‘ความไม่เชื่อมั่น’ กำลังกัดกินความรู้สึกคนไทย
มองความรู้สึกคนไทยต่อประเทศไทย ผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค
ไหน ๆ ก็ผ่านมาแล้วครึ่งปี และตอนนี้กำลังเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง 2568 มีคำถามชวนสงสัย ที่อาจใช้แค่อารมณ์ตัดสินไม่ได้ต้องเอาข้อมูลมายืนยัน ครึ่งปีแรกที่ผ่านมาคนไทยเชื่อมั่นในประเทศตนเองมากขึ้น หรือน้อยลงแค่ไหน ? บทความนี้จะพาไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ในภาพรวมจากผลสำรวจล่าสุดของเดือนมิถุนายน คนไทยมีความเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ การงาน และการเงินในทิศทางดังต่อไปนี้
ความเชื่อมั่นของประชนต่อเศรษฐกิจไทย : ส่วนใหญ่มองว่าแย่
ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการหางานทำตอนนี้ : ส่วนใหญ่เชื่อว่าแย่
ความเชื่อมั่นต่อการหางานทำใน 6 เดือนข้างหน้า : ส่วนใหญ่เชื่อว่าปานกลาง ๆ ไม่แย่ ไม่ดี
ความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคต : ส่วนใหญ่มองว่าคงเหมือนเดิม ได้เท่า ๆ เดิม
จากภาพรวมผลสำรวจอาจให้ความรู้สึกว่าคนไทยกำลังอยู่ในทิศทางไปทางแย่ ๆ กลาง ๆ อึน ๆ แล้วเรื่องนี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ว่าอย่างไรบ้าง ?
ความเชื่อมั่นของคนต่อเศรษฐกิจไทยต่ำสุดในรอบ 29 เดือน
ถ้าเราลงลึกไปที่ตัวเลขดัชนีจะพบว่าค่าที่วัดได้ล่าสุดเป็นค่าที่ต่ำสุดในรอบ 29 เดือนตั้งแต่เมื่อกุมภาพันธ์ ปี 66 ซึ่งถ้าดูย้อนหลังรายเดือน ค่าที่วัดได้ของเดือนมิถุนายนเป็นการปรับตัวลงมาต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 (ลูกศรหัวตก) ซึ่งก็สะท้อนว่าผู้บริโภคคนไทยขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยแย่ และทุกคนต่างรู้สึกว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้นมากนัก
ซึ่งความเชื่อมั่นที่ต่ำต่อเศรษฐกิจก็สะท้อนถึงการหางานเช่นกัน เพราะจากผลที่ปรากฎก็สะท้อนว่าคนไทยขาดความเชื่อมั่นต่อการจ้างงาน เห็นว่าการหางานทำยังไม่ดีนัก หางานยากไม่ว่าจะตอนนี้หรือจะ 6 เดือนข้างหน้าก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงตามสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ไม่สู้ดี
เศรษฐกิจไทยก็ไม่มั่นใจ เศรษฐกิจโลกยิ่งแล้วใหญ่เพราะผลกระทบจากสงครามและกำแพงภาษี จะหางานทำก็ไม่เชื่อมั่นว่าจะหาได้ง่าย ๆ เพราะการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวช้า เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้คนไทยจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างมากในช่วง 3 เดือนข้างหน้า
ครึ่งปีหลังต่อจากนี้ก็ยังเต็มไปด้วยความอึมครึม
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นดัชนีที่สำรวจคนไทยทั้งประเทศ กระจาย ๆ กลุ่มตัวอย่างในทุกจังหวัด ซึ่งดัชนีนี้เป็นดัชนีที่วัดกับ ‘ความรู้สึก’ ของผู้คน
ความรู้สึกของผู้คนได้รับผลกระทบได้ง่ายและรวดเร็วในยุคสมัยนี้ จากทั้งเหตุการณ์ในประเทศ เช่น ความกังวลของผู้คนต่อสถานการณ์การเมือง สถานการณ์ค่าครองชีพที่สูง สถานการณ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ท่าทีของรัฐบาลในการรับมือปัญหาต่าง ๆ ฯลฯ และจากสถานการณ์ความตึงเครียดของโลก เช่น กำแพงภาษีของทรัมป์ และสงครามที่ระอุอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก
ความรู้สึกผู้คนที่ได้รับผลกระทบนี้ย่อมฝังลึกยาวนาน และฟื้นคืนความเชื่อมั่นช้า เชื่อได้ว่าครึ่งปีหลัง 2568 จะเป็นอีกหนึ่งปีที่คนไทยจะต้องอยู่ไปกับความอึมครึมนี้ไปอีกซักพัก ไว้จบปีแล้วดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคตอนนั้นเป็นอย่างไร คนไทยรู้สึกอย่างไร Reporter Journey จะมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง