การศึกษาชี้ แผ่นดินไหวอาจผลิต “พลังงาน” แทนแสงอาทิตย์ ให้สิ่งมีชีวิตใต้พิภพ
สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองกว่างโจว ประเทศจีน เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ว่า การศึกษาดังกล่าวซึ่งนำโดยนักวิจัยจากสถาบันธรณีเคมีกว่างโจว สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เผยแพร่ในวารสารไซแอนซ์ แอดวานเซส (Science Advances) เมื่อไม่นานมานี้
ลึกลงไปในโลกใต้ดินอันมืดมิดที่มนุษย์มองไม่เห็น มีสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอย่างโปรคาริโอต (prokaryotic) อาศัยอยู่ถึง 95% ของโลก คิดเป็นราว 19% ของชีวมวลทั้งหมดบนโลก สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไม่สามารถได้รับสารอินทรีย์ที่เกิดจากกระบวนการสังเคราะห์แสงได้ และวิธีที่พวกมันรับพลังงานนั้นเป็นปริศนาในวงการวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด
ทีมวิจัยจำลองกิจกรรมการเกิดรอยเลื่อนใต้ดินลึกหลายกิโลเมตร และค้นพบว่า เมื่อหินแตกร้าวและสร้างพื้นผิวขึ้นใหม่ พันธะเคมีที่เพิ่งแตกออกจะสัมผัสกับน้ำทันที ปฏิกิริยานี้ก่อให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนและไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ปริมาณมาก ซึ่งนำไปสู่วัฏจักรออกซิเดชันและรีดักชันของธาตุเหล็ก และกระบวนการนี้จะปลดปล่อยอิเล็กตรอนออกมาอย่างต่อเนื่อง
อิเล็กตรอนเหล่านี้จะไหลเวียนระหว่างธาตุที่จำเป็นต่อสิ่งชีวิต เช่น คาร์บอน กำมะถัน และไนโตรเจน ก่อให้เกิด “โครงข่ายพลังงานใต้ดิน” ที่มองไม่เห็น ซึ่งให้พลังงานแก่จุลินทรีย์
สำหรับภารกิจตรวจหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกในอนาคต นักวิจัยมองว่าจำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการค้นหาสารออกซิไดซ์และรีดิวซ์ใกล้บริเวณรอยเลื่อน ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต.
ข้อมูล-ภาพ : XINHUA