โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ยานยนต์

รวมมาให้ดู สุดยอดห้องโดยสารจากอดีตถึงปัจจุบัน

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

อัพเดต 15 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 14 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ภาพไฮไลต์

รถยนต์ในอดีต ส่วนใหญ่มักจะมาพร้อมกับเส้นสายที่โฉบเฉี่ยว โครเมียมแวววาว เครื่องยนต์ทรงพลัง เปรียบเสมือนตำนานที่ทำให้นึกย้อนหวนคืนกลับไปสู่อดีต ลองนึกภาพการขับขี่อย่างมีสไตล์บนท้องถนนไปกับผลงานชิ้นเอกอันเป็นเอกลักษณ์

Mercedes 280SL Pagoda 1965

นี่คือเบนซ์สปอร์ตที่มี Cockpit สวยที่สุดตลอดกาล ห้องโดยสารสุดคลาสสิกและถูกต้องตามหลักสรีรศาสตร์ของ SL Pagoda การจัดวางแดชบอร์ด คอนโซล มาตรวัด ปุ่มและสวิตช์ต่างๆ รวมถึงพวงมาลัยและเบาะนั่งอยู่ในมาตรฐานที่สูงส่งของแบรนด์ตราดาวในอดีต ช่องแอร์ วิทยุ จัดวางอย่างชาญฉลาด หน้าปัดที่ชัดเจนราวกับนาฬิกาโครโนกราฟราคาแพง เป็นแบบอย่างของความสุขตามหลักสรีรศาสตร์ที่ยากจะลอกเลียนแบบ แน่นอนว่า Mercedes 280SL Pagoda เป็นรถยนต์คุณภาพสูงสำหรับสังคมชั้นสูง ตอกย้ำชื่อเสียงของ Mercedes ในด้านคุณภาพและงานฝีมือในยุคที่แบรนด์ตราดาวรุ่งเรืองสุดขีด แนวคิดของรถเปิดหลังคาในตลาดระดับสูง ทำให้ Pagoda ดูเหนือกาลเวลามากกว่า CLA-Class รุ่นปัจจุบันที่เน้นจอไวด์สกรีนจนละลานตาไปหมด!

BMW Series-5 E39 1997
ยุคที่เรียบง่ายของอุปกรณ์ ก่อกำเนิด iDrive ในยุคที่ BMW ได้พัฒนาดีไซน์ของรถซาลูนสปอร์ตสุดหรูให้สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง E39 Series-5 ไร้ซึ่งลูกเล่นที่แพรวพราว มันดูเคร่งขรึมและเอาจริง ด้วยแดชบอร์ดที่เข้ากับยุคสมัยในช่วงปี 1998 พวงมาลัยทรงกลม หน้าปัดมาตรวัดคลาสสิกที่อ่านได้จากเบาะหลังผ่านตาที่ไม่ต้องใส่แว่นขยาย คอนโซลหน้ารถที่ทำมุมพอดีสำหรับตำแหน่งคนขับซึ่งถูกออกแบบให้เป็นจุดศูนย์กลางของการควบคุม ไม่มีที่วางแขนแบบปรับอุณหภูมิ หรือไฟตกแต่ง 64 สีที่เรืองรองในยามค่ำคืนของ G60 รุ่นใหม่ E39 ยังเกิดมาในยุคที่แท่นชาร์จแท็บมือถือสายกลายเป็นของไร้สาระ E39 เข้าสู่ความเก่าแก่แบบเลี่ยงไม่ได้ แม้ภายในจะหล่อ แต่การใช้งาน E39 มักตามมาด้วยปัญหานานับประการจากการโหมสารพัดอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์จนทำให้มันเป็นรถที่รวนง่ายและซ่อมไม่จบ!

Audi TT MK1 1998
นี่คือรถคลาสสิกสมัยใหม่อย่างแท้จริง ภายในห้องโดยสารของ TT ออกแบบโดย Romulus Rost ดีไซน์เนอร์ที่มีแนวคิดรุดหน้า Rost ยังเป็นผู้คิดค้นการตกแต่งภายในของ Bentley Continental GT รถคูเป้คันโตที่สมบูรณ์แบบด้วยแผงหน้าปัด Toblerone แบบหมุนได้ ฝาครอบวิทยุ เบาะที่เย็บตะเข็บแบบลูกเบสบอลกลายเป็นเอกลักษณ์ที่น่าจดจำของ TT รุ่นแรกสุด ช่องแอร์เป็นปุ่มนูน เสาค้ำรอบแผงหน้าปัดที่แแหวกแนว TT คือรถที่ทำให้โลกยนตรกรรมตื่นตะลึงกับการออกแบบภายในของ Audi ยุค 1998

Ferrari 250 GTO 1962
ม้าลำพอง Ferrari ผลิต 250 GTO แค่หยิบมือเดียวเท่านั้น 250GTO จำนวนสามสิบหกคัน ออกจากสายการผลิตตั้งแต่ปี 1962 ถึง 1964 ส่วนใหญ่เพื่อการรับรอง (Homologation) สำหรับการแข่งขัน FIA Group 3 Grand Touring Car รหัส 250 หมายถึงปริมาตรกระบอกสูบเป็นลูกบาศก์เซนติเมตรของเครื่องยนต์ 12 สูบ และ "GTO" ย่อมาจาก Gran Turismo Omologato (ภาษาอิตาลี แปลว่า "Grand Touring Homologated") ในบรรดารถ 36 คันที่สร้างขึ้นนั้น 33 คันแรกใช้ตัวถัง Series I ปี 1962-1963 ส่วนรถ 250 GTO รุ่นปี 1964 ทั้งสามคัน ใช้ตัวถัง Series II (250 LM-like) ในปี 1964 รถ Series I สี่คันได้รับการปรับปรุงด้วยการเปลี่ยนตัวถังให้เป็น Series II

ประตูอะลูมิเนียมน้ำหนักเบา คุณภาพของการปิดประตูและบานพับที่เรียบร้อยสุด เบาะไม่สามารถเลื่อนเพื่อปรับตำแหน่งได้ เนื่องจากรถแต่ละคันถูกสร้างขึ้นมาตามสั่งโดยเฉพาะสำหรับสรีระของนักแข่งแต่ละคน ภายใต้ข้อจำกัดของหลักสรีรศาสตร์แบบอิตาลีที่สืบทอดกันมากว่า 60 ปี GTO มีท่านั่งที่ต่ำเตี้ย มองขึ้นไปเหนือฝากระโปรงหน้าอันโอ่อ่า คนขับ นั่งอยู่ในตำแหน่งที่เกือบจะตรงกับเพลาหลัง คันเกียร์ยกขึ้นสูงจากพื้นจนถึงระดับหน้าอกคล้ายคันเกียร์ของรถเมล์สาย 8 ในยุคแรก แป้นคันเร่งที่เพรียวบาง ทำให้คนขับอาจจะลงเอยด้วยการใส่ถุงเท้าขับรถ 250 GTO มีตำแหน่งการขับที่สมบูรณ์แบบ 250 แสดงให้เห็นว่าภายในรถดูหรูหราและเกินจริงมากแค่ไหน หน้าปัดที่งดงาม ทุกหน่วยวัดเป็นภาษาอิตาลี มาตรวัดรอบเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ มาตรวัดความเร็ว (พร้อมเข็มบอกความเร็วที่แม่นยำสุดติ่ง) แผงหน้าปัดที่เพรียวบาง แสดงให้เห็นว่าความเรียบง่ายนั้นไม่เคยตกยุค ช่องแอร์จะเปิดลมเย็นมาจากผนังด้านหลังแทนที่จะไปรบกวนแผงหน้าปัด และระบบก็ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระจกมองข้างกลับไร้ประโยชน์ เบาะนั่งที่เย็บอย่างแน่นหนา ออกแบบให้คล้ายการตกแต่งภายในของ SWB รุ่นปี 1960 ดั้งเดิมได้อย่างสมบูรณ์แบบ GTO ทุกคัน ยังมาพร้อมกับถังดับเพลิงและชุดเครื่องมือช่างประทับตราม้าลำพอง

Mercedes-Benz 300 SL Gull Wing 1954
300SL พัฒนาต่อยอดจากรถแข่ง W194 ปี 1952 ของ Mercedes-Benz ผลิตขึ้นเป็นรถคูเป้ประตูแบบปีกนก ตั้งแต่ปี 1954 ถึง 1957 ส่วนรุ่นเปิดประทุน เปิดตัวตามมาในปี 1957 ถึง 1963 Mercedes 300SL ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เบนซิน 6 สูบแถวเรียง ความจุ 3.0 ลิตร 240 แรงม้า ระบบหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงไดเรคอินเจคชัน นับเป็นรถยนต์ที่วิ่งได้เร็วที่สุดในยุคนั้น แม็กซ์ ฮอฟฟ์แมน ผู้นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ได้โน้มน้าวให้ฝ่ายบริหารของแบรนด์ตราดาว สร้างรถยนต์อันน่าทึ่งคันนี้ขึ้นมาเพื่อขายให้กับเศรษฐีและดาราในอเมริกา 300 SL เปิดตัวที่นิวยอร์กซิตี้ (แทนที่จะเป็นในยุโรป) ในปี 1954 เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าคนรวยในสหรัฐอเมริกาอเมริกา เข้าถึงรถได้เร็วขึ้น SL ย่อมาจาก "super-light" (superleicht ในภาษาเยอรมัน) ซึ่งหมายถึงโครงสร้างแบบท่อเฟรมที่พัฒนามาจากรถแข่ง M-B ผลิต 300SL คูเป้จำนวน 1,400 คัน ก่อนที่จะเปลี่ยนมาผลิตเป็นรถเปิดประทุนในปี 1957

ปัจจุบัน 300SL เป็นรถมีราคาในการประมูลสูงเกิน 70-80 ล้านบาท การบูรณะต้องใช้งบประมาณมหาศาล แต่มูลค่าของรถหลังการซ่อมบำรุงทุกระบบทำให้เป็นที่หมายปองของมหาเศรษฐีนักสะสมรถโบราณ ภายใน มีสวิตช์เกียร์ที่ยอดเยี่ยม เบาะหนังแท้นุ่มสบาย พวงมาลัยสีงาช้างวงใหญ่มีขอบเรียวบาง มาตรวัดทุกตำแหน่ง เหมือนนาฬิกาสวิชที่โชว์ความละเอียดอ่อนของกลไก คันเกียร์สูงโด่ง พร้อมหัวเกียร์สีขาวพรมปูพื้น German Square Weave สีแดง น้ำตาล หรือสีใข่ไก่ เพื่อให้ภายในดูสว่างและใหม่ขึ้น นอกจากนี้ ตำแหน่งติดตั้งกระจกมองหลังของรุ่นคูเป้แเละปิดประทุนยังย้ายตำแหน่งมาติดตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางของแดชบอร์ดเพื่อการมองที่คมชัดและไม่เกะกะส่วนบนของหลังคา

Porsche 911 1964
911 เปิดตัวครั้งแรกในปี 1964 หรือกว่า 61 ปีมาแล้ว ถือเป็นการพัฒนาครั้งสำคัญเหนือรถรุ่นพี่อย่าง 356 คูเป้และเปิดประทุนของ Porsche ที่แม้จะดูน่ารักแต่ก็ให้ความรู้สึกเหมือนรถโฟรค์สปอร์ตมากกว่าจะเป็น Porsche คณะผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์คลาสสิกยืนยันว่า 911 ได้พิสูจน์คุณค่าของงานศิลป ผ่านวิวัฒนาการอันยอดเยี่ยม จากรูปลักษณ์พื้นฐานแบบเดียวกันนี้ ยาวนานมาถึง 61 ปีแล้ว ความท้าทายที่ดีไซน์เนอร์ 911 จะต้องเผชิญในทุกยุคทุกสมัย ในการสร้าง 911 รุ่นใหม่ ให้ดูสดใหม่และโดดเด่นอยู่เสมอ โดยพื้นฐานแล้ว 911 ยังคงให้ความรู้สึกเชื่อมโยงกันในทุกเจเนอเรชัน นักออกแบบสามารถเอาชนะความท้าทายด้วยห้องโดยสารที่ไร้กาลเวลา

