โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ต่างประเทศ

สหรัฐลุยทำข้อตกลงการค้าทั่วเอเชีย จีนรู้สึกอย่างไร?

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 1 วันที่แล้ว • เผยแพร่ 1 วันที่แล้ว

สหรัฐตะลุยทำข้อตกลงการค้าทั่วเอเชีย เริ่มตั้งแต่เวียดนาม อินโดนีเซีย ตอนนี้ได้ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นเพิ่มเข้ามา จีนจะรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้

เว็บไซต์แชนเนลนิวส์เอเชีย (ซีเอ็นเอ) รายงาน นักวิเคราะห์กล่าวว่า การเดินหน้าทำดีลของสหรัฐที่บรรดาคู่ค้าหลักต่างยื่นข้อเสนอแลกกับการลดภาษี อาจผลักดันให้รัฐบาลปักกิ่งต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง เช่น มีปฏิสัมพันธ์กับพันธมิตรที่ไม่ใช่ชาติตะวันตกให้มากขึ้น หรือเจรจากับคู่ค้าเดิมอย่างยืดหยุ่นมากกว่าเดิม

นั่นรวมถึงสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีการประชุมผู้นำจีน-อียูกันที่กรุงปักกิ่งในวันพฤหัสบดี (24 ก.ค.) ขณะที่ธุรกิจจีนในยุโรปบางรายหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดี แต่ผู้สังเกตการณ์เตือนว่า ปัญหาที่ยังตกลงกันไม่ได้ เช่น ผลผลิตอุตสาหกรรมล้นเกินและการเข้าถึงตลาดอย่างไม่เท่าเทียมกันอาจไม่คืบหน้ามากนัก

“อาจมีประเด็นเล็กๆ ที่อียูและจีนเห็นชอบร่วมกันได้บ้าง ถือเป็นโบนัสสำหรับความสัมพันธ์ทวิภาคี” ลิม ไต้เหว่ย ผู้สังเกตการณ์กิจการเอเชียตะวันออก อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยโซกะกล่าวกับซีเอ็นเอ

กระนั้น เหล่านักวิเคราะห์กล่าวว่า จีนกำลังถูกกดดันมากขึ้นทุกขณะจากความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจในเอเชียของรัฐบาลวอชิงตัน

“แรงกดดันต่อพีอาร์ซี (สาธารณรัฐประชาชนจีน) จะมาในรูปของการส่งออกจากเขตเศรษฐกิจอื่นที่แข่งขันได้มากกว่า” จง จาลัน จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ให้ความเห็น

ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่าปักกิ่งมีแนวโน้มระมัดระวังเป็นพิเศษกับข้อกำหนดในข้อตกลงการค้าของสหรัฐที่อาจส่งผลเสียไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมต่อการส่งออกของจีน เช่น ข้อตกลงสหรัฐ-เวียดนาม ซึ่งเก็บภาษีสูงมากจากสินค้าถ่ายลำ

ข้อกำหนดเรื่องสินค้าถ่ายลำของรัฐบาลทรัมป์พุ่งเป้าไปที่บริษัทจีนที่ใช้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นทางผ่านสำหรับสินค้าตนเพื่อเลี่ยงภาษีสูงของสหรัฐ

  • ศิลปะแห่งการดีล

สหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังได้ข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับประเทศทั่วเอเชีย ส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “ภาษีศุลกากรตอบโต้” ให้รางวัลผู้ปฏิบัติตามด้วยการลดภาษีและเล่นงานประเทศที่ไม่ยอมรับลูกสหรัฐ

นับถึงวันพุธ (23 ก.ค.) ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย บรรลุกข้อตกลงลดภาษีแล้ว พร้อมๆ กับการกระชับสายสัมพันธ์การค้าการลงทุนกับสหรัฐให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ทรัมป์ประกาศดีลล่าสุดกับรัฐบาลโตเกียวและมะนิลา เมื่อวันอังคาร (22 ก.ค.) แค่สัปดาห์เศษก่อนถึงเส้นตาย 1 ส.ค. ญี่ปุ่นต้องเจอภาษี 15% ลดจาก 25% พร้อมให้คำมั่นลงทุนในสหรัฐกว่า 5.5 แสนล้านดอลลาร์

ฟิลิปปินส์ต้องจ่ายภาษี 19% ต่ำกว่าของเดิม 20% เล็กน้อย ทรัมป์ประกาศดีลหลังพบกับประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ของฟิลิปปินส์ ที่ห้องทำงานรูปไข่

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่สหรัฐทำข้อตกลงการค้าได้ทั่วเอเชียตอกย้ำว่า ประเทศในภูมิภาคนี้ยังคงมองสหรัฐเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจแบบบูรณาการ

“ความกระตือรือร้นทำข้อตกลงกับรัฐบาลทรัมป์แสดงให้เห็นว่าเขตเศรษฐกิจส่วนใหญ่มองว่าสหรัฐเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้อย่างน้อยก็ในตอนนี้” จงจากเอ็นยูเอสกล่าว

ในขณะเดียวกัน การทำข้อตกลงทั่วเอเชียของสหรัฐกำลังเพิ่มแรงกดดันต่อจีน โดยเปิดข้อได้เปรียบให้คู่แข่งส่งออกในภูมิภาคเข้าถึงตลาดผู้บริโภคใหญ่ที่สุดในโลก

ข้อมูลจากศุลกากรจีนชี้ว่า จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของอินโดนีเซียและเวียดนาม การค้าสองฝ่ายระหว่างจีนกับอินโดนีเซียทะลุ 1.478 แสนล้านในปี 2024 เพิ่มขึ้น 6.1% จากปี 2023 ส่วนการค้าจีน-เวียดนามพุ่งขึ้น 14.6% เมื่อเทียบเป็นรายปีมาอยู่ที่ 2.578 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2024

นอกจากนี้จีนยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของญี่ปุ่น และเป็นแหล่งลงทุนใหญ่สุดของบริษัทญี่ปุ่น ขณะที่การค้ากับฟิลิปปินส์ยังแข็งแกร่งแม้ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้เพิ่มขึ้นทุกขณะ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า จีนจะจับตาดีลเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เน้นข้อกำหนดเรื่องสินค้าถ่ายลำ หรือการขนส่งสินค้าจีนไปยังประเทศที่ 3 เพื่อเลี่ยงภาษี

กรณีข้อตกลงสหรัฐ-เวียดนาม สินค้าที่ถูกระบุว่าเป็นสินค้าถ่ายลำจะต้องถูกเก็บภาษี 40% สองเท่าของภาษีพื้นฐาน 20% ส่งสัญญาณถึงความตั้งใจของวอชิงตันปราบปรามเส้นทางหลบเลี่ยงที่เป็นประโยชน์กับผู้ส่งออกจีนมานาน

ข้อกำหนดเหล่านี้อาจปิดกั้นเครื่องมือสำคัญที่จีนใช้รับมือกับแรงกดดันทางการค้า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสำหรับผู้ส่งออกเพิ่มขึ้นและอาจผลักดันให้ผู้ซื้อเลือกประเทศอื่นที่มีข้อตกลงทางการค้าที่ดีกว่า

ทั้งยังเพิ่มความตึงเครียดต่อเศรษฐกิจจีน ที่อุปสงค์ในประเทศซบเซา การลงทุนภาคเอกชนอ่อนแรง ผนวกกับปัญหาด้านประชากรไม่ว่าจะเป็นสังคมสูงวัยเพิ่มขึ้นทุกขณะและขาดแคลนแรงงาน

“อาจเกิดแรงกดดันต่อจีนและความไม่พอใจหากข้อตกลงนำไปปฏิบัติจริงแล้วทำลายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีน เช่น ความต้องการสินค้าจีนลดลง” หู เตียงบุน จากวิทยาลัยสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (เอ็นทียู) ให้ความเห็น

จีนคัดค้านเสียงแข็งมาตลอดถึงดีลใดๆ ที่สหรัฐทำกับคู่ค้าที่สร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์จีน

“ถ้าพิสูจน์ได้ว่าผลประโยชน์เสียหาย จีนอาจออกมาตรการคว่ำบาตรแบบมีเป้าหมาย เช่น ควบคุมการส่งออกสินค้าที่ประเทศเหล่านั้นจำป็น หรือเก็บภาษีเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับที่สหรัฐเก็บกับสินค้าจีน” นักวิชาการรายนี้กล่าวเสริม

ขณะนี้ปักกิ่งกับวอชิงตันใกล้สิ้นสุดระยะเวลาสงบศึก 90 วันตามที่ตกลงกันไว้ในเดือน พ.ค.แล้ว

เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายเตรียมพบกันที่กรุงสต็อกโฮล์มของสวีเดนในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือเรื่องการขยายเวลาสงบศึกและลดช่องว่างเพื่อนำไปสู่การทำข้อตกลงทางการค้า

เบนจามิน โฮ จากโครงการจีน วิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษาเอส ราชารัตนัม กล่าวว่า เนื่องจากเศรษฐกิจถดถอย ย่อมไม่ฉลาดหากผู้กำหนดนโยบายจีนจะใช้ท่าทีทางการทูตแข็งกร้าวกับสหรัฐ

“อาจเป็นความพยายามซื้อเวลาเพื่อสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจที่เน้นส่งออก แต่ชาติตะวันตกยังคงเป็นตลาดผู้บริโภคหลัก” โฮกล่าว

  • เปิดไพ่ในมือจีน

แท้จริงแล้วระหว่างนี้จีนน่าจะรักษายุทธศาสตร์หลากหลายด้วยการกระชับสัมพันธ์กับพันธมิตรอย่างอียู บริกส์ และอาเซียน เพื่อสร้างสมดุล

“ข้อตกลงที่หลายประเทศทำกับสหรัฐในขณะนี้อาจกระตุ้นให้จีนร่วมมือกับประเทศอื่นๆ มากขึ้น เช่น สหภาพยุโรป” จงจากเอ็นยูเอสกล่าวและว่า ขณะที่ปักกิ่งจะมองหาหุ้นส่วนใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความร่วมมือในเชิงเทคนิคและสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ จงยังเตือนถึงผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

“หากจีนไม่ส่งออกไปสหรัฐ สินค้าราคาถูกจากจีนก็อาจไปท่วมตลาดอื่น สร้างแรงกดดันให้กับธุรกิจในประเทศเหล่านั้น” จงกล่าวพร้อมเสริมว่า โดยที่ประเด็นย้อนแย้งอย่างผลผลิตล้นเกินและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญายังคงอยู่

ก่อนหน้านี้ซีเอ็นเอเคยรายงานไปแล้วว่า เครื่องยนต์ส่งออกของจีนมุ่งหมายมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

สำหรับการประชุมผู้นำอียู-จีนในวันพฤหัสบดี (23 ก.ค.) ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดถึงสัญญาณว่าปักกิ่งพร้อมยื่นขอเสนอทางการค้าหรือปรับเปลี่ยนแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาระยะยาวหรือไม่

แอนโตนิโอ คอสตา ประธานสภายุโรป และเออร์ซูลา วอน เดอร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ร่วมประชุมผู้นำในกรุงปักกิ่ง พบประธานาธิบดีสี จิ้นผิงและนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง

นักวิเคราะห์ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้อะไรออกมาในเมื่อความแตกต่างทางการค้ายังคงอยู่ ยุโรปยังคงแคลงใจเรื่องที่ปักกิ่สนับสนุนสงครามรัสเซียในยูเครน รวมถึงความท้าทายของจีนต่อกฎหมายระหว่างประเทศและสถาบันโลกในวงกว้าง

แกรี อึ้ง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จาก Natixis และนักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษาแห่งยุโรปกลาง กล่าวว่าแม้ความคาดหวังว่าจะได้ดีลอะไรในตอนนี้จะมีไม่มาก จีนอาจยืดหยุ่นในการแก้ไขประเด็นต่างๆ มากขึ้น และวางสถานะตนเองเป็น “ผู้ทำการค้าเสรี” ด้วยการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรบางอย่าง หรือให้คำมั่นในการเข้าถึงตลาด หรือผ่อนคลายภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดบางข้อก็เป็นได้

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก กรุงเทพธุรกิจ

เช็คบริษัทไทยในกัมพูชา เรียกพนักงานกลับประเทศ หลังทหาร 2 ฝ่ายประทะกัน

47 นาทีที่แล้ว

ด่วน!เปิดยุทธการ 'ตราดพิฆาตไพรี1' กัมพูชาเปิดฉากยิงขยายพื้นที่บ้านชำราก

54 นาทีที่แล้ว

กัมพูชาเรียกร้องหยุดยิงทันทีหลังปะทะนองเลือด

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ราคาทองคำร่วงลงแรง ดอลลาร์แข็งค่า จากความหวังในข้อตกลงการค้า

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความต่างประเทศอื่น ๆ

"เชิดชาย"แถลงปมเหตุปะทะไทย - กัมพูชา ต่อ UNSC

ข่าวเวิร์คพอยท์ 23

ก.กลาโหมกัมพูชา อ้างไทยยิงปืนใหญ่ 5 ลูก ใส่หมู่บ้านเช้ามืดที่ผ่านมา

ข่าวเวิร์คพอยท์ 23

กัมพูชาเรียกร้อง “หยุดยิงทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข” กับไทย

เดลินิวส์

ส.อ.ท. ชงรัฐ 5 ข้อเยียวยาพิษภาษี 6 สินค้าพับเพียบ-รับ 36% ไม่ไหว

ประชาชาติธุรกิจ

แม่ใจสลาย ลูกสาววัย 18 ไตวายระยะสุดท้าย อาหารสุขภาพ กลายเป็นดาบสองคม

sanook.com

กัมพูชาเรียกร้องหยุดยิงทันทีหลังปะทะนองเลือด

กรุงเทพธุรกิจ

ทูตเขมร วอนยูเอ็นให้ไทย หยุดยิงทันทีแบบไร้เงื่อนไข ขณะที่ไร้เสียงตอบโต้จากฝั่งไทยหรือชาติสมาชิกอื่น

News In Thailand

ไทยแจง UNSC-กัมพูชายิงก่อน ‘ภูมิธรรม’ ย้ำประณาม ‘ฮุน เซน’

ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...