาพูดถึงปฏิรูปกฎหมาย ไม่รู้พูดมากี่ปฏิรูปแล้ว ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยน สำหรับผมนะ ก็อาจจะมีเปลี่ยนบ้างพอสมควร แต่ว่าเราอาจจะไม่รู้สึกถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญอย่างนั้น

การแก้ปัญหาการจัดสรรงบประมาณ ภารกิจตอนนี้ เศรษฐกิจแบบนี้ วิกฤติแบบนี้ งบประมาณควรจะทำยังไง อันนี้ดีอยู่แล้วมั้ย หรือเพิ่ม หรือเปลี่ยนอย่างไร

การแก้ปัญหาระบบธรรมาภิบาล จะทำยังไงให้การขึ้นสู่ตำแหน่งในแต่ละจุดมันเป็น Merit based มันไม่ใช่เรื่องพรรคพวก เรื่องระบบอุปถัมภ์ จะทำยังไง

การศึกษาสำคัญมากที่สุด จะทำยังไงให้การศึกษามันได้ทั่วถึง แล้วก็เป็นการเตรียมคนที่พร้อมกับธุรกิจสมัยใหม่ เป็น New Economy ทำยังไงให้คนที่ออกจากระบบการศึกษา อย่างสมมติคนจบ ป.6, ม.6 แล้ว จนถึงอายุ 60 ปี ไม่เคยได้รับการเทรนนิ่งอีกเลย ทำยังไงให้ชีวิตจริงมันกลับมากลายเป็น Lifetime Learning

เวลาพูดถึง reskill, upskill ไม่ใช่แค่ reskill, upskill แค่คนในองค์กรธุรกิจซึ่งมีอยู่หยิบมือหนึ่ง ทำยังไงให้คนภาพใหญ่ทำได้ พวกนี้มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ถ้าจะแก้ต้องแก้โครงสร้างเชิงสถาบัน อันนี้จะเป็น root cause ที่จะแก้ปัญหาได้จริงๆ

คิดว่าปัญหาโครงสร้างแก้ได้

ผมว่าบรรเทาปัญหาได้ แก้ได้หมดมั้ย ผมคิดว่าปัญหาทุกปัญหาบรรเทาได้ แต่ว่าต้องทำจริง ทำจริงกันมั้ย หรือสร้างภาพอย่างเดียว หรือว่าหน่วยนี้ทำจริง แต่หน่วยอื่นไม่ทำจริง คือด้วยระบบสถาบันของไทย แต่ละหน่วยมีอำนาจขอบเขตที่จำกัด วิธีคิดที่จำกัดของแต่ละหน่วย ถ้าทำต้องทำในองค์รวม ต้องทำในภาพใหญ่ ต้องแก้ปัญหาโครงสร้างเชิงสถาบันให้ได้

ภาครัฐหรือรัฐบาลคงต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา แต่ภาครัฐก็ต้องแก้ปัญหาตัวเองด้วย ส่วนเอกชนก็ต้องเข้าไปช่วยด้วย องค์กรเชิงสังคม ภาคสังคม ภาคประชาชนก็ต้องเข้าไปร่วมด้วย หยิบมาสักปัญหาหนึ่ง อะไรก็ได้ ความยากจน บอกอันนี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐ เป็นไปไม่ได้ ภาครัฐก็ต้องแก้ปัญหาตัวเองก่อน แล้วมาแก้ปัญหานี้ มาบรรเทาปัญหานี้ด้วยมาตรการต่างๆ ด้วยเครื่องมือต่างๆ ด้วยหน่วยงานต่างๆ แต่แน่นอน เอกชนก็ต้องเข้าไปต่อจิ๊กซอว์ช่วย ภาคประชาสังคมก็ต้องเข้าไปต่อจิ๊กซอว์ช่วย คือมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่อย่าไปสิ้นหวังกับมัน เราทำได้ ยังทำได้

