Goldman Sachs เพิ่มเป้าหมายดัชนีหุ้นจีน 11% บนความหวังสหรัฐฯ เจรจาการค้ากับจีนลุล่วง
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า Goldman Sachs Group Inc. สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของโลก ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายดัชนีหุ้นจีน โดยคาดการณ์ว่ามีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีก 11% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ท่ามกลางความหวังที่เพิ่มขึ้นว่าสหรัฐฯ และจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้ ซึ่งจะช่วยขจัดความไม่แน่นอนที่กดดันตลาดมาอย่างยาวนาน
มุมมองเชิงบวกดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และจีน เริ่มต้นการประชุมเจรจาครั้งสำคัญเป็นเวลาสองวัน ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในวันนี้ (28 กรกฎาคม) โดยมีวาระสำคัญคือการขยายระยะเวลา ‘การพักรบทางภาษี’ (Tariff Detente) ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้
ทีมนักกลยุทธ์ของ Goldman Sachs นำโดย คิงเกอร์ เลา ปรับเพิ่มเป้าหมายดัชนี MSCI China ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า สู่ระดับ 90 จุด จากเดิมที่ 85 จุด ซึ่งหมายถึงโอกาสในการปรับตัวขึ้น (Upside) อีก 11% จากราคาปิดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
“จากรูปแบบการซื้อขายที่เห็นในประเทศอื่นๆ ที่ได้บรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ข้อตกลงการค้าที่อาจเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจเป็นเหตุการณ์ที่ช่วยปลดล็อกตลาดหุ้นจีนได้” นักกลยุทธ์ระบุในบทวิเคราะห์
นอกเหนือจากความหวังเรื่องข้อตกลงการค้าแล้ว ปัจจัยหนุนอื่นๆ ยังรวมถึงค่าเงินหยวนที่มีเสถียรภาพและแข็งค่าขึ้น, ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบต่อภาคเอกชนในจีนที่ลดน้อยลง และสภาพคล่องในตลาดที่ยังคงเอื้ออำนวย
ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นนี้ สะท้อนผ่านตลาดหุ้นจีนที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน โดยได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังว่าจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงที่คล้ายคลึงกับที่สหรัฐฯ ได้ทำไว้กับประเทศอื่นๆ ก่อนหน้านี้ เช่น ญี่ปุ่น
การประชุมที่สวีเดนในสัปดาห์นี้ นำโดย เหอ ลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีจีน และ สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ถือเป็นการพบปะกันครั้งที่สามในรอบไม่ถึงสามเดือน โดยมีวาระสำคัญคือการหารือถึงระยะเวลาที่จะขยายการพักรบทางภาษีออกไป
ก่อนหน้านี้ นายเบสเซนต์ได้กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า สหรัฐฯ จะใช้การประชุมครั้งนี้เพื่อหาข้อสรุปสิ่งที่ “น่าจะเป็นการขยายเวลา” ของการพักรบทางภาษีออกไป พร้อมเสริมว่า “ผมคิดว่าการค้ากับจีนกำลังอยู่ในจุดที่ดีมาก”
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการขยายเวลาพักรบแล้ว โต๊ะเจรจายังเต็มไปด้วยประเด็นที่ซับซ้อนและอ่อนไหว ซึ่งรวมถึงการที่จีนต้องการให้สหรัฐฯ ลดภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบค้ายาเฟนทานิล ซึ่งทรัมป์เคยกำหนดไว้ที่ 20% โดยอ้างว่าบริษัทจีนเป็นผู้จัดหาสารเคมีตั้งต้น
ด้านสหรัฐฯ ต้องการให้จีนผ่อนคลายการควบคุมการส่งออกแม่เหล็กแร่หายาก (Rare-Earth Magnets) ซึ่งจำเป็นต่ออุตสาหกรรม EV และยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ รวมถึงต้องการหารือประเด็นที่จีนยังคงสั่งซื้อน้ำมันจากรัสเซียและอิหร่านซึ่งถูกคว่ำบาตร
ฌอน สไตน์ ประธานสภาธุรกิจสหรัฐฯ-จีน (US-China Business Council) มองว่า ประเด็นเรื่องเฟนทานิลถือเป็นโอกาสที่ใหญ่ที่สุดในการเจรจาครั้งนี้ หากจีนแสดงความร่วมมือมากขึ้น ก็อาจเปิดทางให้สหรัฐฯ ลดภาษีในส่วนนี้ ซึ่งจะเปิดประตูให้จีนลดภาษีตอบโต้ในสินค้าเกษตร เครื่องบิน และรถยนต์ของสหรัฐฯ ต่อไปได้
ความหวังดีลการค้า สู่การประชุม Politburo ปลายเดือน
ความคืบหน้าในการเจรจาครั้งนี้อาจเป็นการปูทางไปสู่การพบปะกันระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในช่วงปลายปีนี้ โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้นำจีนได้เชิญทรัมป์และภริยาให้เดินทางเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการแล้ว
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตามองการประชุม Politburo ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงปลายเดือนนี้ เพื่อหาสัญญาณทิศทางนโยบายเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี แม้ Goldman Sachs จะมองว่ารัฐบาลจีนอาจยังไม่เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงรุกในทันที แต่คาดว่าจะมีมาตรการสนับสนุนออกมาในช่วงปลายปีนี้หากเศรษฐกิจส่งสัญญาณอ่อนแอลง
อย่างไรก็ตาม Goldman Sachs เตือนว่าการฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีนก็ยังคงมีความเสี่ยง หลังจากที่ดัชนี MSCI China ปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 25% ตั้งแต่ต้นปี โดยแนะนำให้นักลงทุนมุ่งเน้นการเลือกหุ้นเป็นรายตัว พร้อมปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มประกันภัยและวัสดุ และลดน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธนาคารและอสังหาริมทรัพย์
ภาพ:Prasit photo / Getty Images
อ้างอิง: