UBS ชี้ผู้จัดการทุนสำรองทั่วโลก กังวล “เสถียรภาพดอลลาร์-อิสระเฟด” สั่นคลอน
UBS ชี้ผู้จัดการทุนสำรองทั่วโลก กังวล “เสถียรภาพดอลลาร์-อิสระเฟด” ธนาคารกลางทยอยเพิ่มทองคำ-ลดดอลลาร์ รับมือความเสี่ยงจากนโยบายเศรษฐกิจและสงครามการค้า
วันที่ 3 กรกฎาคม 2568 เวลา 12.02 น. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตามผลสำรวจของ UBS Asset Management พบว่าผู้จัดการทุนสำรองของธนาคารกลาง 2 ใน 3 กังวลว่า ความเป็นอิสระของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังถูกคุกคาม และเกือบครึ่งหนึ่งเชื่อว่าหลักนิติธรรมในสหรัฐ อาจเสื่อมถอยจนส่งผลต่อการจัดสรรสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ 35% ของธนาคารกลางเกือบ 40 แห่งที่ตอบแบบสำรวจ คาดว่าสหรัฐอาจขอให้ชาติพันธมิตรเปลี่ยนตราสารหนี้ระยะยาว เป็นตราสารทางเลือก เช่น พันธบัตรอายุยาวพิเศษแบบไม่มีคูปอง (Ultra-long, Zero-coupon Bonds)
ผลสำรวจสะท้อนความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสถานะของดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินสำรองอันดับหนึ่งของโลก และตลาดตราสารหนี้ที่ใหญ่ที่สุด หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ มีท่าทีเผชิญหน้ากับพันธมิตรเก่าแก่ในประเด็นการค้าและความมั่นคง รวมถึงการโจมตีเฟด
มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าภายใต้ชื่อ “วันปลดแอก” (Liberation Day) เมื่อวันที่ 2 เมษายน ของทรัมป์ ส่งผลกระทบต่อตลาดดอลลาร์และพันธบัตรสหรัฐ ขณะเดียวกันทรัมป์ยังเคยกดดันเฟดให้ลดดอกเบี้ย และที่ปรึกษาของเขาก็เสนอแนวทางที่ไม่เป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เพื่อลดภาระหนี้ของสหรัฐ
Max Castelli หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตลาดพันธบัตรรัฐบาลของ UBS Asset Management ระบุว่า ความกังวลดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า“วันปลดแอก” ได้เปลี่ยนมุมมองของผู้จัดการทุนสำรองต่อดอลลาร์ไปแล้ว
จากผลสำรวจ 29% ของธนาคารกลางมีแนวโน้มจะลดการถือครองสินทรัพย์สหรัฐ เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ล่าสุด อย่างไรก็ตามเมื่อมองไปข้างหน้าในช่วง 1 ปีข้างหน้า มีเพียง 25% ของธนาคารกลางที่คาดว่าจะลดการถือครองดอลลาร์ หลังจากหักกลุ่มที่ต้องการเพิ่มการถือครองแล้ว ตัวเลขนี้ถือว่าลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา
“หากถามว่าภาพรวมอำนาจของดอลลาร์จะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยหรือไม่? คำตอบคือยังไม่” Castelli กล่าว พร้อมอธิบายว่าโดยธรรมชาติแล้ว ผู้จัดการทุนสำรองจะใช้เวลานานในการโยกย้ายพอร์ต
ทั้งนี้เกือบ 80% ของผู้ตอบแบบสำรวจยังคงเชื่อว่าดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันคิดเป็น 58% ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั่วโลก จะยังคงเป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลกต่อไป
สำหรับปีข้างหน้า ทองคำ ซึ่ง UBS จัดอยู่ในหมวดสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สกุลเงิน ได้รับความนิยมสูงสุด โดย 52% ของธนาคารกลางมีแผนเพิ่มการถือครอง อีก 39% วางแผนจะเพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำในประเทศของตนเอง ซึ่งสะท้อนความกังวลของธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่เกี่ยวกับความเสี่ยงจากมาตรการคว่ำบาตร โดยเฉพาะทองคำที่เก็บไว้ในสหรัฐ
นโยบายของทรัมป์ยังจุดกระแสข้อกังวลในเยอรมนีเกี่ยวกับทุนสำรองทองคำของธนาคารกลางเยอรมนี ที่บางส่วนถูกเก็บไว้ที่ธนาคารกลางสหรัฐในนิวยอร์ก
ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้จัดการทุนสำรองประเมินว่าสกุลเงินยูโรจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดทุนโลกมากที่สุด รองลงมาคือเงินหยวนของจีน และสินทรัพย์คริปโต อย่างไรก็ตามเมื่อมองในช่วง 1 ปีข้างหน้า มีเพียงสุทธิ 6% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่วางแผนเพิ่มการถือครองยูโร ขณะที่เงินหยวนกลับขึ้นแท่นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 25% ตามด้วยเงินดอลลาร์แคนาดา ปอนด์อังกฤษ และเงินเยนญี่ปุ่น
Castelli เตือนว่า “แม้ตอนนี้จะมีมุมมองเชิงบวกต่อยุโรปมาก แต่ความคาดหวังสูงมาก หากยุโรปไม่สามารถปฏิรูปเศรษฐกิจตามเป้าได้ กระแสยุคฟื้นฟูของยุโรปอาจอยู่ได้ไม่นาน”
อ้างอิง : reuters.com