สรท.หวังทีมเจรจาปิดดีล“ภาษีทรัมป์”ต่ำกว่าเวียดนาม 2 %
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวในงานเสวนาโต๊ะกลม ในหัวข้อ "The Art of The (Re)Deal" ซึ่งจัดขึ้นโดยกรุงเทพธุรกิจ เครือเนชั่น ณโรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก ว่า การเดินหน้าเจรจด้านอัตราภาษีสหรัฐ ของทีมไทยแลนด์ ผู้ส่งออกเองก็ยังคาดหวังว่าทีมเจรจจะสามารถสรุปข้อตกลงให้อัตราภาษีของไทยที่ไปสหรัฐนั้นต่ำกว่าเวียดนามอย่างน้อย 2% เพราะมองว่าหากทำได้ก็จะสามารถทำให้ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการไทยสามารถมีเวลาพอที่จะปรับตัวได้มากขึ้น
ขณะที่ การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หากดูการบุ๊กกิ้งสายเรือของผู้ส่งออก พบว่า การส่งออกไทยในเดือนก.ค. 2568 ลดลงไปถึง 30% โดยการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกซึ่งการส่งออกไทยไป🇲🇲ในตลาดสหรัฐขยายตัวเป็นอย่างมาก สะท้อนแล้วว่าสินค้าที่สหรัฐเร่งนำเข้ามาสต๊อกสินค้าที่เพียงพอแล้ว
“การเดินหน้านโยบายของ ทรัมป์ 2.0 เพราะสหรัฐสูญเสียดุลการค้า สูญเสียการแข่งขันมานาน และการเก็บภาษีครั้งนี้ ต้องการดุลการค้าที่เสียไปกลับคืนมา สหรัฐนั้นเป็น “บี๊กชูก้าแดดดี้” มานานก็ต้องการเรียกประโยชน์ของตัวเองกลับคืนมา และต้องการให้การค้าเป็นธรรมมากขึ้น เราเข้าใจทีมเจรจา แต่ก็คาดหวังว่าจะทำได้ และยังต้องการให้การเจรจานั้นเป็นธรรมกับไทย เพราะหากดูตัวเลขดุลการค้าแล้ว ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐน้อยกว่าเวียดนาม ซึ่งก็ต้องการให้มีความชัดเจนในเรื่องนี้”
ทั้งนี้ สรท.เองก็ยังได้มีการหารือกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงแนวทางการปรับตัวและประคองอุตสาหกรรม ผู้ส่งออกให้สามารถยังแข่งขันได้ และดูมูลค่าตลาดสหรัฐ 18% หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท เป็นมูลค่าที่ไม่น้อย การที่จะหาตลาดอื่นทดแทนไม่ใช่เรื่อง่าย และการที่จะขายสินค้าให้ประเทศอื่นก็ไม่ใช่ว่าจะนำเข้าหรือซื้อสินค้าไทย เพราะมองว่าเขาเองก็กำลังเจอปัญหาเช่นกัน ดังนั้น การรักษาตลาดนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญ
นอกจากนี้ เมื่อดูตัวเลขการลงทุนของสหรัฐที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งขอส่งเสริมการลงทุนในไทยประมาณ 135 โครงการ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ไทยเองควรจะทำให้ประเทศไทยเป็นซัพพลายเชนให้กับสหรัฐ และเพื่อให้เกิดการเข้ามาลงทุนไทยก็ต้องพร้อมรับการลงทุน ต้นทุนต้องไม่สูงรวมไปถึงค่าแรงด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องของภาครัฐที่จะต้องมีนโยบายที่สามารถส่งเสริมการเข้ามาลงทุนด้วย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต เพราะยังมองว่าบางสินค้านั้นสหรัฐผลิตไม่ได้แต่ในกลุ่มประเทศอาเซียนผลิตได้
นายธนากร กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการเยียวยาให้กับผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ซึ่งจากการหารือในสมาชิก ส่วนใหญ่ตั้งรับอัตราภาษีที่จะกระทบอยู่ที่ 36% หากทีมไทยแลนด์ สามารถเจรจาในอัตราที่ดีได้ก็เป็นเรื่องดีของผู้ส่งออก แต่หากในอัตราภาษี 36% ผู้ส่งออกนั้นได้เตรียมการรับมือในเบื้องต้นกันแล้ว และปรับตัวเพื่อให้การส่งออกยังพอไปได้ แต่สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเพิ่มเติม ระหว่างการเดินหน้าเจรจาภาษี ผู้ส่งออกมองไว้ 3-4 มิติสำคัญ คือ
1.ค่าแรง ซึ่งนโยบายของรัฐบาลต้องการยกระดับค่าแรงขั้นต่ำ เรื่องนี้เห็นว่าต้องมีความระมัด ระวังให้มาก จากสภาวะปัจจุบัน ซึ่งต้องการให้รัฐบาลมีการพิจารณาเรื่องนี้ให้มีความรอบคอบอีกครั้ง เพราะการปรับค่าแรง อาจจะเป็นต้นทุนสำคัญในการแข่งขันของผู้ส่งออกในตอนนี้
2.นโยบายด้านการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ต้องการให้มีการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยให้มีความเหมาะสม ดูความจำเป็นและสถานการณ์ปัจจุบัน รวมไปถึงการทำงานร่วมกัยธนาคารพาณิชย์ เพราะอัตราดอกเบี้ยเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการทุกราย
3.การทำนิติกรรมอำพราง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทสไทย เรื่องนี้ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลอย่างจริงจัง และบังคับใช้กฎหมายให้มีความเข้มงวดให้มากขึ้น ซึ่งต้องการให้ดูและติดตามการเข้ามาประกอบกิจการในไทยให้ใกล้ชิด ดำเนินการจริงหรือไม่ เพราะหากปล่อยปะละเลย ก้อาจจะสร้างความเสียให้กับประเทศ