โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ผู้ว่าธปท.สำคัญอย่างไร? ย้อนผลงาน 5ผู้ว่าแบงก์ชาติ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย

Amarin TV

เผยแพร่ 12 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ผู้ว่าธปท. สำคัญอย่างไร? ย้อนผลงาน 5 ผู้ว่าแบงก์ชาติ ฝ่าวิกฤตการเมือง-เศรษฐกิจไทย

ในที่สุดเมื่อวานนี้ (22 กรกฎาคม 2568) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ชื่อผู้ว่าการคนที่ 25 อย่างเป็นทางการ ได้แก่ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ แทน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในสิ้นเดือนกันยายน 2568

การเข้ารับตำแหน่งของนายวิทัยเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ถือว่าท้าทายอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจและการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากผลกระทบของโควิด-19 ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เรื้อรัง การเผชิญแรงกดดันจากนโยบายภาษีตอบโต้ของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งอาจบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของไทยหากไม่สามารถรักษาระดับดอกเบี้ยให้เทียบเคียงกับประเทศคู่แข่งได้ ไปจนถึงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงปัญหาทางการเมืองภายในประเทศที่ยังขาดเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง

ในบริบทนี้ บทบาทของผู้ว่าการธปท. จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน การดำเนินนโยบายการเงินอย่างรอบคอบ และการสื่อสารกับตลาดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง

แม้หลายคนจะตระหนักดีว่าผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็ยังมีคำถามว่า หน้าที่โดยตรงของผู้ว่าการธปท. คืออะไร และมีอำนาจอย่างไรในการดูแลเสถียรภาพทางการเงินของชาติ

บทความนี้ SPOTLIGHT จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับบทบาท อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ว่าการธปท. พร้อมย้อนดูแนวทางและผลงานของอดีตผู้ว่าฯ 5 คนที่เคยนำพาประเทศผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก เพื่อทำความเข้าใจว่าบทบาทนี้สำคัญเพียงใดในยามที่เศรษฐกิจเผชิญมรสุมหลายด้านพร้อมกัน

ผู้ว่า ธปท. เสาหลักนโยบายการเงิน ผู้ชี้ชะตาเศรษฐกิจไทย

ในโลกสมัยใหม่ที่เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ว่าการธนาคารกลางไม่ได้เป็นเพียงเจ้าหน้าที่การเงินระดับสูง หากแต่เป็น "ผู้คุมสมดุลแห่งชาติ" ที่มีบทบาทเทียบเคียงรัฐมนตรีคลังหรือพาณิชย์ ด้วยอำนาจในการชี้นำทิศทางการเงิน ดอกเบี้ย เงินเฟ้อ ค่าเงินบาท ความเชื่อมั่นของตลาด และความมั่นคงของสถาบันการเงินทั้งหมด ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทลึกซึ้งต่อเศรษฐกิจของชาติ และส่งผลกระทบถึงระดับครัวเรือน ธุรกิจ และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ภายใต้พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ตำแหน่งผู้ว่าการฯ ดำรงวาระ 5 ปี และต่อเนื่องได้ไม่เกิน 2 วาระ โดยมีขั้นตอนการแต่งตั้งตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เริ่มจากการเสนอชื่อจากคณะกรรมการคัดเลือกที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้ง แล้วเสนอรายชื่อไม่น้อยกว่า 2 คนต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา จากนั้นจึงเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก่อนนำความขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ความรอบคอบในทุกขั้นตอนเป็นไปเพื่อให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสูงสุด เพราะตำแหน่งนี้เป็นหัวใจของนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของตลาดทั้งในและต่างประเทศโดยตรง

ในด้านอำนาจหน้าที่ บทบาทของผู้ว่าการฯ ไม่ได้จำกัดแค่การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างที่คนคุ้นเคยกัน แต่ครอบคลุมความมั่นคงของระบบการเงินทั้งระบบ โดยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสำคัญ 3 คณะ ได้แก่

  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ผู้กำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยและเป้าหมายเงินเฟ้อ
  • คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ดูแลเสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์
  • คณะกรรมการระบบการชำระเงิน มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายเกี่ยวกับระบบการชำระเงินที่ ธปท. กำกับดูแล และระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงิน

ภายใต้หน้าที่หลากหลายดังกล่าว ผู้ว่าการฯ จึงมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการวางทิศทางเชิงกลยุทธ์และเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายต่อเนื่องในหลายมิติ โดยผู้ว่าการฯ ต้องควบคุมและบริหารงานของ ธปท. ใน 9 ภารกิจหลัก ได้แก่ ออกและจัดการธนบัตร, กำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน, บริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท., เป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล, เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน, จัดตั้งและกำกับระบบการชำระเงิน, กำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน, บริหารอัตราแลกเปลี่ยนและทุนสำรองระหว่างประเทศ และควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (FX control)

โดยเฉพาะ “การกำหนดนโยบายการเงิน” ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุด ธปท. ต้องทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ปัจจุบันประเทศไทยใช้ระบบ Inflation Targeting โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมทุก 7-10 สัปดาห์ ปีละประมาณ 6 ครั้ง เพื่อตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง

อำนาจหน้าที่เหล่านี้ทำให้แม้ตามโครงสร้าง ผู้ว่าการฯ จะอยู่ใต้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเชิงตำแหน่ง แต่ในทางปฏิบัติกลับต้อง “เจรจา-โน้มน้าว-ถ่วงดุล” กับฝ่ายการเมืองตลอดเวลา ดังที่ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการฯ กล่าวไว้ว่า “การเกลี้ยกล่อมรัฐมนตรีให้ดำเนินนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่งที่ธนาคารเห็นสมควร เป็นเรื่องที่สำคัญมาก… หากนโยบายการเงินและการคลังไม่ประสานกัน ราชการแผ่นดินจะเดินต่อไปอย่างราบรื่นไม่ได้”

ในบริบทนี้ ผู้ว่าการธปท. จึงต้องมีทั้งความกล้าหาญในการยืนหยัดทางวิชาการ และศิลปะในการประสานประโยชน์ระหว่างธนาคารกลางกับรัฐบาล เช่น หากรัฐใช้นโยบายขาดดุลกระตุ้นเศรษฐกิจจนเกิดเงินเฟ้อ ธปท. ก็จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบหดตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน ธุรกิจ และตลาดการเงิน

นอกจากนี้ ยังต้องได้รับความไว้วางใจจากทั้งระบบ ทั้งสถาบันการเงิน ผู้กำหนดนโยบาย นักลงทุน และประชาชนทั่วไป เพราะเพราะหากผู้ว่าการฯ ขาดความไว้วางใจ อำนาจนโยบายทั้งหมดของ ธปท. จะไร้น้ำหนักทันที

ย้อนดูแนวทาง 5 อดีตผู้ว่าธปท. พาไทยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ-การเมือง

เพื่อให้เข้าใจบทบาทของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างลึกซึ้งและจับต้องได้มากขึ้น SPOTLIGHT ขอพาทุกคนย้อนเวลาไปดูภารกิจของอดีตผู้ว่าฯ ทั้ง 5 คน ที่ต้องรับมือกับสถานการณ์ไม่ธรรมดา พาประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญในแต่ละยุค

  • ผู้ว่าการฯ ธปท. คนที่ 10: ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (11 มิ.ย. 2502 - 15 ส.ค. 2514)

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดถึง 12 ปีเต็ม นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในช่วงปี 2502 ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจไทยให้ก้าวสู่ความทันสมัยและมีระบบระเบียบมากขึ้น อีกทั้งยังอยู่ในช่วงสงครามเย็น ซึ่งประเทศเล็กๆ อย่างไทยต้องเผชิญแรงกดดันทั้งจากมหาอำนาจตะวันตกและตะวันออก ขณะที่ภายในประเทศก็อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารและการเมืองที่เข้มข้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่การปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2502–2506) และจอมพลถนอม กิตติขจร (2506–2514) ซึ่งต่างก็ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารประเทศ

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถือเป็นบุคคลต้นแบบที่มีบทบาททางเศรษฐกิจของประเทศอย่างรอบด้าน และเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่สามารถผสานการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังเข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพในทางปฏิบัติ เพราะในช่วงเริ่มต้นของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ ธปท. ดร.ป๋วยยังควบตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ซึ่งเพิ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี 2502 ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ควบคู่กับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ทำให้ดร.ป๋วยกลายเป็นศูนย์รวมของกลไกนโยบายการเงินและการคลังในช่วงเวลาสำคัญของประเทศที่เริ่มปฏิรูประบบเศรษฐกิจ

