จับตา “ดีลทรัมป์” สหรัฐฯ-จีนจ่อขยายเส้นตายภาษี 12 ส.ค.
รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินเกมรุกครั้งใหม่อีกระลอก โดยสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทั้งจีนและสหรัฐฯ จะเดินทางไปหารือกันที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในสัปดาห์หน้า เพื่อพูดคุยเรื่องการขยายเส้นตายการเจรจาข้อตกลงการค้า ที่มีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 12 สิงหาคมนี้ ซึ่งอาจเป็นการชี้ชะตาว่าความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจโลกจะผ่อนคลายลงหรือกลับเข้าสู่ภาวะสงครามการค้าอีกครั้ง
เบสเซนต์ระบุว่า “ผมคิดว่าเรากำลังอยู่ในสถานะที่ดีมากกับจีน” พร้อมเปิดเผยว่าการพูดคุยกับฝ่ายจีนในสตอกโฮล์มจะเน้นไปที่การปรับสมดุลความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะความพยายามผลักดันให้จีนลดการพึ่งพาการผลิตเพื่อการส่งออก และเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภายในประเทศแทน
ขณะเดียวกัน ทรัมป์เดินหน้าเปิดเกมการค้าครั้งใหม่กับประเทศอื่น โดยประกาศอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากฟิลิปปินส์ที่ 19% หลังการเยือนทำเนียบขาวของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ แต่ยืนยันว่าจะไม่มีภาษีสินค้าสหรัฐฯ ที่ส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ ตามมาด้วยการเปิดเผยรายละเอียดข้อตกลงกับอินโดนีเซีย ซึ่งลดอัตราภาษีนำเข้าจาก 32% เหลือ 19% และอินโดนีเซียจะต้องยกเลิกกำแพงภาษีและอุปสรรคทางการค้าอื่น ๆ สำหรับสินค้าสหรัฐฯ ส่วนใหญ่
ในฝั่งยุโรป นายกรัฐมนตรีอุล์ฟ คริสเตอร์ชอน ของสวีเดน ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยระบุผ่านโพสต์ใน X ว่า “เป็นเรื่องดีที่ทั้งสองประเทศต้องการมาพบกันที่สวีเดนเพื่อแสวงหาความเข้าใจร่วมกัน เพราะสิ่งนี้สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก”
การเจรจาในสตอกโฮล์มถือเป็นภาคต่อจากความพยายามของเบสเซนต์และเหอ ลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีจีน ที่พบกันไปแล้วสองครั้งในเจนีวาและลอนดอน เพื่อวางรากฐานของข้อตกลงชั่วคราวที่ลดระดับมาตรการภาษีตอบโต้ที่พุ่งสูงจนเกือบตัดการค้าระหว่างกันโดยสิ้นเชิง โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และจีน เข้าร่วมด้วย
จนถึงขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นที่จีนจะยุติการห้ามส่งออกแร่หายากและแม่เหล็กไปยังสหรัฐฯ ขณะที่สหรัฐฯ จะกลับมาส่งออกซอฟต์แวร์ออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ เครื่องยนต์เครื่องบินพาณิชย์ และวัตถุดิบอื่น ๆ ให้กับจีนอีกครั้ง โดยทั้งสองฝ่ายให้เวลา 90 วันในการเจรจาประเด็นที่ลึกลงไป เช่น ข้อร้องเรียนของสหรัฐฯ ที่ระบุว่าระบบเศรษฐกิจแบบอุดหนุนและขับเคลื่อนด้วยการส่งออกของจีน ทำให้เกิดกำลังการผลิตส่วนเกิน และถล่มตลาดโลกด้วยสินค้าราคาถูก ขณะที่จีนปฏิเสธว่าไม่เคยอุดหนุนอุตสาหกรรม และความสำเร็จของการส่งออกเป็นผลจาก “นวัตกรรม”
หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงหรือขยายเวลาการเจรจาได้ทันเวลา สหรัฐฯ อาจกลับมาใช้ภาษีนำเข้าสูงถึง 145% ส่วนจีนก็เตรียมตอบโต้ด้วยภาษีในอัตรา 125% โดยเบสเซนต์ระบุว่า การหารือที่กำลังจะมีขึ้นในสตอกโฮล์มมีแนวโน้มสูงว่าจะได้ข้อสรุปในการ “ขยายเวลาเจรจา”
นอกจากนี้ เบสเซนต์ยังเผยว่าสหรัฐฯ จะใช้เวทีนี้ในการส่งสัญญาณเตือนไปยังจีนเรื่องการซื้อพลังงานจากรัสเซียและอิหร่าน ท่ามกลางความพยายามของวอชิงตันในการจำกัดรายได้ของรัสเซียจากการส่งออกน้ำมันเพื่อไม่ให้ใช้เป็นทุนในการทำสงครามกับยูเครน โดยเบสเซนต์ชี้ว่าขณะนี้มีเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาสหรัฐฯ อย่างกว้างขวางในการเสนอร่างกฎหมายที่จะเก็บภาษีนำเข้า 100% กับสินค้าจากประเทศที่ยังคงซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ซึ่งรวมถึงจีนและอินเดีย
“ผมจะประสานกับฝ่ายยุโรปด้วย เพราะหลายประเทศในยุโรปพูดถึงการคว่ำบาตรรัสเซียมาตลอด และถึงเวลาแล้วที่ยุโรปจะต้องกล้าใช้มาตรการภาษีระดับสูงแบบเดียวกัน” เบสเซนต์กล่าว