'อภิสิทธิ์' เสนอผ่าทางตัน 2 เรื่อง รื้อใหญ่โครงสร้างเศรษฐกิจไทย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์พิเศษในรายการ "Exclusive Talk ผ่าทางตันประเทศไทย" เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี เครือเนชั่นเมื่อค่ำวันที่ 23 ก.ค.68 ระบุอย่างชัดเจนว่า เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาโครงสร้างที่สะสมมากว่าหนึ่งทศวรรษ ไม่ใช่แค่วิกฤตเฉพาะหน้าจากปัจจัยภายนอก และเสนอแนวทางแก้ไข 2 เรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือการปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบทั้งระบบ และการยกระดับทักษะแรงงานไทยให้ทันสมัย
วิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจโครงสร้างที่สะสมมานาน
อดีตนายกฯ เริ่มต้นการวิเคราะห์ด้วยการชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างปัญหาเศรษฐกิจปัจจุบันกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551-2552 ที่เขาเคยผ่านมาในฐานะผู้นำประเทศ โดยวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นวิกฤตเฉียบพลัน เพราะทุนสำรองหมด ธนาคารสถาบันการเงินมีปัญหา มันมีสูตรการแก้อยู่แล้ว แต่แก้แล้วเจ็บ ตอนแฮมเบอร์เกอร์ การเงินเราโอเค ไม่ได้กระทบ แต่ท่องเที่ยวหาย ส่งออกหาย
แต่ปัญหาที่เผชิญอยู่ในปัจจุบันมีลักษณะที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า สภาวะที่เราเผชิญอยู่นี้ มันไม่เป็นวิกฤต แต่มันซึมลงมาเรื่อยเรื่อย ซึมลงมาเรื่อยเรื่อยจนเราก็ไม่มีความตื่นตัวที่จะบอกว่า 'เฮ้ย มันไม่ได้แล้ว' เพราะเราชินชาลงไปเรื่อยเรื่อย"
"เมื่อก่อนสมมติสมัยที่คุณยังหนุ่ม พอมีนายกฯมาบอกว่า ปีนี้จะโต 3%' คุณยังโห่เลย เดี๋ยวนี้ถ้าคุณบอก 3% โห ดีใจ แสดงว่าเราชินชาไปแล้ว เราไปยอมรับว่าศักยภาพเราเหลือเท่านี้"
3 ปัญหาโครงสร้างหลัก
นายอภิสิทธิ์ ระบุปัญหาโครงสร้างหลัก 3 ประการที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการปรับตัว คือ 1. อัตราการเจริญเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพ ต่ำกว่าในอดีตมาก ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเกือบทั้งหมด และต่ำกว่าศักยภาพของประเทศอย่างแน่นอน
2. ความเหลื่อมล้ำที่ซ่อนอยู่ในตัวเลข อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจนี้ยังซ่อนความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหมายความว่าจริงๆ โตกี่เปอร์เซ็นต์ แต่เรามีคนจำนวนมากติดลบ ไม่ใช่โตแค่ 1 หรือ 2% แต่ติดลบ และ 3. ปัญหาหนี้ครัวเรือนและการบริโภค ซึ่งสะท้อนถึงการที่ประชาชนต้องพึ่พาหนี้เพื่อดำรงชีพ แม้เศรษฐกิจจะมีการเติบโต
"ทั้งหมดนี้ มันเป็นอาการที่บ่งบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องวัฏจักรทางเศรษฐกิจ คำตอบไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้า คำตอบไม่ใช่ว่ามีโครงการใดโครงการหนึ่งโผล่ขึ้นมา จะแลนด์บริดจ์ กาสิโน หรืออะไร แล้วมันจะไปได้"