ห้องโดยสารฉีกความซ้ำซากจำเจของรถยนต์ในยุคเบบี้บูม ด้วยแดชบอร์ดที่โค้งขึ้นด้านบนเล็กน้อยตรงขอบมาตรวัด อุปกรณ์การวัดของ 911 โฉมแรกนั้น มีมาตรวัดเรียงกันเป็นตับถึง 5 ตำแหน่ง พวงมาลัยหุ้มไม้แบบสี่ก้าน ไม่มีสวิชท์อะไรทั้งสิ้นซึ่งถือว่าดีมากเมื่อคุณพยายามหมุนพวงมาลัยอย่างรวดเร็วเพื่อแก้อาการท้ายปัดซึ่งถือเป็นสันดานดิบของ 911 ในยุคแรกเริ่ม ด้านล่างของแดชบอร์ดคอนโซล ตกแต่งด้วยงานไม้วอลนัทซึ่งใช้ไม้จริงไม่ใช่วัสดุสังเคราะห์ที่เลียนแบบไม้แท้ๆ ตราสัญลักษณ์ 911 ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตลอด 61 ปี เบาะหนังแท้โอบกระชับแต่นั่งสบาย ปรับท่าทางได้ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร แต่ในยุคนั้นก็ถือว่าดีมากแล้ว ที่เจ๋งมากก็คือ ตำแหน่งท่านั่งของคนขับที่เสพอารมณ์มอเตอร์สปอร์ตได้อย่างไม่คาดคิด

Chevrolet Corvette Sting Ray Split-Window Coupe (1963)
Corvette เจเนอเรชั่นที่สอง สร้างความตกตะลึงให้กับสาธารณชนเมื่อปรากฏตัวขึ้นในงานแสดงรถยนต์ปี 1963 ที่อเมริกา Corvette Sting Ray Split-Window Coupe มีทรวดทรงองค์เอวเหมือนจะมาจากนอกโลก ทุกเส้นสายมีความคมชัดรอบเข็มขัดที่แยกส่วนบนออกจากส่วนล่าง รูปทรงแอโรไดนามิกเหนือล้อที่ล้ำอนาคต Chevrolet Corvette Sting Ray ใช้พวงมาลัยพาวเวอร์ Saginaw แบบใหม่ในปี 1963 หมุนได้สามรอบแบบล็อกต่อล็อก ให้สัมผัสการขับขี่นุ่มนวลสบายเท้า ลดปัญหาการจอดรถและการควบคุมรถในพื้นที่แคบได้อย่างหมดจด พวงมาลัย มีน้ำหนักเบามากเมื่อเทียบกับ Corvette รุ่นก่อนหน้า จนแทบไม่ต้องใช้ระบบช่วยผ่อนแรง แม้ว่าระบบส่งกำลังจะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับที่ Rover และ Mercedes-Benz ใช้ ทั้งในด้านการตอบสนองและความรู้สึกขณะขับขี่ แปลกที่ Chevrolet นำระบบนี้มาใช้เมื่อมันเริ่มจะเก่า แกนพวงมาลัยสามารถปรับความยาวได้สามนิ้ว การปรับเบาะนั่งถูกออกแบบให้สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ระยะยุบตัวของพวงมาลัยอยู่ที่สี่นิ้ว มุมพนักพิงสามารถปรับได้โดยการขันสกรูที่ฐานรองรับพื้นเท่านั้น ตำแหน่งความสูงของเบาะนั่ง มีระยะห่างรวม 1.24 นิ้ว