นอกเหนือจากภารกิจด้านนโยบาย ท่านยังมีบทบาททางวิชาการในฐานะคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันผลิตบุคลากรเศรษฐกิจรุ่นใหม่ของประเทศ ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และที่ปรึกษากระทรวงการคลัง เป็นทั้งนักนโยบาย นักบริหาร และนักวิชาการในคนเดียวกันอย่างแท้จริง ซึ่งหาได้ยากยิ่งในระบบราชการไทยยุคนั้น

ตลอด 12 ปีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.ป๋วยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการวางรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศในหลายมิติ ทั้งในด้านนโยบายการเงิน การคลัง และการพัฒนาโครงสร้างสถาบัน โดยเฉพาะในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 และ 2 ที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุคของการพัฒนาอย่างเป็นระบบ

ดร.ป๋วย มีบทบาทโดยตรงในการร่างกฎหมายที่เป็นหลักให้กับระบบการเงินของไทย ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 การกำหนดค่าเสมอภาคของเงินบาทให้สอดคล้องกับมาตรฐานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และการผลักดันให้มีการศึกษาเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา นอกจากนี้ ท่านยังเป็นกำลังสำคัญในการก่อตั้งหน่วยงานเศรษฐกิจระดับนโยบายหลายแห่ง เช่น สำนักงบประมาณ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สภาพัฒน์ และ BOI ซึ่งกลายเป็นกลไกหลักของรัฐในการบริหารเศรษฐกิจมาจนถึงปัจจุบัน

ในด้านแนวคิดทางสังคม ดร.ป๋วยมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ ท่านเป็นผู้นำเสนอและผลักดันโครงการเร่งรัดพัฒนาชนบท รวมถึงโครงการด้านการศึกษาหลายโครงการ ที่สะท้อนความเชื่อของท่านว่าการพัฒนาเศรษฐกิจต้องควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่ใช่แค่การเติบโตของตัวเลขทางเศรษฐกิจเท่านั้น

สำหรับบทบาทภายในธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ท่านก็ได้ริเริ่มและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลายประการ ทั้งการเปิดสาขาของ ธปท. ในต่างจังหวัดเป็นครั้งแรกที่หาดใหญ่ ขอนแก่น และลำปาง การเริ่มต้นพิมพ์ธนบัตรภายในประเทศแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงการสร้างระบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการส่งนักเรียนทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลายเป็นรากฐานของบุคลากรสายเศรษฐกิจในระบบราชการไทยรุ่นต่อมา

ในระดับระหว่างประเทศ ธปท. ภายใต้การนำของ ดร.ป๋วย ยังมีบทบาทโดดเด่นและได้รับการยอมรับจากนานาชาติอย่างกว้างขวาง หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นคือการผลักดันให้เกิดการจัดตั้ง SEACEN Centre ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมของกลุ่มธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านนโยบายการเงินอย่างยั่งยืน

เมื่อมองย้อนกลับไป บทบาทของ ดร.ป๋วย ในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้เป็นเพียงผู้บริหารธนาคารกลาง แต่คือผู้ออกแบบระบบเศรษฐกิจของชาติในยุคเปลี่ยนผ่าน เป็นผู้ที่มองการณ์ไกล กล้าตัดสินใจ และยืนหยัดในหลักคิดเรื่อง “ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ” ท่ามกลางบริบทการเมืองที่ไม่แน่นอน ผลงานของท่านจึงยังถูกกล่าวถึงและเป็นต้นแบบของเทคโนแครตไทยมาจนถึงทุกวันนี้

  • ผู้ว่าการฯ ธปท. คนที่ 15-16: ดร. ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ (31 ก.ค. 2540 - 4 พ.ค. 2541) และ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล (7 พ.ค. 2541 - 30 พ.ค. 2544)

วิกฤตการณ์การเงินในปี 2540 หรือ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" เป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนโฉมระบบเศรษฐกิจไทยอย่างสิ้นเชิง ทั้งค่าเงินที่ทรุดฮวบ การล้มละลายของสถาบันการเงิน และภาวะถดถอยที่รุนแรง ผู้ที่ต้องรับภาระหนักที่สุดในการประคับประคองระบบการเงินในช่วงเวลานั้นคือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สองคนที่รับไม้ต่อกันในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ได้แก่ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ (ก.ค. 2540 - พ.ค. 2541) และ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล (พ.ค. 2541 - พ.ค. 2544)

ในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 15 ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ เข้ารับตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม 2540 ท่ามกลางวิกฤตต้มยำกุ้งที่ลุกลามอย่างหนัก ส่งผลให้ระบบสถาบันการเงินไทยล่มสลาย และกระเทือนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชีย แม้จะดำรงตำแหน่งเพียง 9 เดือน แต่บทบาทของเขาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อดังกล่าวถือว่าสำคัญอย่างยิ่งในการวางรากฐานเพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นทางการเงินของประเทศ ภายใต้แรงกดดันจากมาตรการเข้มงวดของ IMF

ดร.ชัยวัฒน์วิเคราะห์ว่า ต้นตอของวิกฤตปี 2540 มาจากนโยบายเปิดเสรีทางการเงินอย่างสุดโต่งในช่วงปี 2535–2536 ที่อนุญาตให้สถาบันการเงินไทยสามารถกู้เงินดอลลาร์จากต่างประเทศมาปล่อยกู้ในประเทศผ่านสำนักงานวิเทศธนกิจ (BIBF) และ Investment Bank โดยมีเจตนาดีเพื่อให้ภาคธุรกิจเข้าถึงทุนได้ง่าย แต่กลับกลายเป็นการเร่งการเติบโตแบบไร้คุณภาพ เกิดการขยายสินเชื่อเกินตัว สร้างฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และบั่นทอนความระมัดระวังของภาคเอกชน เพราะเชื่อมั่นในความมั่นคงของค่าเงินบาทมากเกินไป

เมื่อฟองสบู่แตกในปี 2540 ราคาที่ดินก็ร่วงแรง กระทบต่อหลักประกันของสถาบันการเงิน บริษัทเงินทุนล้มทั้งระบบ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งสั่นคลอน นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่น เงินทุนไหลออก กดดันค่าเงินบาทอย่างหนัก ทำให้แบงก์ชาติต้องรับมือทั้งเศรษฐกิจที่ทรุดตัวและสถาบันการเงินที่อ่อนแอ เกิดเป็น ‘วงจรอุบาทว์’ ซึ่งหมายถึงสภาวะที่เศรษฐกิจแย่ แบงก์อ่อนแอ สินเชื่อหด ความเชื่อมั่นถดถอย จนลามเป็นวิกฤติระดับภูมิภาคในเอเชีย

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ภารกิจสำคัญอันดับแรกของดร.ชัยวัฒน์ คือการฟื้นเสถียรภาพของระบบการเงินที่ถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง ด้วยกลยุทธ์ “แยก Good Bank - Bad Bank” เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบ โดย Good Bank ที่ยังทำหน้าที่ได้ก็ให้ดำเนินงานต่อเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ส่วน Bad Bank ที่เสื่อมสภาพก็ยุติบทบาท หรือถ้ายังสามารถฟื้นฟูได้ ธปท. ก็จะเข้าไปแทรกแซงธนาคารพาณิชย์ที่อ่อนแอ ด้วยการเปลี่ยนทีมผู้บริหาร การปรับปรุงระบบใหม่ และให้แบงก์พาณิชย์เพิ่มทุน รวมทั้งแก้ปัญหาสภาพคล่องของสถาบันการเงิน โดยการปล่อยสภาพคล่องผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) เพื่อให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องพอเพียง

นอกจากนี้ ในฐานะผู้ว่าการ ธปท. ที่ต้องเจรจากับ IMF ภายใต้แรงกดดันสูง ดร.ชัยวัฒน์มีจุดยืนชัดเจนในการปกป้องเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยไม่ยอมรับทุกข้อเสนออย่างเคร่งครัด ดร.ชัยวัฒน์ ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดอกเบี้ยสูงเกินจำเป็น ซึ่งแม้อาจช่วยเสริมเสถียรภาพค่าเงินบาท แต่จะกระทบต่อเศรษฐกิจจริงอย่างรุนแรง และยังวิพากษ์นโยบายที่บังคับให้แบงก์พาณิชย์เพิ่มทุนอย่างเร่งรัด โดยชี้ว่าอาจเปิดช่องให้ทุนต่างชาติเข้าครอบครองธนาคารไทยทั้งหมด

การแก้ปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้งสืบเนื่องมาถึงสมัยของ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 16 ในเดือนพฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศยังอยู่ในภาวะวิกฤติลึกและต้องการการฟื้นฟูอย่างจริงจัง โดยเขาคือผู้ที่ต้องแบกรับภารกิจพลิกฟื้นระบบการเงินท่ามกลางความไม่เชื่อมั่น ทั้งจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงภายใต้แรงกดดันจากเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

หนึ่งในผลงานสำคัญของ ม.ร.ว.จัตุมงคล คือการยกระดับกรอบนโยบายการเงินของไทย จากที่เคยมีเครื่องมือเพียงอัตราดอกเบี้ย มาเป็นระบบที่มี “เป้าหมายเงินเฟ้อ” (Inflation Targeting) แม้ขณะนั้นแนวคิดนี้ยังใหม่และไม่คุ้นเคยใน ธปท. แต่ ม.ร.ว.จัตุมงคล กลับมองเห็นโอกาสจากการแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ และได้นำแนวทางนี้มาใช้เป็นพื้นฐานในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินระยะยาว

ควบคู่กับแนวคิดเรื่องกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ม.ร.ว.จัตุมงคลยังปรับโครงสร้างภายในของ ธปท. ใหม่ทั้งหมด โดยแยกการทำงานเป็น 3 สายหลัก ได้แก่ สายนโยบายการเงิน สายสถาบันการเงิน และสายระบบการชำระเงิน ซึ่งกลายเป็นโครงสร้างหลักของ ธปท. จนถึงปัจจุบัน

อีกตัวอย่างที่สะท้อนแนวคิดเชิงรุกของ ม.ร.ว.จัตุมงคล ได้อย่างเด่นชัด คือการแก้ปัญหาอัมพาตของเศรษฐกิจหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยในขณะนั้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรสูงถึง 20% ขณะที่เงินเฟ้ออยู่เพียง 2% ส่งผลให้ภาคธุรกิจไม่สามารถลงทุนหรือทำการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ม.ร.ว.จัตุมงคลจึงสั่งการให้ฝ่ายตลาดเงินของ ธปท. เข้าซื้อขายพันธบัตรในตลาดทันที โดยไม่ยึดติดกับราคา แต่ให้เน้นปริมาณการซื้อขายให้ได้ไม่น้อยกว่า 30% ของตลาด พร้อมย้ำว่าอย่ากังวลเรื่องขาดทุน เพราะ ธปท. ไม่มีบทบัญญัติว่าล้มละลาย การซื้อขายเหล่านี้คือ “นโยบายการเงิน” ที่ต้องทำเพื่อสร้างภาวะปกติกลับคืนมา

หลังดำเนินการได้ระยะหนึ่ง ม.ร.ว.จัตุมงคลสั่งให้ซื้อขายพันธบัตรในอัตราดอกเบี้ย 2% เพื่อส่งสัญญาณเชิงนโยบายที่ชัดเจน ตลาดตอบสนองทันที เพราะภาคเอกชนเข้าใจว่า “ทางออก” มาแล้ว การฟื้นตัวจึงเริ่มเป็นรูปธรรม โดยแนวทางนี้ไม่เพียงแสดงถึงบทบาทของ ธปท. ในการกำหนดนโยบายอย่างมีความกล้าหาญ แต่ยังตอกย้ำศักยภาพของภาคเอกชนไทยในการปรับตัว เมื่อรัฐส่งสัญญาณที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ

  • ผู้ว่าการฯ ธปท. คนที่ 18: ดร. ธาริษา วัฒนเกส (8 พ.ย. 2549 - 30 ก.ย. 2553)

ดร.ธาริษา วัฒนเกส ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยต้องเผชิญวิกฤตใหญ่ถึงสองครั้งในรอบ 35 ปี ได้แก่ วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 และวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 ซึ่งเธอมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบบการเงิน และวางแนวทางรับมือภาวะไม่แน่นอนอย่างมีแบบแผน

