MIND: ผลวิจัย 40 ปีชี้ หากเด็กไม่เกิน 1 ขวบ สนใจสิ่งใหม่ๆ และมีสมาธิ เด็กคนนั้นมีแนวโน้มจะโตมา ‘ฉลาด’
บทสนทนาเกี่ยวกับการ ‘เลี้ยงเด็ก’ ทุกวันนี้น้อยลงพอๆ กับจำนวนเด็กในสังคม ในอีกด้าน พอสังคมพูดคุยเรื่องพวกนี้กันน้อยลง พ่อแม่ของเด็กก็ยิ่งมีความเสี่ยงจะโดนหลอกลวงมากขึ้น สารพัดธุรกิจที่อ้างว่าสามารถทำให้เด็กเก่งกาจและฉลาดได้ โดยพ่อแม่จำนวนมากไม่รู้และไม่สามารถแยกแยะได้ด้วยซ้ำว่าข้อมูลใดที่อุตสาหกรรมเหล่านี้นำเสนอคือสิ่งที่จริงหรือเท็จ หรือแต่งข้อมูล
เอาแค่ข้อถกเถียงคลาสสิกอย่างประเด็นว่าคนคนหนึ่งจะฉลาดนั้นขึ้นอยู่กับพันธุกรรมหรือการเลี้ยงดู จริงๆ แล้วพ่อแม่จำนวนมากยังไม่คุ้นเลย และนั่นก็อาจทำให้พ่อแม่พยายามไปทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางชีววิทยา อย่างการพยายามเข็นให้เด็กที่พื้นฐานไม่ฉลาดกลายเป็นคนฉลาด
คำถามคือ วิทยาศาสตร์รู้แค่ไหนว่า เด็กคนนี้จะเป็น ‘อัจฉริยะ’ หรือไม่ตั้งแต่เด็กๆ?
ถ้าจะอธิบายให้ง่ายและตรงก็คือ ไม่ได้รู้ขนาดนั้น แต่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ว่า จริงๆ แล้ว ‘ความฉลาด’ นั้นมีบางส่วนมาจากพันธุกรรมจริง และนั่นไม่ได้ดูที่ว่าพ่อแม่ฉลาดหรือไม่ เพราะนั่นเป็นเรื่องของพันธุกรรมของพ่อและแม่ที่ต่างจากเด็ก แต่เขาผ่านงานวิจัยที่ทำกันเป็นเวลา 40 ปี ผ่านการทดสอบฝาแฝดนับหมื่นคนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เล็กจนถึงอายุ 40 ว่าความฉลาดเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
ถ้าจะสรุปง่ายๆ เขาบอกว่า อันที่จริงมีอยู่สองลักษณะของเด็กเล็กๆ อายุไม่เกิน 1 ขวบ ที่มีแนวโน้มจะเติบโตและมีไอคิว (IQ) สูง และสองลักษณะที่ว่านี้ก็คือ ‘ความสนใจในสิ่งใหม่ๆ’ และ ‘การมีสมาธิ’
เรื่องพวกนี้น่าสนใจที่จะนำไปต่อยอด เพราะมันจะทำให้คนเป็นพ่อแม่ไม่มโนไปเองว่าลูกตนเป็นอัจฉริยะ ซึ่งความหมายก็คือถ้าพ่อแม่พบลักษณะเหล่านี้ในตัวลูก ถ้ามีโอกาสก็ควรจะส่งเสริมด้านปัญญาให้แก่เขา เพราะเขามีศักยภาพเพียงพอ แต่กลับกัน ถ้าพ่อแม่อยากได้ลูกที่ฉลาด แต่เด็กๆ เขาไม่ได้มีลักษณะแบบนี้ ก็อาจต้อง ‘ทำใจ’ และไม่พยายามเคี่ยวเข็ญลูกให้เป็นอัจฉริยะระดับที่ฝืนธรรมชาติของเขา
ทั้งหมดนี้จำเป็น เพราะสุดท้ายการเลี้ยงลูกที่ ‘ดีต่อลูก’ ที่สุด ไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะมนุษย์ทุกคนต่างกัน ทั้งศักยภาพและความสามารถในการเรียนรู้เรื่องต่างๆ พ่อแม่ที่จะประสบความสำเร็จไม่ใช่คนที่ให้ใจหรือเทเงิน ให้ลูกเป็นอย่างที่ตนเองอยากให้เป็น แต่ต้องเป็นคนที่ ‘เข้าใจ’ สิ่งที่ลูกเป็น และส่งเสริมพัฒนาการของพวกเขาอย่างเหมาะสม
แน่นอน นี่เป็นเรื่องที่ต้องสังเกตจริงจังและใช้เวลา และมันก็สุ่มเสี่ยงพอควรถ้าจนถึงลูกเข้าประถมแล้ว พ่อแม่ยังไม่เข้าใจความถนัดของลูก แน่นอนว่าความยากจริงๆ ก็คือการก้าวให้พ้นอคติของตนเอง ไม่เห็นแต่สิ่งที่เราอยากเห็นจนมองข้ามศักยภาพอื่นๆ ของลูกเพราะอคติอย่างน่าเสียดาย