จับตา ‘ไบโอเทคจีน’ แนวรบใหม่ท้าชนสหรัฐ ดัชนีหุ้นกลุ่มนี้พุ่ง 60%
นอกจากปัญญาประดิษฐ์จากจีนที่ขึ้นมาท้าทายบัลลังก์สหรัฐแล้ว อีกอุตสาหกรรมอย่าง “ไบโอเทค” ของจีน ก็ผงาดขึ้นมาท้าชนอเมริกาด้วย เมื่อข้อมูลของบลูมเบิร์กแสดงให้เห็นว่า “จำนวนยาใหม่ในจีน” ทั้งยาสำหรับโรคมะเร็ง ลดน้ำหนัก และอื่น ๆ ที่เข้าสู่กระบวนการพัฒนา พุ่งสูงขึ้นเป็นกว่า 1,250 รายการเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งแซงหน้าสหภาพยุโรปไปอย่างมาก และใกล้เคียงกับจำนวนของสหรัฐ ที่มีอยู่ประมาณ 1,440 รายการ
ล่าสุด “หุ้นไบโอเทคของจีน” ได้สลัดภาวะซบเซาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งใน “กลุ่มหุ้นที่ร้อนแรงที่สุดในเอเชีย” ในปีนี้ โดยดัชนี Hang Seng Biotech ได้พุ่งขึ้นกว่า 60% ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม
“ไบโอเทคของจีน ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องราวที่กำลังเติบโตอีกต่อไปแล้ว ซึ่งแตกต่างจากเมื่อ 10 ปีก่อน ตอนนี้เป็นพลังที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเปลี่ยนนวัตกรรมยาของโลก” อี้ฉี หลิว นักวิเคราะห์การลงทุนอาวุโสจาก Exome Asset Management LLC ในนิวยอร์กกล่าว
เหตุผลสำคัญที่ทำให้หุ้นกลุ่มนี้ของจีนปรับตัวขึ้น คือ ข้อตกลงการอนุญาตให้ใช้สิทธิขนาดใหญ่ 2 ฉบับ โดยเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม บริษัทยา Pfizer แถลงว่า ได้ตกลงที่จะจ่ายเงินสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1,250 ล้านดอลลาร์ หรือราว 40,000 ล้านบาท เพื่อขออนุญาตใช้ยาต้านมะเร็งที่ยังอยู่ในขั้นตอนทดลองจากบริษัทยา “3SBio” ของจีน และจะลงทุน 100 ล้านดอลลาร์หรือราว 3,200 ล้านบาทในหุ้นของบริษัทดังกล่าวอีกด้วย
สองสัปดาห์ต่อมา บริษัทยาสหรัฐ Bristol-Myers Squibb ได้ประกาศว่า จะจ่ายเงินให้ BioNTech SE ของเยอรมนีสูงถึง 11,500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 370,000 ล้านบาท เพื่อขออนุญาตใช้ยาต้านมะเร็งที่ BioNTech ได้รับใบอนุญาตจากบริษัทยา “Biotheus” ของจีนมาตั้งแต่ปี 2023
สำหรับการก้าวกระโดดที่น่าทึ่งกว่าตัวเลขที่ปรากฏ คือ “คุณภาพของนวัตกรรมไบโอเทคของจีน” เช่น นวัตกรรมบำบัดด้วยเซลล์ของจีน ที่แสดงให้เห็นศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดที่ร้ายแรงได้ ซึ่งเดิมทีพัฒนาโดยบริษัทจีน Legend Biotech ปัจจุบันถูกวางตลาดโดยบริษัทยาอเมริกัน Johnson & Johnson โดยได้รับสถานะการพิจารณาแบบเร่งด่วนหลายครั้งระหว่างทาง และถูกพิจารณาว่าเหนือกว่าการบำบัดที่มาจากสหรัฐ ซึ่งเป็นคู่แข่ง
ก่อนหน้านั้น มียารักษามะเร็งชนิดใหม่จากบริษัทยาจีน “Akeso” ซึ่งผลการศึกษาในจีนเมื่อปีที่แล้วพบว่า มีประสิทธิภาพดีกว่ายารักษามะเร็ง Keytruda ของบริษัทMerck & Co สหรัฐ จนได้รับการเปรียบเทียบว่าเป็น “ช่วงเวลา DeepSeek” ของไบโอเทคจีน จุดความหวังที่จะก้าวแซง Keytruda ซึ่งเป็นยาที่ขายดีที่สุดในโลก และยังได้เพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทยาอเมริกัน Summit Therapeutics ซึ่งในปี 2022 ได้จ่ายเงินล่วงหน้า 500 ล้านดอลลาร์สำหรับสิทธิในการพัฒนาและทำการตลาดยาดังกล่าวในสหรัฐ และภูมิภาคอื่นๆ
นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน หุ้นบริษัทยา Akeso ปรับตัวขึ้น 101%
อีกข้อได้เปรียบสำคัญที่ผลักดันให้ไบโอเทคของจีนเติบโต คือ “ความสามารถในการวิจัยที่ถูกกว่าและเร็วกว่าในทุกขั้นตอน” ไม่ว่าจะเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ การทดลองในสัตว์ ไปจนถึงการทดลองในมนุษย์
ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา จีนได้ก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ในด้านการวิจัยทางคลินิก โดยมีการเริ่มต้นทดลองใหม่ทั่วโลกมากที่สุด ตามอ้างอิงจากบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล GlobalData
“พวกเขาสามารถก้าวกระโดดแซงหน้าคู่แข่งในประเทศอื่น ๆ ได้” แอนดี หลิว หัวหน้าแผนกจีนของ Novotech Health Holdings ซึ่งเป็นบริษัทที่ช่วยบริษัทต่าง ๆ ดำเนินการทดลองทางคลินิกกล่าว
ในปีนี้ มูลค่าหุ้นไบโอเทคจีนบางตัวได้พุ่งทะยานมหาศาล เช่น หุ้นบริษัทยา 3SBio ของจีน พุ่งขึ้นถึง 283% จนขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 ในดัชนีไบโอเทคทั่วโลก
ส่วนหุ้น“RemeGen” ซึ่งเป็นผู้พัฒนายาแอนติบอดีของจีน ก็ปรับตัวขึ้นกว่า 270% หลังจากที่เปิดเผยว่า ได้รับการติดต่อจากบริษัทยาข้ามชาติ เพื่อเจรจาข้อตกลงการอนุญาตให้ใช้สิทธิที่อาจเกิดขึ้นได้
ไม่เพียงเท่านั้น หุ้นของ “Duality Biotherapeutics” ซึ่งเป็นผู้พัฒนาการรักษามะเร็ง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า ในวันแรกของการซื้อขายที่ฮ่องกงเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา
ขณะที่หุ้น “Jiangsu Hengrui Pharmaceuticals” ซึ่งเป็นผู้ผลิตยารายใหญ่ที่สุดของประเทศตามมูลค่าตลาด ก็เห็นราคาหุ้นพุ่งขึ้น 25% ในวันเปิดตัวเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม
ในปัจจุบันหุ้น Duality Biotherapeutics เพิ่มขึ้น 189% ตั้งแต่วัน IPO ในขณะที่หุ้น Jiangsu Hengrui Pharmaceuticals เพิ่มขึ้น 31%
“บริษัทไบโอเทคของจีนกำลังมีช่วงเวลา DeepSeek ของตัวเอง” ตง เฉิน หัวหน้านักยุทธศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียของ Pictet Wealth Management ในฮ่องกงกล่าว และเสริมว่า ยังคงมีโอกาสเติบโตได้อีกมากจากจุดนี้
ทั้งนี้ แม้จำนวนยาของจีนที่ได้รับรางวัลเหล่านี้ จะยังคงตามหลังสหรัฐอยู่ แต่ช่องว่างนี้ก็กำลังแคบลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ยังคงฉุดรั้งให้การพัฒนานวัตกรรมของจีนเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือ “แนวคิดที่เน้นความระมัดระวังต่อความเสี่ยง” โดยบริษัทชั้นนำของจีนจำนวนไม่น้อย ยังให้ความสำคัญกับการปรับปรุงแนวการรักษาที่มีอยู่ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรือพัฒนาแนวคิดเดิมให้ทันสมัยและตอบโจทย์มากขึ้น
ในขณะการบุกเบิกวิธีรักษาแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งมีความเสี่ยงล้มเหลวสูง ยังคงเป็นแนวทางที่พบมากกว่าในสหรัฐ ยุโรป และในระดับหนึ่งในญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทจีนเริ่มถูกเหล่าบริษัทยายักษ์ใหญ่จากสหรัฐ สนใจเข้ามาซื้อสิทธิทางยา ในราคาสูงเป็นประวัติการณ์มากขึ้น สะท้อนสัญญาณการแข่งขันอย่างดุเดือด เพื่อแย่งชิง “ยา Blockbuster ตัวถัดไป” ซึ่งกำลังเปลี่ยนทิศทางไปยังทิศตะวันออกมากขึ้น
อ้างอิง: bloomberg, bloomberg(2)