โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ต่างประเทศ

สัญลักษณ์แห่ง"ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร"พระมงกุฎลงยาที่เจ้ากัมพูชาได้มาจากไทย

The Better

อัพเดต 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • THE BETTER

เรื่อง "กัมพูชาเป็นประเทศราชของไทย" และ "ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร" เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่คนไทยให้ความสนใจกันมากในปัจจุบัน

เพราะมันทำให้เรารู้สึกเหนือกว่ากัมพูชา และเพื่อทวงกับคนเขมรว่า "ครั้งหนึ่งพวกคุณเคยเป็นส่วนหนึ่งของเรา"

แต่ประวัติศาสตร์ตอนนี้มีความซับซ้อนมาก เพราะบางช่วงกัมพูชาก็เป็นประเทศราชจริงๆ โดยพระมหากษัตริย์ไทยทรงแต่งตั้งเจ้าเขมรไปปกครองบ้านเมือง แต่บางครั้งกัมพูชาตกเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนามโดยรับอำนาจของเจ้าอันนัมและบางช่วงถึงกับถูกกลืนโดยวัฒนธรรมเวียด

ยังไม่นับช่วงที่เจ้าเขมร "แปรพักตร์" จากไทยไปคบคนโน้นทีคนนี้ที ทำให้ปกครองลำบาก

แต่ช่วงที่มีสัญลักษณ์ยืนยันชัดเจนว่า "ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร" ก็คือตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งไทยไม่เพียงตั้งเจ้าเขมรไปเป็นกษัตริย์ปกครองดินแดน 'เขมรส่วนนอก' (เขมรส่วนในไทยปกครองไว้) แต่ยังมอบ 'เครื่องต้น/เครื่องราชูปโภค' ไปให้ประดับเกียรติยศด้วย

เช่นในรัชกาลที่ 1 มีปรากฎในหนังสือ 'ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร ตอนที่ 1 เรื่องดินแดนเขมร' ว่า "ครั้นมาเมื่อปีขาล ฉศก ศักราช 1156 (พ.ศ. 2337) นักพระองค์เอง เจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี มีชนมายุได้ 21 จึงได้ทรงพระมหากรุณาพระราชทานอภิเศกให้มีนามว่า องค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีศรีสุริโยประพันธ์ มีสร้อยนามต่อไปอีกโดยสมควร พระราชทานเครื่องยศอย่างสูงเป็นเจ้าประเทศราชอย่างเอก แล้วโปรดให้ออกไปครอบครองแผ่นดินเมืองเขมรซึ่งแผ่นดินเดิมของพระบิดา"

ต่อมา "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้พระราชทานเพลิง แล้วทรงพระมหากรุณาพระราชทานอภิเศกนักองค์จันให้เป็นสมเด็จพระอุทัยราชาธิราช เจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี พระราชเครื่องยศบรรดาศักดิ์เจ้าประเทศราชอย่างสูงเหมือนกับองค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีผู้พระบิดาของนักองค์จันนั้น"

ย้ำว่า "พระราชทานเครื่องยศอย่างสูงเป็นเจ้าประเทศราช" ไม่ใช่เจ้าประเทศเอกราช

Photo - พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร

เครื่องต้น/เครื่องราชูปโภคพวกนี้เป็นสัญลักษณ์ของการเป็น 'เจ้าประเทศราช' หรือ 'สามนตราช' คือราชาที่อยู่ใต้อำนาจของพระจักรพรรดิราชหรือพระราชาธิราช อันหมายถึงพระมหากษัตริย์ที่กรุงเทพมหานคร

ดังนั้น เครื่องต้น/เครื่องราชูปโภคพวกนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ที่ตอกย้ำว่า "กัมพูชาเป็นประเทศราชของไทย" และ "ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร"

จนกระทั่งถึงวันที่ฝรั่งเศสเข้ามาและ "แย่ง" เขมรส่วนนอกไปจากไทยผนวกเป็นส่วนหนึ่งของ 'อินโดจีนฝรั่งเศส' ทำให้กษัตริย์กัมพูชาไม่ใช่ 'เจ้าประเทศราช' หรือ 'สามนตราช' ของไทยอีกต่อไป แต่เป็น Minor king หรือกษัตริย์เล็กๆ น้อยๆ ของประเทศที่อยู่ใต้การอารักขาหรือการปกครองของฝรั่งเศส

แต่กษัตริย์กัมพูชาก็ยังใช้เครื่องต้น/เครื่องราชูปโภคที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ไทยต่อไป และในช่วงต้นที่ฝรั่งเศสเข้ามาแทนที่ไทย เจ้าเขมรก็ยังต้องรับการอภิเษกจากเมืองไทยเสียก่อนด้วย ดั่งปรากฎใน 'พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4' ว่า "ฝ่ายที่กรุง อัดมิราลเดลากรอนเดมีหนังสือมานัดจะเศกองค์พระนโรดมพรหมบริรักษ์ มหาอุปราช ขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินกัมพูชา ให้กรุงเทพมหานครออกไปเศกให้พร้อมกัน ครั้นณเดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยามนตรีสุริยวงศ์คุมเครื่องอิศริยยศสุพรรณบัฏไปเศกองค์พระนโรดมด้วยเรือรบกลไฟฝรั่งเศสชื่อดังเตอสกาโต"

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อองค์พระนโรดมพรหมบริรักษ์ ได้ครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร

Photo - มงกุฎของไทยในภาพถ่ายของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์

การเมืองเรื่องเครื่องต้นของเจ้าเขมรยังมีหลักฐานว่าเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2407 พระเจ้านโรดมทรงส่งจดหมายไปถึงพลเรือเอกลา กรองดิแยร์ ของฝรั่งเศสเพื่อแจ้งให้ทราบถึงแผนการราชาภิเษกของพระองค์ที่เมืองอุดงค์ เมืองหลวงในเวลานั้นของกัมพูชา เนื้อความจดหมายมีว่า

"เย็นวานนี้ ข้าพเจ้าได้แจ้งคุณลาเกรให้ทราบถึงขุนนางสยามท่านหนึ่งที่นำจดหมายจากพระมหากษัตริย์สยามมาให้ข้าพเจ้า พระองค์ตรัสกับข้าพเจ้าว่างานศพของพระราชโอรสและพระอนุชาที่พระองค์สูญเสียไปนั้น ขัดขวางมิให้พระองค์มาในพิธีราชาภิเษกของข้าพเจ้า พระองค์จะส่งมนตรีสุรยวงศ์ ผู้เป็นสมุหะ น้องชายของกาลาโหม [นายกรัฐมนตรี] มาเป็นผู้แทนพระองค์ในพิธี ส่วนขุนนางที่เคยประจำการในกัมพูชามาก่อนก็จะมาเช่นกัน พวกเขาจะนำเครื่องราชต้นมาถวายข้าพเจ้าที่อุดงค์ในช่วงครึ่งหลังของเดือนนี้ (20 มกราคม ถึง 5 กุมภาพันธ์) อีกหนึ่งเดือนต่อมา พระมหากษัตริย์สยามจะเสด็จเยือนเมืองกัมปอต และข้าพเจ้าจะไปรับ พระองค์ทรงเสนอชื่อสามชื่อ (หรือราชทินนาม) ที่จะพระราชทานโดยพระหัตถ์ของพระองค์ และทรงขอให้ข้าพเจ้าแจ้งชื่อที่เหมาะสมกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการเสื้อคลุม กางเกง และหมวกที่พลเรือเอกสัญญาไว้โดยเร็วที่สุด"