หนึ่งในปัญหาเร่งด่วนเมื่อดร.ธาริษาขึ้นดำรงตำแหน่ง คือ ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วจากการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้น ขณะที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่น เช่น การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว มีเพียงภาคส่งออกที่ประคับประคองเศรษฐกิจอยู่ แต่กลับต้องเผชิญแรงกดดันจากเงินบาทที่แข็งขึ้นเรื่อย ๆ

ภายหลังจากใช้มาตรการผ่อนปรนระยะหนึ่งแต่ไม่ได้ผล ธปท. ภายใต้การนำของดร.ธาริษา จึงตัดสินใจใช้มาตรการ “กันสำรอง 30%” สำหรับเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น ซึ่งเป็นนโยบายที่ถือว่า “ยาแรง” ในเวลานั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อชะลอแรงกดดันค่าเงินในระยะสั้นและซื้อเวลาในการวิเคราะห์โครงสร้างของเงินทุนที่หลั่งไหลเข้ามา

แม้มาตรการนี้จะได้รับแรงต้านจากตลาด แต่ ธปท. ยืนยันว่าจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งอย่างไร้ทิศทาง ซึ่งอาจกระทบต่อภาคส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวมในวงกว้าง

อีกบททดสอบสำคัญในยุคของดร.ธาริษา คือ ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในปี 2551 จากราคาน้ำมันดิบที่ทะยานขึ้นแตะ 144 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปสูงกว่า 9% และเงินเฟ้อพื้นฐานทะลุกรอบเป้าหมายของธปท. ที่ 3.7%

แม้ในขณะนั้นสังคมจะไม่เห็นด้วยกับการขึ้นดอกเบี้ยเพราะเกรงว่าจะซ้ำเติมประชาชน แต่ดร.ธาริษาและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เลือกดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด โดยทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ต่อเนื่อง 2 ไตรมาส พร้อมกับเปิดการสื่อสารกับสาธารณชนอย่างตรงไปตรงมา เพื่ออธิบายว่าค่าเงินเฟ้อที่สูงนั้นเกิดจาก “อุปสงค์” ที่ยังมีอยู่จริง ไม่ใช่เพียงแค่ผลกระทบจากฝั่งอุปทาน

เมื่อประชาชนเริ่มเข้าใจตรรกะของนโยบายและเห็นว่า ธปท. มีเป้าหมายระยะยาวชัดเจน ความเชื่อมั่นก็กลับคืนมา แม้ภายใต้แรงวิจารณ์ในช่วงต้น

  • ผู้ว่าการฯ ธปท. คนที่ 24: ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (1 ต.ค. 2563 - 30 ก.ย. 2568)

ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือนตุลาคม 2563 ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่กำลังสร้างแรงกระแทกครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจไทยจากการปิดเมืองและปิดประเทศ สถานการณ์ขณะนั้นไม่ใช่แค่วิกฤตโรคระบาด แต่คือจุดตกต่ำที่สุดของเศรษฐกิจไทยในรอบหลายทศวรรษ

ในระยะเวลาเกือบ 5 ปีของการดำรงตำแหน่ง ดร. เศรษฐพุฒิต้องเผชิญกับคลื่นเศรษฐกิจระดับโลกที่ซัดกระหน่ำเข้ามาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ช็อกเงินเฟ้อจากวิกฤตห่วงโซ่อุปทาน และสงครามยูเครน-รัสเซีย, ช็อกดอกเบี้ยขาขึ้นและดอลลาร์แข็ง, และ ช็อกวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี

ในช่วงโควิด-19 ดร. เศรษฐพุฒิใช้เครื่องมือด้านนโยบายการเงินอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะการลดดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ ในช่วง ก.ค. 2562 – พ.ค. 2563 โดยธปท. ลดดอกเบี้ยนโยบาย 5 ครั้ง จากระดับ 1.75% เหลือ 0.5% เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงินและพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 และเน้นสภาพคล่องในระบบผ่านมาตรการ Targeted Liquidity Support ขณะเดียวกัน ธปท. ทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงการคลังในการจัดโครงการร่วม เช่น มาตรการพักชำระหนี้ และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและครัวเรือน

เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การดำเนินนโยบายจึงเข้าสู่ ระยะ "ถอนคันเร่ง" อย่างระมัดระวัง โดยมุ่งรักษาเสถียรภาพระยะยาวเป็นหลัก โดยเฉพาะในภาวะที่หนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากช่วงโควิด ซึ่ง ดร. เศรษฐพุฒิเรียกว่าเป็น “แผลเป็นทางเศรษฐกิจ” ที่ไม่สามารถมองข้ามได้

ในช่วง ก.ค. 2565 – ก.ย. 2566 ธปท. ปรับขึ้นดอกเบี้ย 8 ครั้งต่อเนื่อง จาก 0.5% เป็น 2.5% เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงจากราคาพลังงานและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากสงครามยูเครน–รัสเซีย และวิกฤตห่วงโซ่อุปทาน

นอกจากนี้ ในช่วงดำรงตำแหน่ง ดร. เศรษฐพุฒิยังเป็นผู้ผลักดันการปรับบทบาทของ ธปท. ให้ทันกับยุคเศรษฐกิจใหม่ ทั้งด้าน Digital Finance, ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์, และ Sustainability โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมกับผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ สตาร์ทอัพ หรือภาคประชาชน

ในบริบทนี้ ธปท. ไม่ได้เป็นเพียง “ผู้คุมกฎ” แต่เป็น “เพื่อนร่วมระบบ” ที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างการกำกับและการสนับสนุน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวได้เร็ว เข้มแข็ง และยืดหยุ่นต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Amarin TV

ส่งตัวทหารเหยียบกับระเบิดช่องอานม้า 4 นาย รักษา ต่อรพ.ค่าย

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ฟันคดีเพิ่ม รีสอร์ต "จอนนี่ มือปราบ" ลักลอบเปิดกิจการไม่มีใบอนุญาต

2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ไทยเรียกทูตกลับ สื่อกัมพูชาคาด จบความหวังการค้า 15,000 ล้านเหรียญ

2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

พ่อแม่ "น้องเมย" พร้อมเข้าพบ ผบ.ตร. เตรียมให้ทนายประสานขอเข้าพบ

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความธุรกิจ-เศรษฐกิจอื่น ๆ

'รองนายกฯพิชัย' หารือประธานฯ บริษัท MinebeaMitsumi Inc. หนุนลงทุนต่อเนื่องในไทย พร้อมผลักดันด้านโลจิสติกส์และพลังงาน

VoiceTV

“รัฐบาลไทย” เรียกทูตไทยประจำกัมพูชากลับประเทศ ลดระดับความสัมพันธ์

การเงินธนาคาร

“อภิสิทธิ์” จี้รัฐหยุดวนลูปแจกเงิน แนะปฏิรูปรากเศรษฐกิจ กิโยตินกฎหมาย-เพิ่มทักษะคนไทย

PostToday

นกแอร์ เหลือหนี้ 400 ล้าน ตั้งเป้าออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ กลางปี 2571

ฐานเศรษฐกิจ

ธอส. MOU ร่วมกับ "บช.ตชด" สร้าง/ซ่อมอาคารเรียน และที่อยู่อาศัย ในพื้นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

Manager Online

อุทยานฯ เผยราคาขาย พ่อแม่พันธุ์ตัวเงินตัวทอง ชี้ตอบโจทย์ตลาดต่างประเทศมาก

News In Thailand

เร่งดึงนักท่องเที่ยว ‘แดนภารตะ’ เที่ยวไทย ชดเชยตลาดที่ชะลอตัว!

SpringNews

Naoris Protocol เตือน “ภัยควอนตัมใกล้จู่โจมบิทคอยน์” อาจเปลี่ยนบล็อกเชนโดยไม่ทันตั้งตัว

Manager Online

ข่าวและบทความยอดนิยม

ครม.เห็นชอบวิทัย รัตนากร เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมีผล 1 ต.ค.68

Amarin TV

ครม. มีมติ ตั้ง "วิทัย รัตนากร" นั่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

Amarin TV

ไทยจนมุม!ภาษีทรัมป์ไม่ลดเสี่ยงGDP-1.1%ต้องเปิดตลาดธปท.หั่นดอกเบี้ยช่วย

Amarin TV
ดูเพิ่ม
Loading...