สมมติว่า ในภาพรวม ถ้าเศรษฐกิจโตขึ้น ดีขึ้น ประชาชนมีรายได้มากขึ้น การมีรายได้มากขึ้นจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง บรรเทาปัญหาเชิงโครงสร้างหลายๆ ตัวได้ เช่น หนี้ครัวเรือน หนี้ NPL ความยากจน จะบรรเทาได้ แต่จะไม่จบ ต้องแก้ที่โครงสร้างเชิงสถาบัน ไปแก้ที่การศึกษา ไปแก้ที่ระบบการดึงคนเข้าสู่จุดที่เขามีความสามารถ ไปแก้เรื่อง ‘โอกาส’ ที่ไม่เท่าเทียมกัน ที่เหลื่อมล้ำ พวกนี้แก้เป็นจุดๆ แล้วต้องแก้โครงสร้างใหญ่ด้วย

ภารกิจหลักของออมสิน ทำในบางจุดที่ทำได้

เราเปลี่ยนออมสินเป็นธนาคารเพื่อสังคม (social bank) มา 5 ปีเต็ม ผมคิดว่าทิศทางเราชัดเจน เราทำธุรกิจสองข้าง ข้างหนึ่งทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ปกติให้มีกำไร แล้วเอากำไรนี้มาสนับสนุนภารกิจเชิงสังคมอีกข้างหนึ่ง อันนี้คือ social bank

ถามว่าทำไม เพราะถ้าไม่ทำอย่างนี้ ธุรกิจฝั่งที่เป็น social ขาดทุนแน่นอน เพราะจะช่วยคน ถ้าไม่ทำอย่างนี้ แบงก์จะไม่แข็งแรง แบงก์ไม่แข็งแรงก็เป็นภาระรัฐบาลต้องเพิ่มทุนให้เรา หรือถ้าจะทำโครงการช่วยคนได้ ต้องเอาเงินรัฐบาลมาจุนเจือ มาสนับสนุน ก็กลายเป็นภาระรัฐบาลอีก เพราะฉะนั้น เราต้องบาลานซ์สองฝั่งได้

เพียงแต่ว่าทำยังไงให้กำไรพอดีๆ ยังมีภารกิจส่งกำไรให้กับกระทรวงการคลัง เราเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรเป็นอันดับ 3 อยู่ ทำยังไงถึงยังส่งกำไรให้ได้ แล้วก็บาลานซ์ NPL ให้เหมาะสม NPL เราอยู่ที่ 3.4% กำไรปีนี้ประมาณ 20,000-25,000 ล้านบาท ก็คิดว่าพอดีๆ ยังเป็นหลักให้กับรัฐบาลในเรื่องของนำส่งรายได้

ออมสินเองพอเป็นธนาคารเพื่อสังคม เราทำภารกิจ 4 ด้านหลักๆ อย่างแรกก็คือดึงคนเข้าสู่ระบบการเงิน ถ้าพูดถึงท้องถิ่นต่างๆ เอาแค่เขาสามารถเข้าถึงทางการเงินได้ อย่างเช่นเราไปเปิดสาขา ไปมีตู้เอทีเอ็ม ไปมีตู้รับฝากเงิน ในจุดที่ไม่มีใครไปเลย อันนี้ก็ง่ายที่สุด อย่าคิดว่าไม่มีพื้นที่อย่างนี้ในประเทศไทยนะครับ เยอะนะครับ บางตำบลไม่มีธนาคารเลย ไม่มีหน่วยงานพวกนี้เลย เพราะฉะนั้น เราก็ต้องไปเซอร์วิส พวกนี้ก็เป็นพื้นฐานง่ายที่สุด

แต่ว่าหลักๆ ที่พยายามทำก็คือ นำคนที่ไม่เคยกู้เงินได้ ไม่เคยกู้ในสถาบันการเงินปกติได้ ต้องไปกู้แหล่งนอกระบบ หรือในระบบแต่ดอกเบี้ยสูงเกินจริง 36%, 33% นำคนกลุ่มนี้ที่อาจจะมีความเสี่ยงสูงกว่าปกติ แต่ยังพอปล่อยได้ หรือคนที่ไม่เคยกู้ได้เลย เอาสองกลุ่มนี้เข้ามาสู่ระบบสินเชื่อให้ได้

แต่แน่นอน อาจจะมีบางกลุ่มที่ปล่อยไม่ได้จริงๆ ต้องยอมรับคือเราเป็นแบงก์ เรารับฝากมา เราต้องคืนทุกบาทที่รับฝาก เพราะฉะนั้น บางกลุ่มที่เสียแน่นอน 100% เป็น NPL แล้ว อันนี้อาจจะไม่อยู่ในกลุ่มที่เราจะสามารถช่วยเรื่องการปล่อยสินเชื่อใหม่ แต่จะไปอยู่ในกลุ่มที่สองว่าทำยังไงถึงแก้ NPL ได้ก่อน แล้วค่อยว่ากัน

อย่างปีนี้เราดึงคนที่ไม่เคยกู้ใครได้เลย เราอาจจะรู้สึกแปลกใจนะว่ามีด้วยเหรอคนไม่เคยกู้ได้ คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่เคยกู้เงินได้ เราอยู่ในมนุษย์เงินเดือน ทำงานเดือนแรกบัตรเครดิตก็สมัครได้แล้ว อันนี้คือกู้เงิน กู้สินเชื่อบ้าน กู้สินเชื่อส่วนบุคคล

แต่คนฐานราก คนที่มีรายได้น้อยต่างจังหวัด คนที่ประกอบอาชีพอิสระ ขายหมูปิ้ง ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทำงานร้านอาหาร นวดแผนโบราณ กลุ่มนี้ไม่เคยกู้เงินได้ ถ้าเขาไม่เคยกู้เงินได้ เขาจะมีบ้าน เขาก็มีไม่ได้ ถ้าเขาจะประกอบอาชีพเอง เขาจะไปเปิดแผงลอยอีกหนึ่งแผงของเขาเอง เขาต้องกู้นอกระบบ คือการที่จะมีรายได้จากการได้สินเชื่อเพื่อไปต่อรายได้ ต่ออาชีพ โอกาสอย่างนี้จะยากมาก ปีนี้จึงมีโครงการสินเชื่อสร้างเครดิต

นอกจากนี้ยังมี สินเชื่อสร้างอาชีพ อาจจะเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เคยกู้ได้ แต่ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี ผ่อนไม่ได้ตามปกติ เกรดต่ำลงมาแล้ว แต่ต้องการเงินใหม่ไปต่อทุน ไปทำธุรกิจใหม่ สินเชื่อ2ตัวนี้ ปีนี้ตั้งเป้าจะปล่อยให้ได้ 1 ล้านคน

ออมสินสมัยก่อนผมมา ทั้งปีด้วยสินเชื่อปกติทุกตัวรวมกันประมาณ 7 แสนคน อันนี้เราพูดถึง social product มีอยู่ 3-4 ตัว จะปล่อยเป็นล้านคน เป็นสินเชื่อที่ช่วยคนตัวเล็ก

ขณะที่เป้าหมายอีก 1 ล้านคน ต้องช่วยในเรื่องของการแก้หนี้ แก้หนี้ครัวเรือน ลดยอดหนี้ ลดดอกเบี้ย เพื่อให้ตัดต้นได้มากขึ้น ตัดต้นได้มากขึ้นหนี้มันจะลงเร็ว กลุ่มที่จ่ายดี คืนดอกเบี้ยที่จ่ายดี กลุ่มที่ไปไม่ไหวจริงๆ แทนที่จะให้เขาติดเป็น NPL ติดประวัติเสียทางเครดิตไปอีก 8 ปี ถ้าเขาติดอยู่ 3,000 บาท 5,000 บาท เราได้รับเงินบางส่วนมาแล้ว เรายอมมั้ย เลิกกันเถอะ ยอมเขาสักครั้งนึง โครงการอย่างนี้ก็จะทำ แต่ว่าคงบ่อยๆ ไม่ได้ เดี๋ยวจะกลายเป็นเสียวินัยทางการเงิน เฉพาะโครงการนี้โครงการเดียวอีก 5 แสนคน

เมื่อรวมสองกลุ่มนี้ ปีนี้ออมสินช่วยคนอย่างน้อย 2 ล้านคน ดึงคนเข้าสู่ระบบ แก้หนี้ NPL แก้หนี้ครัวเรือน สร้างอาชีพให้เขา คนกลับไปอยู่ต่างจังหวัดก็ไปฝึกอาชีพเป็นช่างมอเตอร์ไซค์ ช่างไฟฟ้า ช่างพัดลม คนอยู่ในกรุงเทพฯ อยากจะฝึกอาชีพ ทำยำ ทำอาหารขาย เรามีจุดฝึกอาชีพ เป็นการแก้หนี้ในมิติต่างๆ

เวลาเราเปลี่ยนธนาคารเป็นธนาคารเพื่อสังคม โดยกระบวนการภายในต้องเปลี่ยนหมด จากเดิมคนเข้าสาขาเป็นหลัก เวลาขอสินเชื่อเล็กๆ น้อยๆ เข้าสาขาหมด สมัยก่อนเราพูดถึงเป้าหมายสินเชื่อแต่ละตัว 3 หมื่นคน 5 หมื่นคน 7 หมื่นคน ตอนนี้เราพูดแต่ละตัวเป้าหมาย 3 แสน 5 แสน บางสินเชื่อ 1 ล้านคน

เพราะฉะนั้น ระบบไม่เหมือนเดิม เข้าสาขาไม่ได้ ต้องใช้ mobile ให้มากที่สุด ใช้ดิจิทัล ใช้ mobile application MyMo ของเรา แล้วก็ใช้เว็บเข้ามาช่วย บางส่วนอาจจะทำไม่ได้ ก็เข้าสาขาบ้าง แต่ว่าถ้าเข้าสาขาหมดทีละ 3 แสน 5 แสน รับไม่ไหว เพราะฉะนั้น ระบบภายในก็ต้องเปลี่ยน คนก็ต้องเปลี่ยน ให้รับกับภารกิจนี้ได้ ซึ่งโชคดีออมสินมีวัฒนธรรมที่เราอยู่กับชุมชน อยู่กับสังคมมาตลอดต่อเนื่อง 112 ปีของเรา

ฉะนั้น เวลาเปลี่ยนเป็นธนาคารเพื่อสังคม ผมก็คิดว่าทุกคนดีใจ ทุกคนภูมิใจ เราออกโครงการแคมเปญหลังสุดของเราคือ “เป็นลูกค้าเราเท่ากับช่วยสังคม” นี่ก็เป็นความรู้สึกของเราจริงๆ ว่าฝากเงินอยู่แบงก์ไหนก็ได้ดอกเบี้ยเท่ากัน มาฝากแบงก์ออมสินแข็งแรงกว่าด้วย เพราะเราเป็นแบงก์เดียวที่รัฐบาลรับประกันทุกบาท 100% กู้สินเชื่อบ้านที่ไหนดอกเบี้ยเท่าๆ กัน เผลอๆ เราต่ำกว่าด้วย เอาเงินมาฝากเรา มากู้สินเชื่อเรา ทำกู้มาแล้ว เรามีกำไรมากขึ้น กำไรนั้นเอาไปช่วยคนปีละ 2 ล้านคน

เป็นแคมเปญที่ทำให้คนภายในพนักงานเราภูมิใจ แล้วเราก็หวังว่าประชาชนภายนอกที่เป็นลูกค้าเราแล้ว หรือยังไม่เป็นลูกค้าเรา ก็มาเป็นลูกค้าเรา มันก็เลยเป็นแคมเปญ เป็นลูกค้าเราเท่ากับช่วยสังคม

สิ่งที่ออมสินทำเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยรอดและทุกหน่วยงานร่วมกันทำ

ใช่ครับ อย่างที่ผมบอกว่าถ้าหน่วยงานทุกหน่วยงาน คนทุกคนตั้งใจจะแก้ปัญหาจริงๆ มันก็ช่วยบรรเทาปัญหานั้นได้ คือปัญหาเชิงโครงสร้างมันใหญ่โตจริงๆ แล้วมันไม่ได้มีปัญหาเดียว มันมีเป็นสิบปัญหาที่วางอยู่ข้างหน้า แต่ถ้าไม่ทำมันจะไหลลงเรื่อยๆ ประเทศไทย ขีดความสามารถในการแข่งขันก็ดี เศรษฐกิจก็ดี สังคมก็ดี คนจน คนฐานรากก็ดี ความเหลื่อมล้ำทางการเงินก็ดี ปัญหามันจะรุนแรงอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องช่วยกันทำ

ในบริบทใครอยู่ในองค์กรไหน ใครเป็นผู้นำองค์กรไหน ใครมีอำนาจทำอะไร ใครเป็นพนักงานองค์กรไหน ประชาชนทำอะไรได้ มันก็ช่วยกันทำได้ อย่างที่บอกเป็นจิ๊กซอว์เล็กๆ ขึ้นมาบรรเทาปัญหา ไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง ไม่มีหน่วยงานไหนหน่วยงานหนึ่ง รัฐบาลก็ดี จะแก้ปัญหาความยากจน กดปุ่มตึ้งหายไป ไม่จริง แต่แก้ปัญหาได้ด้วยทุกคนร่วมกัน บรรเทาปัญหาได้ทุกคนร่วมกัน แล้วต่อจิ๊กซอว์กัน

ทำอย่างนี้ ปัญหาที่เป็นปัญหารุนแรงจะค่อยๆ บรรเทาๆ มันใช้เวลา แต่จะบรรเทาปัญหา แล้วจะมีความหวัง ดูแล้วเป็นจริงได้ ไม่ใช่เรื่องที่พูดในภาพลอยๆ ว่าเราต้องแก้ปัญหาความยากจน เราต้องแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทยไม่พัฒนา แต่ไม่ได้ทำอะไร ก็ต้องลงมือทำ สุดท้ายอยู่ที่การลงมือทำ ลงมือทำแล้วก็ result oriented มันก็จะมีผลลัพธ์ที่ตามมา ค่อยๆ ทำไป ผมเชื่ออย่างนั้นนะ

เราช่วยคนได้เยอะมากจริงๆ ตั้งแต่โควิดที่ผ่านมา เราช่วยคนไปได้ในภารกิจต่างๆ สามสี่ภารกิจ ดึงคนเข้าสู่ระบบ แก้ปัญหาหนี้สิน แล้วก็งานพัฒนา งานสังคม ส่งเสริมการออม พัฒนาอาชีพ ฝึกอาชีพ รวมทั้งหมดประมาณ 18 ล้านคน แต่มีนับซ้ำนะ ปีนี้ปีเดียวคิดว่าปีนี้น่าจะจบที่ 2.5 ล้านคน