เมื่อเปรียบเทียบกับ Corvette รุ่นแรกสุด เจ้าปลากระเบน Sting Ray ได้รับการปรับปรุงในเกือบทุกด้านเท่าที่จะจินตนาการได้ ทั้งสมรรถนะ การควบคุมรถ ความสะดวกสบาย พื้นที่ใช้สอย และพื้นที่เก็บสัมภาระท้ายรถ เจ้าของรถสามารถเข้าถึงพื้นที่เก็บสัมภาระท้ายรถได้จากภายในรถเท่านั้น เนื่องจากท้ายรถมีถังน้ำมันและล้ออะไหล่ แต่พื้นที่เก็บของด้านหลังเบาะนั่งกลับมีขนาดใหญ่กว่าที่บ่งบอกไว้ในคู่มือ พัดลมโบรเออร์แอร์ทำความเย็นมีสามระดับความเร็ว สามารถปรับการไหลของอากาศได้ด้วยการควบคุมแบบ Push-Pull มือจับประตูทรงลูกบอล ปุ่มล็อกประตูแบบล้อเลื่อน ตำแหน่งของตัวปรับกระจกหน้าต่างไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เพราะไม่สามารถวางเข่าพิงแผงประตูเพื่อทรงตัวได้เมื่อต้องเลี้ยวกะทันหันโดยไม่ให้มือจับกระจกหน้าต่างมาสัมผัส กระปุกเกียร์ Warner T-10 รุ่นใหม่ มีซินโครเมชที่ไร้ข้อบกพร่อง เมื่อใช้งานจนเต็มประสิทธิภาพ คลัตช์มีน้ำหนักเบาหวิว คือข้อเท็จจริงในคู่มือของเจ้าของรถที่ระบุว่าต้องใช้คลัตช์คู่สำหรับการลดเกียร์การใช้คลัตช์คู่จะทำให้ซินโครเมชสึกหรอเร็ว ซึ่งจะเป็นความจริงก็ต่อเมื่อเครื่องยนต์เร่งความเร็วมากจนซินโครเมชต้องทำงานหนักกว่าการเปลี่ยนเกียร์ด้วยคลัตช์เดี่ยวในการลดเกียร์

Lamborghini Miura P400/P400S (1967–1971)
Lamborghini Miura P400 เป็นกระทิงเครื่องยนต์วางกลางรุ่นแรกของแบรนด์วัวเถื่อน มันสร้างความตกตะลึงให้กับโลกยนตรกรรมเมื่อ Miura P400 เข้าสู่สายการผลิตในช่วงปลายทศวรรษ 1960 Miura ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ V-12 ขนาด 3.9 ลิตร กำลัง 345 แรงม้า ในยุคนั้น ถือเป็นรถยนต์ที่เร็วที่สุดในโลก และยังคงรักษามาตรฐานไว้ได้จนถึงปี 1973 ด้วยการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะ ราคาขาย 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1967 หรือกว่า 58 ปีมาแล้ว ถือว่าโคตรแพง Lamborghini ผลิต P400 จำนวน 275 จนถึงปี 1969 และผลิต P400S ที่ได้รับการปรับปรุงอีก 338 คัน) การผลิตอยู่ในระหว่างปี 1968 ถึง 1971 ภายในของ Miura P400 ปี 1967 ติดตั้งแผงหน้าปัดที่เรียบง่ายสะอาดตา เบาะหนังอ่อนนุ่มดูหรูหรา พวงมาลัยสปอร์ตคลาสสิก แผงหน้าปัดมีมาตรวัดและสวิตช์ต่างๆ เยอะพอๆกับอากาศยาน เบาะนั่งได้รับการออกแบบเพื่อมอบความสะดวกสบาย โดยรวมแล้ว Lamborghini Miura P400 ปี 1969 คือผลงานชิ้นเอกทางวิศวกรรมยานยนต์ ด้วยรายละเอียดทางเทคนิคและดีไซน์ที่ผสานกันอย่างลงตัว จนกลายเป็นหนึ่งในซูเปอร์คาร์ที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องยนต์ V12 อันทรงพลัง การจัดวางแนวขวางอันเป็นเอกลักษณ์ รูปทรงแอโรไดนามิกและการตกแต่งภายในที่หรูหรา Miura P400 ได้ปูทางไปสู่ซูเปอร์คาร์สมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาสถานะอันเป็นตำนานเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

