วุฒิสภาลงมติเห็นชอบตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามด้วย กกต. แม้เสียงข้างน้อยคัดค้าน
วันนี้ (22 กรกฎาคม) พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เป็นประธานการประชุมวุฒิสภาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แทนตำแหน่งที่ว่าง เนื่องจาก นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ ปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระ
โดยมีผู้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 2 คน ได้แก่ ศ. ร.ต.อ. สุธรรม เชื้อประกอบกิจ และ สราวุธ ทรงศิวิไล
ภายหลังที่ พล.อ สวัสดิ์ ทัศนา สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้รายงานผลการตรวจสอบประวัติผู้ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
สว. นันทนาขวางเต็มที่ ยุติเลือกองค์กรอิสระ
นันทนา นันทวโรภาส สว. ได้ลุกขึ้น อภิปรายต่อที่ประชุมวุฒิสภาว่า ตนกำลังใช้เอกสิทธิ์ของสว.รักษาผลประโยชน์ของประชาชน ผู้จ่ายเงินเดือนให้กับ สว.ว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการร่วมระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้สรุปสำนวนผู้ถูกกล่าวหาคดีฮั้ว สว. จำนวน 229 ราย ซึ่งจำนวนนี้ปรากฏชื่อของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 138 ราย หรือคิดเป็น 3 ใน 4 ของ สว. ทั้งสภา
ขณะนี้สำนวนคดีอยู่ในมือของ กกต. เพื่อเตรียมส่งฟ้องต่อศาลอาญา แผนกเลือกตั้ง แต่วันนี้ที่ประชุม สว. จะลงมติเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ จะไม่ขัดกันเกินไปกับเรื่องคดีที่ สว. กำลังเป็นผู้ถูกกล่าวหาอยู่หรือไม่
“ท่านไม่รู้สึกอะไรบ้างหรือหาก กกต. พิจารณาคดีฮั้ว สว. เป็นคุณกับท่าน ประชาชนจะรู้สึกอย่างไรแล้วกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ยังมีอยู่หรือ หากเป็นเช่นนั้นแล้วองค์กรอิสระจะยังเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนได้อีกหรือ ท่านก็จะลงมติเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 2 ตำแหน่งที่ว่างลง แต่ท่านก็ใช้ ตำแหน่ง สว. เป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่านายกรัฐมนตรีมีพฤติกรรมที่ขัดต่อจริยธรรมอย่างร้ายแรง ร้องว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก้าวก่ายแทรกแซงการดำเนินคดีเกี่ยวกับการได้มาซึ่ง สว. และขอให้บุคคลเหล่านี้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แล้วท่านทั้งหลายที่ถูกร้อง ไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ลงบ้างหรือ” นันทนาระบุ
นันทนายังกล่าวว่า เหมาะสมหรือไม่ที่ สว. จะลงมติเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปตัดสินคดีที่ตนมีส่วนได้เสีย คู่กรณี และประชาชนจะคิดอย่างไร ถือเป็นการจงใจทำให้กระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยวหรือไม่ เพราะขณะนี้มีประชาชนจำนวนมากติดตามเรื่องการฮั้ว สว. เพื่อความสง่างามของวุฒิสภา สว. ควรยุติการลงมติใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฮั้วเลือก สว.
ทำให้ที่ประชุมวุฒิสภาเกิดการประท้วงขึ้นหลายครั้งจากทั้ง สว. หลายคน เช่น อมร ศรีบุญนาค, พล.ต.ท. ยุทธนา ไทยภักดี และ พ.ต.อ. กอบ อัจนากิตติ ระบุว่า นันทนาอภิปรายซ้ำซ้อน จึงทำให้ พล.อ.เกรียงไกรซึ่งทำหน้าที่ในการประชุมขอให้นันทนาอภิปรายโดยไม่ซ้ำซาก
จากนั้น น.ต. วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สว. ได้อภิปรายว่า การพิจารณาให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นตำแหน่งที่สำคัญสามารถชี้เป็นชี้ตายประเทศไทยในอนาคต ดังนั้น ความรอบคอบในการเลือกจึงเป็นหน้าที่ของ สว. ทุกคน เชื่อว่าไม่มีใครสามารถชี้นำ สว.ได้เช่นที่สังคมกล่าวหาในปัจจุบัน แต่วันนี้ได้ข่าวว่ามีคำสั่งให้เลือกคนใดคนหนึ่ง เป็นสิ่งที่แปลก คิดว่าคงไม่จริง การเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งจะเป็นที่จดจำไปตลอด การทำอะไรไปวันนี้ย่อมถูกตรวจสอบโดยประชาชน
ผลโหวต สว. ผ่าน 1 ตก 1 ตามคาด
ท้ายที่สุด ที่ประชุมวุฒิสภาได้ดำเนินการประชุมและลงมติลับ โดยเป็นการลงคะแนนลับ ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ หรือ 100 คะแนนขึ้นไป
ผลปรากฏว่า สำหรับ ศ. ร.ต.อ. สุธรรม จากจำนวนสมาชิก 189 เสียง เห็นด้วย 39 เสียง ไม่เห็นด้วย 118 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง เป็นอันว่า ที่ประชุมไม่เห็นด้วยให้ ศ. ร.ต.อ. สุธรรมดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่สราวุธ จากจำนวนสมาชิก 189 เสียง เห็นด้วย 143 เสียง ไม่เห็นด้วย 17 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง เป็นอันว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้สราวุธดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
โหวต กกต. ฉลุยต่อเนื่อง ไฟเขียว ‘ณรงค์ กลั่นวารินทร์’
ต่อมา ที่ประชุมวุฒิสภาได้ดำเนินการประชุมและลงมติลับ บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แทน ปกรณ์ มหรรณพ ซึ่งครบวาระเนื่องจากอายุครบ 70 ปี โดยผู้ได้รับการเสนอชื่อคือ ณรงค์ กลั่นวารินทร์ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
ผลการลงมติปรากฏว่า ที่ประชุมเห็นชอบ 165 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง งดออกเสียง 20 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง เป็นอันว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ณรงค์ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง