MIND: เจ้าของบริษัท AI แนะ เทคนิคในการพัฒนา ‘ภูมิปัญญาของมนุษย์’ ที่ AI เลียนแบบไม่ได้
ในยุคปัจจุบันเกิดการพยายามจะเทียบ AI กับมนุษย์ในทุกด้านอยู่เสมอ ทำให้มนุษย์หลายๆ กลุ่มก็อาจมีความกลัวเกรงว่าตนจะด้อยกว่า AI หรือ AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ แต่พร้อมกันนั้นมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งกลับเลือกที่จะ ‘ฟัง AI’ มากขึ้นด้วย
ปัญหาของการเสพข้อมูลจาก AI นั้นมีผลในระยะยาวว่าจะทำให้มนุษย์ ‘โง่ลง’ ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติพื้นๆ ของการรับข้อมูลผิดๆ ที่ถูก AI ทำให้น่าเชื่อถือ ไปจนถึงการไม่ได้ ‘คิดเอง’ ยาวนานพอจนบทจะต้องคิดเองก็คิดไม่เป็นแล้ว
แล้วเราจะหลีกหนีจากความโง่ในยุคที่ AI แผ่อิทธิพลอย่างไรดี?
Psychology Today ได้ไปสัมภาษณ์เซซารี พีตราซิก (Cezary Pietrasik) ผู้เป็น CEO บริษัท AI ด้านการทำนายพฤติกรรมมนุษย์และเขียนหนังสือเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์อย่าง ‘Homo Idioticus: Why We Are Stupid and What to Do About It’ มีคำตอบ
ที่จริงแล้วคำตอบของเขาก็เป็นสิ่งที่พอเดาได้หลายข้อ หลักๆ คือถ้าไม่อยากโง่ไปเรื่อยๆ ในยุค AI สิ่งที่ต้องทำก็คือต้องฝึกคิดเองโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ เรียนรู้อะไรใหม่ๆ แลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนมนุษย์แบบต่อหน้า และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ในพื้นที่ทางกายภาพ
การฝึกคิดเองโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์คือการทำให้สมองเรายังใช้งานได้ ซึ่งการฝึกนี้เป็นไปได้ตั้งแต่การคิดเลข การหาทางไปสถานที่ใหม่ๆ โดยไม่ต้องใช้ GPS เรื่องพวกนี้มันไม่ใช่แค่การฝึกสมอง แต่ยังทำให้เราเข้าใจพื้นที่ทางกายภาพจริง ที่มากกว่าที่อยู่ในแอปแผนที่นำทางชื่อดังด้วย มันจะทำให้เรากลับมาเข้าใจว่าคนก่อนยุค Google Maps เขาจดจำเส้นทางกันอย่างไร โดยความรู้และการใช้สมองแบบนี้จะไม่เกิดถ้าเราพึ่งพาแต่เครื่องจักร นอกจากนี้การจดจำอะไรเล็กๆ น้อยๆ (เช่นเบอร์โทรศัพท์ของคนสำคัญ) ก็ยังจะช่วยกระตุ้นสมองได้ดีอีกด้วย
การเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ยังนับเป็น ‘ยาวิเศษ’ คลาสสิกของความคิดสร้างสรรค์ คือไม่ต้องอธิบายกันมากมายว่าการอ่านหนังสือใหม่ๆ ดูหนังใหม่ๆ หรือกระทั่งเล่นเกมใหม่ๆ จะช่วยเปิดพื้นที่ความคิด แต่ที่มากกว่านั้น การทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำมาก่อน เรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน มันจะช่วยให้เราพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งเลย โดยเรื่องพวกนี้ไม่จำกัดว่าจะต้องทำในพื้นที่แบบไหน ทำในพื้นที่เสมือนแบบ ‘หน้าจอ’ ก็ได้
การแลกเปลี่ยนกับเพื่อนมนุษย์ในพื้นที่ทางกายภาพนั้นสำคัญ นี่เป็นเรื่องจริงจังในสังคม เพราะสังคมปัจจุบันวางอยู่บนฐานของการสร้างความสัมพันธ์แบบต่อหน้า ไอเดียเรื่องเสรีประชาธิปไตยทั้งหมดวางอยู่บนฐานการพูดคุยแบบต่อหน้าในพื้นที่สาธารณะ ไม่ใช่การอยู่หลังคีย์บอร์ดในพื้นที่ส่วนตัว คือมันไม่ใช่แค่มีสิ่งที่เราจะพูดหรือไม่พูดในพื้นที่ทางกายภาพ แต่การอยู่ร่วมกันในพื้นที่ทางกายภาพและมีบทสนทนากัน จะทำให้เราเห็นบางอย่างที่การอยู่ในพื้นที่เสมือนมองไม่เห็น และเรื่องเหล่านี้ AI เวอร์ชันปัจจุบันยังไม่เรียนรู้แน่นอน แต่ถ้าเราขาดทักษะการสื่อสารในพื้นที่กายภาพไป ไม่ใช่แค่ AI แต่มนุษย์เราเองก็จะไม่มีทักษะเหล่านี้เช่นกัน
สุดท้าย การทำกิจกรรมร่วมกับมนุษย์คนอื่นในพื้นที่ทางกายภาพ เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้คนมักจะละเลย และมองว่าแค่มาคุยกัน เห็นหน้ากันก็พอ แต่จริงๆ แล้วการเรียนรู้ของมนุษย์ มันเกิดจากการทำกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่ทางกายภาพ วัฒนธรรมมุขปาฐะต่างๆ สืบทอดมาเป็นร้อยเป็นพันปีผ่านการละเล่นและพิธีกรรม ที่ไม่ว่าเราจะอ่านเกี่ยวกับมันมากเท่าไร ดูสารคดีเกี่ยวกับมันมากแค่ไหน ก็ไม่อาจทำความเข้าใจได้มากเท่ากับเราไปเข้าร่วมเอง กิจกรรมพวกนี้มีได้หลากหลาย ตั้งแต่การเล่นดนตรีกับมนุษย์คนอื่น เต้นรำกับมนุษย์คนอื่น ไปจนถึงการไปช่วยงานบุญงานบวชหรือพิธีกรรมประเพณีท้องถิ่นใดๆ กิจกรรมเหล่านี้ดูเหมือนไม่มีความหมายอะไร แต่มันถูกสร้างมาเพื่อให้มนุษย์มีกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้สังคมดำเนินไปได้ และเรื่องพวกนี้ AI ไม่มีทางเข้าใจแน่ๆ
ทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างจากมุมของ CEO บริษัทที่ผลิต AI มาคาดเดาพฤติกรรมมนุษย์ ที่ต่างจาก AI แน่ๆ คือเขารู้ดีว่า AI ไม่รู้ และ ‘ไม่สามารถเรียนรู้’ อะไร และนั่นเองจะเป็นสิ่งที่มนุษย์ควรจะพัฒนาไปในยุคที่ AI กำลังจะมีบทบาททางปัญญาแทนมนุษย์ในทุกด้าน