เจ้าของกินข้าว 50 บาท แต่หมา/แมว กินข้าว 500 บาท ปี69 มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงอาจทะลุ 100,000 ล้านบาท!
มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงโตไม่หยุด ปี 68 อาจมีมูลค่าสูงถึง 92,000 ล้านบาท
ตลาดรถยนต์ชะลอ ตลาดที่อยู่อาศัยหดตัว ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเปิดช้าปิดไว
ไม่ว่าจะตลาดอะไร ๆ ในไทยก็แนวโน้มอยู่ในช่วงขาลง แต่ไม่ใช่สำหรับตลาดสัตว์เลี้ยง
เพราะในปี 2568 นี้มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดสัตวเลี้ยงในไทยอาจขยายตัวอีกถึง 13.2%
ttb analytics ออกบทวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงไทยปี 2568 อาจมีมูลค่าถึง 92,000 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 13.2% จากปี 2567 และในปี 2569 มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงนี้อาจทะลุ 100,000 ล้านบาท ! สะท้อนว่าตลาดที่ว่าโตก็ยังโตได้อีก ใครว่าเทรนด์เลี้ยงสัตว์ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ต้องมองใหม่ได้แล้ว เพราะสัตว์เลี้ยงตัวหนึ่งตอนนี้เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของครอบครัวหลาย ๆ บ้านไปแล้ว ผู้ประกอบการที่จับทางจับเทรนด์นี้ได้ย่อมได้เปรียบ
คำสองคำที่นิยามคนกลุ่มนี้ที่ผู้ประกอบต้องรู้คือ กลุ่มคนที่ ‘ดูแลสัตว์เลี้ยงเหมือนคนในครอบครัว’ (Pet Humannization) และบรรดากลุ่มที่เป็น ‘ทาสหมา-แมว’ (Petriarchy) เชื่อว่าคนไทยอาจจะคุ้นเคยคำไทยคำหลังมากกว่า คือคนสองกลุ่มนี้จะทั้งดูแลสัตว์เลี้ยงเหมือนคนในครอบครัวและเปย์ของต่าง ๆ เพื่อสัตว์เลี้ยงอย่างเต็มที่ เพื่อสนองความสุขของตัวเอง และดีไม่ดี สัตว์เลี้ยงที่เปย์อย่างเต็มที่อาจกลับกลายมาสร้างรายได้ให้เจ้าของได้อีก เช่น จุ้มเหม่งและนพโปะ ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า Pet Celebrity
Pet Celebrity เกิดจาการที่สัตว์เลี้ยงของเรามีลักษณะเฉพาะตัวบางประการที่ดึงดูดความสนใจของคนหมู่มากบนสื่อสังคมออนไลน์ มีฐานแฟนคลับมาติดตามเป็นจำนวนมากจนอาจทำให้สัตว์เลี้ยงตัวนั้นสามารถสร้างรายได้ให้กับเจ้าของไม่ว่าจะจากงานโฆษณา งานโชว์ตัว หรือจากการมีสินค้ามาแอบเป็นสปอนเซอร์แบบเนียน ๆ (อ่านมาถึงตรงนี้ถ้าหมาหรือแมวคุณน่ารัก อย่าลืมหยิบโทรศัพท์มาถ่าย content น้องไว้นะ)
กลับมาที่เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ttb analytics คาดการณ์ว่าปัจจุบันค่าเลี้ยงดูเฉลี่ยสัตว์เลี้ยงเสมือนคนในครอบครัวอยู่ที่ราว 50,500 บาท ต่อตัว/ต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 22.9% (ปี67 คนไทยจ่ายเงินเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเหมือนคนในครอบครัว 40,100 บาท ต่อตัว/ต่อปี)
ซึ่งตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ห่างมาก ๆ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่เลี้ยงสัตว์แบบตามมีตามเกิด
กลุ่มที่เลี้ยงสัตว์แบบตามมีตามเกิด ใช้จ่าย 7,910 บาท ต่อตัว/ต่อปี
แต่ถ้าเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเหมือนคนในครอบครัว มีค่าใช้จ่าย 50,500 บาท ต่อตัว/ต่อปี
ความต่างของเงินที่ใช้ห่างกันมากถึง 6.3 เท่าตัว
แล้วสำหรับคนกลุ่มเขานี้จับจ่ายไปที่สินค้าและบริการประเภทไหนบ้าง ttb analytics นำข้อมูลมาเปิดเผยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1 กลุ่มอาหารสัตว์และบริการรักษาสัตว์
ตรงไปตรงมา กลุ่มนี้ได้รับอานิสงส์จากเทรนด์การเปย์สัตว์เลี้ยงไปเต็ม ๆ เจ้าของให้ความสำคัญกับโภชานาการที่เหมาะสมของสัตว์เลี้ยงมากขึ้นจากการที่อยากให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพที่ดีในระยะยาว โดยกลุ่มผู้เลี้ยงมักใช้อาหารเกรดพรีเมียมราคาสูง เช่น อาหารเปียก อาหารที่ไม่ผ่านความร้อน (Barf) ที่ราคาสูง
ส่งผลให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงปี 2568 ขยายตัวมีมูลค่าแตะ 6.24 หมื่นล้านบาท โตขึ้นจากปีก่อน 16.5% บนค่าเฉลี่ยการเติบโตของมูลค่าย้อนหลัง 6 ปีที่ 20.5% (หมายความว่า 6 ปีผ่านมาโตเฉลี่ยปีละ 20.5% ตัวเลขนี้ไม่ธรรมดา) ด้านมูลค่าการรักษาสัตว์ก็เติบโตที่ค่าเฉลี่ย 17.9% ตลอด 6 ปี โดยปี 2568 อาจมีมูลค่าถึง 6.99 พันล้านบาท
2 กลุ่มอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง
มูลค่าตลาดอุปกรณ์และของเล่นเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง อาจมีแนวโน้มการเติบโตที่ต่ำกว่ากลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยงอื่นโดยเติบโตราว 6% ที่มูลค่าราว 2.13 หมื่นล้านบาท (เนื่องจากเป็นสินค้าคงทน) แต่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริการดูแลสัตว์เลี้ยงกลับเป็นที่นิยมและได้รับแรงหนุนโดยตรง ส่งผลให้ตลาดโตแตะ 1.04 พันล้านบาท บนค่าเฉลี่ยการเติบโตย้อนหลัง 6 ปีที่สูงถึง 20.0% และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง
อย่างที่บอกไปในช่วงแรกของบทความ ใครว่าเทรนด์เลี้ยงสัตว์ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ต้องมองใหม่ได้แล้ว เพราะมูลค่าตลาดมีแต่จะโตเอา ๆ ต่อให้เศรษฐกิจไม่สู้ดี แต่เจ้าของสัตว์เลี้ยงก็สู้เสมอเพื่อให้ลูก ๆ ของตัวเองอยู่ดีกินดี มีความสุข จริง ๆ สัตว์เลี้ยงเหล่านี้นี่แหละคือเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้เจ้าของก้มหน้าก้มตาทำงานเพื่อหาเลี้ยงน้องหมาน้องแมวอันเป็นที่รักของบ้าน
ที่มา ttb analytics