และก่อนที่พระนโรดมจะยอมอยู่ใต้อารักขาของฝรั่งเศสนั้น เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2407 กัมพูชาและสยามได้ให้สัตยาบันสนธิสัญญาลับที่ตกลงกันไว้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2406 โดยพระนโรดมต้องทำสัญญานี้ก็เพื่อได้รับการยอมรับในฐานะเจ้าผู้ปกครองกัมพูชาโดยความยินยอมจากไทย

แต่แล้ววันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2407 พระนโรดมทรงได้รับแจ้งว่า สนธิสัญญาอารักขาฝรั่งเศส-กัมพูชา ได้ลงนามในกรุงปารีสแล้ว

ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ เขมรเลิกอาศัยไทยในการเษกเจ้าเป็นกษัตริย์ แต่อาศัยอำนาจของฝรั่งเศสอย่างเต็มที่ โดยมีบันทึกการตั้งเจ้าเขมรโดยฝรั่งเศสไว้ใน'ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ 21' เรื่องเรื่องพิธีราชาภิเษกสมเด็จพระมณีวงศ์ โดยเฉพาะการสวมมงกุฏ (ของไทย) โดยข้าหลวงฝรั่งเศสให้กับสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ ความว่า

ตอนแรกนั้น "ออกญามหามนตรี จางวางกรมเรือนหลวง สวดถวายพระมหามกุฎราช" ให้กับสมเด็จพระมณีวงศ์ครั้นแล้ว "ท่านลือคูแวรเนอรเยเนราล (ข้าหลวงฝรั่งเศสปกครองอินโดจีน) กับท่านลือเรสิดองต์ สุปรีเยือร (ข้าหลวงฝรั่งเศสปกครองกัมพูชา) เข้าถวายคำนับจวบชุมประชุมใหญ่ นำข่าวสาสนถวายศัพทสาธุการพรแต่คูแวรเนอมองต์ดือลาเรปุบลิกบารังแสส (บารังแสส เป็นสำเนียงเขมรแปลว่าฝรั่งเศส) ที่ทำนุกบำรุงกรุงกัมพุชาธิบดี แล้วอัญเชิญและแห่เสด็จขึ้นประทับเลอพระบัลลังก์รัตน์ ใต้พระมหาเศวตฉัตร 9 ชั้น ยิงปืน 21 นัด แล้วสมเด็จพระอิสีภัทราธิบดีอัญเชิญพระมหามกุฎราช ส่งไปท่านลือคูแวรเนอรเยเนราล ๆ ทรงถวายพระกรุณา ต่างพระนามกรุงบารังแสส"

Photo - มงกุฎของไทยในภาพถ่ายของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร

นี่คือตัวอย่างการที่ข้าหลวงฝรั่งเศสปกครองอินโดจีนเชิญมงกุฎส่งให้เจ้าเขมรเท่ากับยืนยันความเป็นกษัตริย์ แม้จะเป็นมกุฏสำหรับเจ้าประเทศราช แต่ตอนนี้เจ้าเขมรกระทำตนเทียบเท่าพระมหากษัตริย์ที่กรุงเทพฯ แล้ว โดยประทับใต้พระมหาเศวตฉัตร 9 ชั้น

การประทับใต้พระมหาเศวตฉัตร 9 ชั้นนั้นเท่ากับเป็น 'เอกราช' คือพระมหากษัตริย์ที่มีอำนาจอธิปไตยเต็มตัว แต่เจ้าเขมรนั้นกลับทำเอาอย่างพระเจ้ากรุงสยามโดยลืมไปว่าตนมิได้เป็น 'เจ้าเอกราช' แต่เป็นประเทศราชของฝรั่งเศสชัดๆ

ต่อมาเราจะพบว่าในหนังสือ 'นิราสนครวัด' พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งบันทึกไว้คราวเสด็จเยือนกัมพูชาในฐานะรัฐอารักขาของฝรั่งเศส ได้เสด็จไปทอดพระเนตรเครื่องต้น/เครื่องราชูปโภคของเจ้าเขมร โดยเฉพาะ 'เครื่องต้น' คือเครื่องประกอบยศของกษัตริย์ ทรงบันทึกไว้ว่า