BMW i5 M60. (G60)
ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มีความโดดเด่นi5 M60 มาพร้อมห้องโดยสารที่หรูหราโอ่อ่าคล้ายกับ 7-Series ย่อส่วนลงมาเล็กน้อย i5 M60 เพิ่มความสบายด้วยเบาะนั่งแบบ Comfort Seat หุ้มด้วยหนัง BMW Individual Merino ระบบช่วยเหลือการขับขี่ (Driving Assistant) แบบ Professional ระบบเสียง IconicSounds Electric สัมผัสกับเสียงการขับอันเป็นเอกลักษณ์ ระบบเสียงรอบทิศทางจากแบรนด์เครื่องเสียง Bowers & Wilkins งานตกแต่งภายในและอุปกรณ์ต่างๆ มุ่งไปที่การเสริมความสะดวกสบายอย่างเต็มเหนี่ยว 5er รุ่นใหม่พลังไฟฟ้า ยังคงสร้างบรรยากาศหรูหราคล้าย 7er รุ่นพี่ เพียงแต่ไม่มีเบาะหลังที่ปรับเอนนอนได้เท่านั้น แถบ BMW Interaction Bar ช่วยให้ผู้ขับขี่ควบคุมรถยนต์ได้ดียิ่งขึ้น ผสานฟังก์ชันควบคุมชุดไฟส่องสว่าง ปรับแต่งบรรยากาศในห้องโดยสารด้วยไฟตกแต่ง Ambient Light ที่สวยงามแปลกตา ดูทันสมัย และแตกต่างไปจากงานตกแต่งของรถคู่แข่งอย่างสิ้นเชิงคุณสามารถปรับสภาวะของแสงจากหลอด LED ได้ตามต้องการ เบาะนั่ง Comfort ทั้งผู้ขับขี่ ผู้โดยสารตอนหน้า ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ 4 โซน เพิ่มการไหลเวียนอากาศในห้องโดยสาร วัสดุบุหลังคา Alcantara แดชบอร์ดตกแต่งด้วยวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ ถักด้วยวัสดุสีเงินแบบ M คอนโซลกลางสีดำเงา Piano Finish Black สื่อยานยนต์หลายสำนักทั้งไทยและเทศต่างลงความเห็นให้ห้องโดยสารของ New Series-5 G60 เป็นค็อกพิตที่สวยงามที่สุด ตั้งแต่ BMW เริ่มสายการผลิตรถยนต์ในตระกูล 5 Series รหัส e12 เมื่อปี 1975 (พ.ศ. 2512) หรือกว่า 55 ปีมาแล้ว

เบาะนั่งด้านหน้าแบบพิเศษ BMW Individual Merino สีน้ำตาล Copper/เทา Atlas กระจกหลังคา Panoramic Roof ผลิตด้วยเทคนิคพิเศษ, สวิตช์ปรับตั้งต่างๆ ทั้ง ปุ่ม iDrive สวิตช์คันเกียร์ ปุ่มควบคุมระดับเสียงของลำโพง ทำจากกระจกแก้วคริสตัลทั้งหมด, ม่านไฟฟ้าทั้งแบบแมนนวลและไฟฟ้า, ระบบเสียง Bowers & Wilkins ที่อัปเกรดกรวยลำโพงอะลูมิเนียมใหม่ แต่ ประตูดูดนั้นหายไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรตัดออกอย่างยิ่ง งานตกแต่งภายในของ New 5 Series เป็นแนวทาง Luxury ของรถเยอรมันสายหรูที่มักจะขยายขอบเขตการใช้งานด้วยเทคโนโลยีอนาคต และ ณ ตอนนี้ BMW Operating System 8.5 หรือ OS 8.5 ดึงความสนใจของคนขับมากกว่าเดิม แต่ควรปรับตั้งอะไรต่อมิอะไรซึ่งมากเกินบรรยายให้ลงตัว ก่อนที่จะใส่เกียร์ D เพื่อเคลื่อนที่เดินทาง

