SOCIETY: งานวิจัยชี้ คู่รักที่ ‘จูบ’ กันบ่อย มีแนวโน้มพอใจในรักมากกว่าคู่ที่แทบไม่จูบกันเลย
หากลองสุ่มถามคู่รักสักคู่ ว่าเคล็ดลับอะไรที่ทำให้พวกเขาพึงพอใจในความสัมพันธ์ หรืออยากตื่นขึ้นมาเจอกันและกันในทุกๆ วันคืออะไร คุณคงได้คำตอบสารพัดวิธีตั้งแต่การปรับตัวเข้าหากัน พยายามสื่อสารให้ดีขึ้น รับฟังกันและกัน หาเวลาไปออกเดต ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น รวมไปถึงกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์บนเตียง
แต่รู้ไหมว่า มีอีกหนึ่งวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้ความรักของคุณแนบแน่นขึ้นโดยไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก นั่นคือ ‘การจูบ’
มารียาห์ เฟรยา (Mariah Freya) นักให้ความรู้ด้านเพศสัมพันธ์และผู้ร่วมก่อตั้ง Beducated พูดไว้ในบทสัมภาษณ์กับ The Daily Mail ว่า “คนเรามักประเมินคุณค่า ‘การจูบ’ ในความสัมพันธ์ต่ำเกินไป”
ปกติแล้วคนเรามักนับว่าเรามีเซ็กซ์กันบ่อยแค่ไหน หรือสื่อสารกันดีแค่ไหน แต่แทบไม่มีใครนับว่าเราจูบกันครั้งสุดท้ายเมื่อไร และที่จูบกันนั้นทำด้วยใจหรือแค่ทักทายตามมารยาท
เธออธิบายว่าเมื่อคู่รักเริ่มเปลี่ยนจากจูบเพราะเคยชิน มาเป็นจูบที่ช้า มีสติ และตั้งใจ สมองของเราจะสลับจาก ‘โหมดทักทาย’ ไปสู่ ‘โหมดเชื่อมโยง’ ทันที ทำให้คู่ของเราดูน่าดึงดูดมากขึ้นอย่างน่าแปลกใจ
ดังนั้น การจูบบ่อยๆ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของความโรแมนติก แต่เกี่ยวพันกับเคมีในสมองอย่างลึกซึ้ง งานวิจัยในปี 2020 ชี้ให้เห็นว่า คู่รักที่จูบบ่อยมีระดับความพึงพอใจในความสัมพันธ์สูงกว่าคู่ที่แทบไม่จูบกันเลย และเมื่อดูจากผลสำรวจในปี 2011 พบว่า หนึ่งในห้าของคู่แต่งงานไม่ได้จูบกันเลยในสัปดาห์นั้น และโดยเฉลี่ยแล้ว การจูบของพวกเขาก็ใช้เวลาแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น
บรี เทมเพิล (Brie Temple) หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านจับคู่ของ Tawkify มองว่าการจูบน้อยลงเป็นสัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม “เมื่อการจูบหายไป มันเป็นหนึ่งในสัญญาณแรกของการตัดขาดทางอารมณ์” เธอกล่าวกับ The Daily Mail “เมื่อไม่มีช่วงเวลานุ่มนวล คู่รักจะเริ่มรู้สึกเหมือนเป็นแค่เพื่อนร่วมห้องกันเฉยๆ”
สุนารี โก (Sunaree Ko) ผู้เชี่ยวชาญด้านความรักและความเข้ากันได้ ก็สนับสนุนแนวคิดนี้ เธอชี้ว่า การจูบมีผลต่อความเข้าใจและความรู้สึกมีคุณค่าในความสัมพันธ์ และหากขาดไป คู่รักอาจตีความกันผิด ห่างเหิน หรือรู้สึกถูกลดคุณค่าลงโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ชีวิตเต็มไปด้วยความเครียด
นอกจากนี้ การจูบยังช่วยกระตุ้นสารเคมีในสมองสามตัวหลัก ได้แก่ ออกซิโทซิน (Oxytocin) ที่ช่วยสร้างความไว้วางใจ โดปามีน (Dopamine) ที่สร้างความรู้สึกเป็นสุข และเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ส่งผลต่ออารมณ์ การนอนหลับ และการควบคุมอารมณ์โดยรวม
อีกทั้ง โซฟี รูส (Sofie Roos) นักเพศวิทยายังกล่าวอีกว่า “เมื่อทั้งสามตัวถูกกระตุ้นพร้อมกัน มันเหมือนกับการสร้างความรู้สึกตกหลุมรักซ้ำอีกครั้ง” นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมบางคู่ถึงขั้นจัดกิจวัตรในชีวิตประจำวันให้เริ่มต้นและจบลงด้วยการจูบ ไม่ใช่เพราะมันหวือหวา แต่เพราะมันทำหน้าที่คล้ายปุ่มสตาร์ท
สำหรับคู่ไหนที่เริ่มรู้สึกว่าความสัมพันธ์เริ่มห่างเหินกันไป อาจเริ่มกลับมาเชื่อมใจกันอีกครั้งด้วยการจูบ เพื่อบอกกันว่าเรายังอยู่ตรงนี้ ยังรัก และยังอยากอยู่ด้วยกันต่อไป