ออมสินทำสินเชื่อสีเขียวด้วยไหม

สินเชื่อสีเขียวก็ทำ เป็นเทรนด์ของโลก เพื่อให้เข้าใจง่ายว่าทำอะไร คือการทำธุรกิจที่มี ESG (environment, social และ governance) โดยหวังว่า ESG จะนำไปสู่ปลายทางของความยั่งยืน แบงก์เองก็ทำเรื่อง green financing, sustainable financing, social financing ออมสินก็ทำครับ เรามี ESG score ด้วย ธุรกิจใหญ่ขนาดไหนได้ ESG score สูง ผมลดดอกเบี้ยให้ ใครไม่ถึงก็พยายามจะสนับสนุนให้เขาทำได้ แต่ว่าออมสินไม่ได้ทำตัว E เป็นหลัก ผมทำ governance ด้วย ผมคิดว่าเราเป็นลีดเดอร์เรื่อง governance ผมเปลี่ยนออมสินให้มีเรื่อง governance และได้รับการประเมินถือว่าเราเปลี่ยนไปเยอะมาก

แต่ว่าจริงๆ ที่เราทำมากที่สุดคือตัว S เราเป็น social bank ตัว S ของเราตัวโตมาก ผมคิดว่าในประเทศไทย ถ้าทำงานเรื่องสังคม ออมสินอยู่ในลำดับต้นๆ แน่นอน เราสร้างผลกระทบได้จริง l เราไม่ได้ทำมันเป็น CSR โปรเจกต์ และผมไม่รู้สึกมันเป็น cost

ผลิตภัณฑ์หลักอาจจะไม่ S ทุกตัว แต่ผลิตภัณฑ์หลักของธนาคาร ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ผลิตภัณฑ์เงินฝาก โปรเจกต์หลักของธนาคาร การจัดซื้อสำคัญ event retired คอมพิวเตอร์ที่ใช้แล้ว 5 ปี แทนที่จะไปขายในราคาถูก ต้องเอาไปซ่อม ลงซอฟต์แวร์ใหม่ โปรแกรมใหม่ แล้วส่งไปให้เด็กใช้ตามต่างจังหวัด ปีหนึ่ง 4,000-5,000 ตัว เขาดีใจกันมาก เพราะว่าของเราคือใหม่ของเขา

กระบวนการทำงานสำคัญ ทั้งหมดต้องใส่เรื่อง social เข้าไป ฟังดูเหมือนเป็นนามธรรม แต่มันเป็นรูปธรรมได้ เพราะทั้งแบงก์ทำพร้อมกัน

เรายึดหลักทฤษฎีที่เขาเรียกว่า “creating shared value” สร้างคุณค่า สร้าง value ตอนผมอ่านใหม่ๆ value คืออะไร สร้าง value ก็คือ ทำให้บริษัทโตขึ้น ใหญ่ขึ้น มีกำไรเพิ่มขึ้น มีรายได้มากขึ้น creating value แล้วเอา value มาแชร์ให้กับสังคม มันก็เลยเป็น creating shared value สร้าง value แล้วมาแชร์ให้กับสังคม อันนี้เป็นจุดเริ่มของการนำมาซึ่งโครงการที่เรียกว่าเป็นลูกค้าเราเท่ากับช่วยสังคม

คือผมทำพายของธุรกิจผมให้ใหญ่ขึ้น คุณฝากเงินที่ไหนอยู่แล้วฝากไปเลย แต่มาฝากผม เราช่วยคน คุณได้บุญ คุณกู้เงินที่ไหนอยู่แล้ว กู้เลย มากู้ผมก็ได้ ดอกเบี้ยผมต่ำกว่าด้วย แล้วเราช่วยทำบุญ ช่วยคนด้วยกัน มันจะทำให้พายของธุรกิจผมใหญ่ขึ้น แล้วผมช่วยคนเป็น social bank โดยที่เราไม่รู้สึกเลยว่ามันเป็นต้นทุน

ผมรู้สึกว่าทั้งแบงก์ ทั้งกระบวนการมันถูกทำไปช่วยคน แล้วเราก็มีกำไรสูงพอสมควร ส่งเงินให้รัฐบาล คุม NPL คุมความเสี่ยง บาลานซ์สองพอร์ต พอร์ต social ซึ่งขาดทุนแน่นอน แล้วก็พอร์ต commercial ซึ่งกำไรเยอะ แต่ social ช่วยคนได้ปีละ 2-2.5 ล้านคน แล้วก็ทำงานร่วมกับรัฐบาลได้ ผมพูดตรงๆ ก็คือ เราเหมือนเป็นหน่วยงานเพื่อสังคม ผมไม่รู้สึกว่าเราทำงานเป็นแบงก์ ทุกวันนี้เราคิดแต่เรื่องวันนี้จะช่วยคนยังไง จะช่วยคนกลุ่มนี้ยังไง