"อยากดูเครื่องต้น เขาเชิญเครื่องทรงพระเศียรพระเจ้ากรุงกัมพูชามาตั้งให้ดู 4 องค์ และอธิบายให้ทราบ คือ พระมงกุฎลงยา ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนั้น สำหรับทรงราชาภิเษกและทรงเลียบพระนครกระบวรราบ พระมาลาเสร้าสะเทิน (เหมือนอย่างต่างกรมทรงในกรุงเทพ ฯ) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน สำหรับทรงเลียบพระนครกระบวรม้า พระชฎาห้ายอดทองเกลี้ยง สร้างขึ้นในกรุงกัมพูชา สำหรับทรงเลียบพระนครกระบวรรถ พระมาลาทรงประพาส พื้นตาดเครื่องทอง ทำในกรุงกัมพูชา สำหรับทรงเลียบพระนครกระบวรช้าง ดูก็ชอบกลอยู่"

Photo - พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์กับพระมาลาเสร้าสะเทิน

พระมงกุฎลงยาเป็นศิลปะไทยอย่างชัดเจน ได้ใช้กันมาจนถึงการราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต

หลังจากนั้นกัมพูชาเกิดความวุ่นวายทางการเมือง คือสงครามกลางเมือง การยึดอำนาจของ ลอน นอล และการครองอำนาจของเขมรแดง ในช่วงเวลาที่การยึดอำนาจของ ลอน นอล เมื่อปี พ.ศ. 2513 ว่ากันว่าเครื่องต้น/เครื่องราชูปโภคได้สูญหายไปจากไปพระราชวัง

ครั้นถึงการราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี มีการตั้งข้อสังเกตว่าเครื่องราชูปโภคและเครื่องต้นของเจ้าเขมรนั้น "ฝีมือดูหยาบ" ไม่เหมือนของเดิมที่ได้รับพระราชทานมาจากกรุงเทพฯ น่าจะเครื่องยืนยันได้ว่าเครื่องต้น/เครื่องราชูปโภคของเดิมที่ได้จากไทยนั้น ได้สูญไปหมดแล้ว

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก The Better

มส.เห็นชอบแก้กฎนิคหกรรม เร่งพิจารณา "ปาราชิกพระเสพเมถุน" ให้จบใน 10 วัน

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

"แพทองธาร" ซัด "ฮุน เซน" เคลมวาทะ "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" ชี้เหมือนตอนปล่อยคลิป

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความต่างประเทศอื่น ๆ

เหตุ ‘เหมืองหยก’ ถล่มในเมียนมา มีคนติดค้างราว 20 ราย

Xinhua

อินโดฯ เผยแบบสร้าง ‘อาคารต้านแผ่นดินไหว’ หวังบรรเทาภัยเสี่ยง

Xinhua

ชาวปาเลสไตน์รุมเบียดรับอาหารในกาซา

Xinhua

วารสารเนเจอร์ชี้ โมเดลเอไอจีน Kimi K2 ศักยภาพสูงเทียบเคียงดีปซีก

Xinhua

กองทัพ ‘ลาว-ไทย’ มุ่งเสริมแกร่งความร่วมมือการทหาร

Xinhua

พัฒนาการ ‘ทุเรียนซานย่า’ ก้าวหน้า สะท้อนคุณภาพการเกษตรเขตร้อนของจีน

Xinhua

จีนห้าม ‘ผู้บริหารธนาคารสหรัฐฯ’ ออกนอกจีนชั่วคราว หลังพัวพันคดีอาญา

Xinhua

จุดชมวิว ‘ทะเลสาบสามสี’ ธรรมชาติงามแดนหลังคาโลก

Xinhua

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...