ไม่ใช่แค่ไทยที่สังคมกีดกันคนเก่ง คนฉลาด ‘เกาหลีใต้’ ก็เจอวิกฤตสมองไหล
เกาหลีใต้ก็เจอวิกฤตสมองไหลหนัก สังคมผลักให้คนฉลาดต้องไม่อยู่ในประเทศ
"เกาหลีใต้" จากประเทศที่เคยติดอันดับยากจนที่สุดของโลกเมื่อ 60 ปีก่อน และยังต้องทนทุกข์ทรมานกับการถูกชาติมหาอำนาจเอเชียทั้งจีนและญี่ปุ่นรุกรานและปกครองมาตั้งแต่อดีต กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 13 ของโลกด้วยขนาด GDP ถึง 1.79 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 58 ล้านล้านบาท (ไทยอันดับที่ 29 มูลค่า GDP ที่ 546,224 ล้านดอลลาร์ หรือ 17.69 ล้านล้านบาท) และยังเป็นหนึ่งประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมไฮเทค วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสื่อบันเทิงที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ซึ่งแน่นอนว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยในประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งคนไทยต่างมีความใฝ่ฝันว่าอยากไปค้าแรงงานที่เกาหลีใต้ เพราะมั่นใจว่ารายได้สูงกว่าประเทศบ้านเกิดของตัวเองอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นงายที่ไม่ต้องใช้ทักษะฝีมือ หรืองานที่ต้องการบุคคลกรคุณภาพสูง
สอดคล้องกับการที่หลายประเทศในเอเชียเพิ่มความพยายามในการดึงดูดผู้มีความสามารถระดับโลกให้เข้ามาทำงานในประเทศ โดยการลดข้อจำกัดด้านการจ้างงาน เสนอสิทธิพิเศษต่างๆ ในการขจัดอุปสรรคด้านวีซ่าและขยายโอกาสทุนการศึกษาสําหรับนักเรียนชาวต่างชาติ ผู้เชี่ยวชาญที่มีการศึกษาสูงให้ทำงานในประเทศนั้นๆ ต่อเพื่อผลักดันการแข่งขันให้สูงขึ้น ท่ามกลางการแย่งชิงตัวทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสูงในหลายประเทศทั่วโลก
แต่ปัจจุบันเกาหลีใต้กําลังสูญเสียทรัพยากรบุคคลทั้งเก่งและฉลาดที่สุดให้กับสถาบันและบริษัทต่าง ๆ ในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การได้ค่าตอบแทนที่ดีกว่า แต่รวมไปถึงสภาพแวดล้อมในการทำงาน บรรยากาศที่เอื้อต่อการทำวิจัยที่สมบูรณ์ยิ่งกว่า สภาพสังคมที่ไม่เป็นพิษ และความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพของวิชาชีพที่มีโอกาสเติบโตได้มากกว่า
ความนิยมในการเลือกไปอยู่ที่อื่นดีกว่า เกิดขึ้นมากในกลุ่มผู้ที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนําของเกาหลีใต้ รวมทั้งเหล่าบรรดาครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวัจัยระดับท็อบโดยเฉพาะจากแผนกวิจัยด้าน AI ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University) ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันตัวระดับหัวกะทิที่อยู่บนจุดสูงสุดของระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศมาอย่างยาวนาน แต่กลับมีรายงานว่าอาจารย์ชั้นแนวหน้าของสถาบัน 56 คนลาออกจากตําแหน่ง และเลือกเดินทางไปทำงานในต่างประเทศในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
ตามข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ที่เปิดเผยโดย Seo Ji-young ศาสตราจารย์ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรวม 28 คน โดยแบ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ 12 คน วิศวกร 12 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและพลศึกษา 3 คน และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์อีก 1 คน ลาออกจาสถาบันในประเทศเพื่อเดินทางไปยังทำงานให้กับสถาบันในสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน และที่อื่น ๆ โดยมีแรงจูงใจจากเงินเดือนที่สูงกว่าที่โซลถึง 4 เท่า พร้อมกับงบประมาณการวิจัยและการสนับสนุนด้านที่อยู่อาศัย