การทำเรื่อง social ไม่ใช่กดปุ่มแล้วเป็นนะ ไม่ใช่ประกาศเซ็นเอ็มโอยูแล้วเป็น ไม่ใช่ออกมายืนพูดแล้วเป็น ต้องใช้เวลาทำครับ แล้วออมสินผมคิดว่าเราทำได้ดี แต่ก็ยังไม่ถึงสุด ผมทำได้มากกว่านี้ ช่วยคนได้มากกว่านี้ เปลี่ยนระบบภายใน จะช่วยเพิ่มได้มากกว่านี้ แต่เราก็มีความภูมิใจ พูดไปก็ภูมิใจ คนออมสินก็ภูมิใจที่เราช่วยคนได้เยอะ แล้วเราก็แข็งแรง เราเป็นหลักหนึ่งที่ช่วยคนได้ ทุกคนบอกแก้หนี้ครัวเรือน แก้ยังไง ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น ทำยังไง ก็ต้องทำจริง มาอยู่หน้างานทำจริง

ส่วนหนึ่งออมสินจะมีความได้เปรียบ เราเป็นแบงก์รัฐที่ใหญ่ที่สุด บางคนอาจจะเห็นคิดว่าแบงก์อาจจะเหมือนๆ กัน แต่ขนาดแบงก์ทำให้เรามีกำลัง มีทรัพยากร มีขีดความสามารถในการช่วยคนได้มาก

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ไทยพับลิก้า

ไต่สวน “คดีชั้น 14” นัดที่ 3 ศาลซักละเอียด “ผู้คุม” 9 ปาก เคลื่อนย้าย “ทักษิณ” จากเรือนจำถึง รพ. ตำรวจ

6 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ปฏิบัติการ ‘โดรน’ ของอิสราเอลและยูเครน ทำให้โลกสู่ยุค “สงครามกองโจรของยานยนต์”

6 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความทั่วไปอื่น ๆ

พยากรณ์อากาศ อุตุฯเตือน 9 จังหวัดเสี่ยงหนัก น้ำท่วม-น้ำป่า

ThaiNews - ไทยนิวส์ออนไลน์

4 ครูน้ำตาคลอ ถูกเลิกจ้างกลางเทอมไร้เหตุผล ผอ. โต้ไม่ได้เลิกจ้าง แค่งบประมาณไม่พอ

Khaosod

ออสเตรเลียจัดการซ้อมรบครั้งใหญ่ กองทัพไทยเข้าร่วมด้วย

JS100

เพศทางเลือกเฮลั่น!บัตรทองครอบคลุม “ฮอร์โมนข้ามเพศ”! สปสช.เคาะงบ 145 ล้านดูแล

เดลินิวส์

‘เจ้าคุณริด’ ยัน ‘เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร’ ติดต่อ ‘ลาสึก’ แต่ยังไร้เงา

เดลินิวส์

‘เพื่อไทย’ ตีปี๊บ ‘บอร์ด สปสช.’ ไฟเขียว ‘ฮอร์โมนข้ามเพศ’ เข้าบัตรทอง งบปี 2568

The Bangkok Insight

คุมตัว 6 คนไทยถูกส่งตัวจากกัมพูชาสอบปมพัวพันแก๊งคอลฯ เตือนโทษหนัก คุก 119 ปี

Manager Online

“พิชัย” ชงชื่อ “วิทัย รัตนากร” เป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ให้ ครม.เคาะพรุ่งนี้

Manager Online

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...