สิ่งที่น่าสนใจกับห้องโดยสารไม่ใช่ปริมาณพื้นที่ แต่เป็นการออกแบบแผงด้านหน้า จอแสดงผล BMW Curved Display สองจอ (12.3 นิ้วและ 14.9 นิ้ว) เชื่อมต่อกันและโค้งเล็กน้อย ช่องแอร์ซ่อนไว้อย่างเนียน เปลี่ยนเป็นช่องเล็กๆที่มองแทบไม่เห็น คอนโซลกลางมีองค์ประกอบของความแวววาว ด้วยชิ้นงานคริสตัล สองชิ้น - คันเกียร์และ iDrive ทรงกลม สำหรับควบคุมระบบมัลติมีเดีย องค์ประกอบที่น่าสนใจ คือ BMW Interaction Bar: แผงโปร่งแสงที่มีโครงสร้างคริสตัล สามารถส่องสว่างได้หลายสี ขึ้นอยู่กับโหมดการขับขี่ที่เลือก หรือการเปิดใช้งานไฟฉุกเฉิน แผงแท่งแก้วแนวนอนยังมีระบบควบคุมแบบสัมผัส เพื่อควบคุมความเข้มข้นของการไหลของอากาศผ่านช่องแอร์ จุดเด่นที่แท้จริงของห้องโดยสารเป็นโซลูชันที่ยอดเยี่ยม สวยงามและใช้งานได้จริง เบาะผู้โดยสารด้านหลัง ไม่มีระบบความบันเทิงมาให้ แต่มีพื้นที่เพียงพอ รวมถึงการเอนเบาะหลังได้ ระบบควบคุมอุณหภูมิแยก 4 โซน จุดติดตั้งแท็บเล็ตที่ด้านหลังของเบาะหน้า พอร์ต USB C เพิ่มเติม ช่องแอร์ที่เสากลาง ตะแกรงลำโพง B&W ตกแต่งเข้ากับแผงประตูดูสวยงาม ทุกอย่างทำขึ้นเพื่อให้คุณรู้สึกเหมือนเป็นรถซาลูนไซล์กลางระดับไฮเอนด์ แต่ Series-5 G60 ยังคงให้ความเคารพยำเกรง ไม่ก้าวข้ามขอบเขตความหรูของเรือธง 7 Series.

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : รวมมาให้ดู สุดยอดห้องโดยสารจากอดีตถึงปัจจุบัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

ดูดวงรายวัน ประจำวันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม 2568

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ศบ.ทก. เรียกถกด่วน หารือมาตรการตอบโต้เขมร หลังกองทัพภาค 2 สั่งปิดด่าน

2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

เปิดประวัติ "ฮุน ซาเรือน" ทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย หลานชาย "ฮุน เซน"

2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

"กองทัพอากาศ" โพสต์ หลังทหารได้รับบาดเจ็บ 5 นาย เหยียบระเบิดที่ช่องอานม้า

2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความยานยนต์อื่น ๆ

ด่วน! มิตซูบิชิ ปิดฉาก 40 ปีในจีน หลังสู้รถจีนไม่ไหว

สยามคาร์ - Siamcar

คู่แข่ง Ferrari ล่าสุด Great Wall Motor แย้มภาพรถซูเปอร์คาร์ สัญชาติจีน

สยามคาร์ - Siamcar

ไขข้อสงสัย! เติมน้ำมัน E20 เพียงอย่างเดียว จะทำให้เครื่องยนต์พังไหม?

สยามคาร์ - Siamcar

ล่าสุด! โดนัลด์ ทรัมป์ ปิดดีลญี่ปุ่น ภาษีเหลือ 15% จาก 25% รวมรถยนต์ ชิ้นส่วน ฟิลิปปินส์ 19%

สยามคาร์ - Siamcar

มาสด้า เปิดแผน 3 ปี 5 รุ่น ครบ EV–PHEV–ไฮบริด ยัน ICE ไม่ตายแค่ปรับตัว ชูไทยฐานผลิตส่งออก

Manager Online

รีวิว Ford Ranger Raptor 2025 ลุยทาง On-Road และ Off-Road ขับชิลๆ ไม่ค่อยสะเทือน

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

ดีป้า แจงกระบวนการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ ODOS Summer Camp ย้ำยึดหลัก ‘ความโปร่งใส เสมอภาค ตรวจสอบได้’

Manager Online

AIS ผนึกกำลัง กสทช. กทม. การไฟฟ้านครหลวง และสมาคมโทรคมนาคม เดินหน้าภารกิจจัดระเบียบสายสื่อสารบริเวณถนนงามวงศ์วาน

Manager Online

ข่าวและบทความยอดนิยม

เปิดจักรวาลของคนรักโมเดลใน Thailand Diecast Expo 19–20 ก.ค. นี้ ที่เซ็นทรัลลาดพร้าว

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

ลาก 10,000 รอบ ในพริบตา กระทิงนักแข่ง Lamborghini Temerario GT3

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

Toyota Blade Master เมื่อพี่โตฯทำแฮทช์แบ็คโครงสร้าง Altis ที่วางเครื่อง V6 3.5

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์
ดูเพิ่ม
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...