การสูญเสียคนเก่ง คนฉลาด ผู้มีความสามารถอยู่ในอัตราเร่งขึ้นอย่างรวดเร็วและเปรียบเสมือนกับโดมิโนที่กระทบกันจนล้มต่อเนื่องจากอาจารย์ที่ออกจากโรงเรียนในระดับภูมิภาคเพื่อไปทำงานในกรุงโซล และจากที่โซล ก็ถีบตัวเองออกไปทำงานยังต่างประเทศ
เงินเดือนไม่เพิ่ม ระบบชนชั้นเข้มข้น ความกดดันสูง
ข้อมูลจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาธารณะที่สําคัญ 4 แห่งของเกาหลีในภูมิภาค ได้แก่ สถาบันชั้นสูงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลี (KAIST) สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกวางจู (GIST) สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแทกูคย็องบัก (DGIST) และ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติอุลซาน (UNIST) เผยให้เห็นสถานการ์ที่คล้ายคลึงกันระหว่างปี 2021 ถึงกลางปี 2025 ว่า คณาจารย์ 119 คนลาออกจากสถาบันเหล่านี้ หลายคนย้ายไปทำงานในโซล แต่โดยส่วนมาแล้วเลือกที่ได้จะย้ายไปต่างประเทศทั้งหมดแทน
สาเหตุหลักของการไหลออกของบุคลากรที่มีความสามารถออกจากระบบ เนื่องจากมหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้ประสบปัญหาค่าเล่าเรียนที่ค้างชําระ เงินเดือนคณาจารย์ที่ไม่เพิ่มขึ้น และระบบการจ่ายเงินตามอายุงานและระดับความอาวุโสที่เข้มงวด
ในขณะที่มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนพยายามดิ้นรนเพื่อรักษาค่าตอบแทนที่แข่งขันได้ มหาวิทยาลัยชั้นนําระดับโลกกําลังดึงตัวผู้มีความสามารถชาวเกาหลีให้ไปทำงานด้วยอย่างจริงจัง เช่น ศาสตราจารย์ที่ทําเงินได้ประมาณ 100 ล้านวอน หรือราว 2.36 ล้านบาท ในกรุงโซลอาจได้รับข้อเสนอมากกว่า 330,000 ดอลลาร์ หรือสูงถึง 10 ล้านบาทในต่างประเทศ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ค้นคว้าวิจัยด้าน AI ที่ต้องการไม่เปิดเผยชื่อบอกกับสื่อของเกาหลีใต้อย่าง The Korea Herald ว่าด้วยช่องว่างเงินเดือนมากกว่า 4 เท่า เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์ของการทําวิจัยด้วยทรัพยากรมากมายและได้รับการสนับสนุนด้านที่อยู่อาศัย ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะปฏิเสธข้อเสนอที่ดีกว่า
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าช่องว่างค่าตอบแทนที่กว้างขึ้นระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศและต่างประเทศส่วนใหญ่เกิดจากรายได้และงบประมาณที่ถดถอยลงในกลุ่มสถาบันระดับอุดมศึกษาของเกาหลีใต้
ในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ระงับเงินสนับสนุนด้านการศึกษาทั้งทุนการศึกษาระดับชาติบางประเภทจากมหาวิทยาลัยที่พยายามเพิ่มทุนการศึกษา อีกทั้งการไม่สามารถปรับอัตราค่าเล่าเรียนที่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อได้ ทําให้มหาวิทยาลัยอยู่ภายใต้ความตึงเครียดทางการเงิน
จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการพบว่า เงินเดือนเฉลี่ยของอาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนเพิ่มขึ้นเพียง 0.8% ในช่วง 5 ปี จาก 100.6 ล้านวอน หรือราว 2.3 ล้านบาทในปี 2019 เป็น 101.4 ล้านวอนในปี 2024 ตัวเลขเหล่านี้ขึ้นอยู่กับตําแหน่งศาสตราจารย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ซึ่งรายได้ก็จะลดหลั่นลงมาตามคุณวุฒิ
ยิ่งในระดับมหาวิทยาลัยภูมิภาค ยิ่งเผชิญกับสภาวะสมองไหลที่เลวร้ายยิ่งกว่า ซึ่งรายงานที่ส่งไปยังรัฐสภาโดยตัวแทน Seo Ji-young แสดงให้เห็นว่าไม่รวมมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล มหาวิทยาลัยแห่งชาติที่สําคัญ 9 แห่งทั่วประเทศสูญเสียอาจารย์ทั้งหมดแล้ว 323 คนระหว่างปี 2021 ถึงพฤษภาคม 2025
ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ของเกาหลีลาออกไปต่างประเทศเพียบ
ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้มีความสามารถด้าน AI ของเกาหลีใต้ก็กําลังหายากมากขึ้นเช่นกัน ตามโครงการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของหอการค้าและอุตสาหกรรมเกาหลีระบุว่า ประเทศนี้อยู่ในอันดับที่ 35 จาก 38 กลุ่มประเทศ OECD ในการรักษาผู้มีความสามารถด้าน AI ในปี 2024 โดยเปรียบเทียบว่าในประชากร 10,000 คน จะมีผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่ 0.36 คนลาออกจากงานในเกาหลีใต้ โดยเลือกที่จะไปทำงานที่ลักเซมเบิร์กและเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้นําเข้าสุทธิของบุคลากรที่มีความสามารถดังกล่าวจากทั่วโลก
ผู้นําอุตสาหกรรมและนักวิชาการชี้ให้เห็นถึงการขาดโอกาสในการพัฒนาอาชีพ โครงสร้างพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ที่ไม่เพียงพอ และการพึ่งพาการประเมินประสิทธิภาพเฉพาะหน้ามากเกินไปกำลังทำลายขีดความสามารถในการแข่งขันด้าน AI ของเกาหลีใต้
การสํารวจระบุว่าเงินเดือนยังคงเป็นเหตุผลอันดับต้น ๆ ในการเลือกงาน โดย 85% ของนักวิจัย AI ระบุว่าเป็นความกังวลหลักของพวกเขา และในขณะที่ผู้เรียนจบปริญญาเอกของสหรัฐฯ ในสาขา AI สามารถคาดหวังเงินเดือนเริ่มต้นได้มากกว่า 114,000 ดอลลาร์ หรือราว 3.6 ล้านบาท และอาจเพิ่มขึ้นไปมากกว่า 139,000 ดอลลาร์ หรือราว 4.5 ล้านบาท สําหรับวิชาเอกสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ขณะที่เงินเดือนเฉลี่ยของนักวิจัยระดับปริญญาเอกชาวเกาหลีในภาคเอกชนอยู่เพียงแค่ 41 ล้านวอน หรือ 971,400 เพียงเท่านั้น ซึ่งยังไม่ถึง 1 ใน 4 ของรายได้ในสาขาอาชีพเดียวกันในต่างประเทศ
เป็นคนเก่ง คนฉลาด อย่าดักดานอยู่ในเกาหลีใต้
นักวิจัย AI กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้บอกกับ The Korea Herald ว่าเนื่องจากมีกลุ่มผู้มีความสามารถสูงในห้องปฏิบัติการที่สถาบันต่าง ๆ ในต่างประเทศ มักเป็นผู้สําเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติ ฉะนั้นรับประกันทักษะภาษาอังกฤษและความเชี่ยวชาญ ผู้คนจึงชอบไปศึกษาต่อต่างประเทศเมื่อมีโอกาส
ภาวะสมองไหลเป็นสิ่งที่รัฐบาลเกาหลีใต้ตระหนักถึงความเลวร้ายที่ประเทศกําลังเผชิญ โดยประธานาธิบดี “อี แจ มย็อง” สั่งให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ “คิม มินซอก” ระหว่างการประชุมเพื่อหามาตรการรักษาผู้มีความสามารถชั้นนําในสาขาต่างๆ เช่น AI และเทคโนโลยีชีวภาพให้ยังคงอยากทำงานในประเทศ ตอบสนองต่อการสมองไหลออกของผู้มีความสามารถอย่างรวดเร็ว
ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนกลยุทธ์ระดับชาติจากการป้องกันสภาวะสมองไหลไปสู่การส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศไม่เพียงพอให้เหมาะสม ซึ่งไม่เพียงแค่รักษาผู้มีความสามารถในประเทศไว้เท่านั้น แต่ยังดึงดูดผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติและสนับสนุนให้ชาวเกาหลีที่ไปทำงานในองค์กรต่างประเทศให้กลับมาด้วย
คําแนะนํานี้รวมถึงการให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม การเสนอโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยที่แข่งขันได้ทั่วโลก และการขยายโครงการวิจัยร่วมกันระหว่างประเทศ
"ท้ายที่สุดแล้ว คําถามไม่ใช่ว่าเกาหลีใต้สามารถผลิตผู้มีความสามารถได้หรือไม่ แต่ประเทศสามารถพัฒนาระบบได้เร็วพอที่จะป้องกันไม่ให้ผู้มีความสามารถนั้นแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าได้หรือไม่ต่างหาก และถ้าหากไม่มีค่าตอบแทนที่เหมาะสมและโอกาสในการเติบโตในฐานะผู้เชี่ยวชาญ คนฉลาดๆ คนเก่ง คนมากความสามารถที่จะเป็นคลังสมองในการขับเคลื่อนประเทศให้ศักยภาพสูงขึ้นไปอีกก็จะไหลออกจากประเทศไม่หยุดนั่นเอง"
ที่มา The Korea Herald