2 ทางออกสำคัญสำหรับปัญหาโครงสร้าง
นายอภิสิทธิ์ เน้นว่าหากต้องการให้ประเทศไทย กลับไปแข่งขันในโลกที่มันเปลี่ยนไป 10 กว่าปีที่ผ่านมาแล้วเราไม่ได้ปรับตัว"จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาโครงสร้าง 2 เรื่องใหญ่ คือ
1. ปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบทั้งระบบ เพราะปัญหาปัจจุบัน ธุรกิจใหม่ไม่กล้ามา เรื่องของกฎหมายกฎกติกาทั้งหลายทั้งปวง เกี่ยวกับการทำธุรกิจ เพราะธุรกิจใหม่ๆ ไม่กล้ามา เนื่องจากไม่รู้ว่ากติกาเราคืออะไร พร้อมกับชี้ว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ไขได้ด้วยการปรับแก้กฎหมายทีละฉบับ เพราะมีกฎหมายล้าสมัยกว่า 400 ฉบับ และใช้เวลานานเกินไป
นายอภิสิทธิ์ เสนอว่า ต้องเปลี่ยนหลักคิดในการออกกฎหมาย ที่กำลังต้องการนวัตกรรมในเรื่องการมีกฎหมายที่จะออกมาให้ครอบคลุมเกี่ยวกับการปรับแก้ระบบ การอนุญาตธุรกิจให้เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งเรายังไม่คุ้นเคย ถ้าเรายังคิดว่ามีธุรกิจใหม่เข้ามา สมมติเรื่องเอไอ แปลว่าต้องมีกฎหมายควบคุมเอไอ แล้วต้องมานั่งเขียนกัน ไปศึกษารายละเอียดเอไอเป็นยังไง มันไม่ใช่
"หลักคิดต้องกลับไปว่าใครอยากมาทำอะไรใหม่ๆ เบื้องต้นทำได้ แต่คุณทำได้มีเงื่อนไขว่าคุณห้ามทำแล้วเกิดผลดังต่อไปนี้ เช่น กระทบกระเทือนความมั่นคง ความปลอดภัย ทำการเอารัดเอาเปรียบ ใช้หลักทั่วไปอย่างงี้ กฎหมายมันต้องปรับอย่างงี้ ไม่งั้นวิ่งเท่าไหร่ก็ไม่ทันเทคโนโลยี"
อดีตนายกฯ ชี้ว่าการปฏิรูปไม่สามารถแก้ได้โดยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง และจริงๆ มันไปไกลกว่านั้น คือว่ามันต้องชวนฝ่ายค้านมาคิดด้วย เพราะมันเป็นเรื่องของกระบวนการนิติบัญญัติ เนื่องจากกฎหมายที่เสนอจะต้องมีการมอบหมายฝ่ายบริหารให้สามารถมาแก้บางสิ่งบางอย่างให้มันรวดเร็วและครอบคลุมได้ แต่มันเป็นการดึงอำนาจที่ปกติเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติ มันก็ต้องชวนทุกพรรคมาคุยกันว่ารัฐบาลจะกำหนดเป็นยังไง
2. ยกระดับทักษะแรงงานและดึงดูดความเชี่ยวชาญ
นายอภิสิทธิ์ เสนอแนวคิด "คูปองการศึกษา" แทนการแจกเงินสด พร้อมกับเล่าถึงนโยบายที่เคยเสนอเมื่อปี 2562 แทนที่จะแจกเงินหมื่น แจกคูปอง คนละหมื่น เอาคูปองต้องไปเรียนรู้ ต้องเอาคูปองไปเรียนภาษาต่างประเทศ อยากเรียนภาษาอังกฤษ อยากเรียนภาษาจีน อยากเรียนเอไอ อยากเรียนคอมพิวเตอร์ อยากเรียนทำบัญชี อยากเรียนเรื่องภาษี ระบบนี้จะมีคนที่โดยเฉพาะภาคธุรกิจ จัดอบรมพวกนี้ให้ รับคูปองมาขึ้นเงินกับรัฐบาล ใครไม่อยากเรียนรู้ก็เก็บคูปองไว้ที่บ้าน
อดีตนายกฯ เปรียบเทียบกับการแจกเงินสดที่ทำมาแล้วหลายครั้ง แจกมากี่รอบแล้ว พลเอกประยุทธ์ก็แจกมาไม่รู้กี่รอบ แล้วเรายังกลับมาที่เดิม เสพติดแล้วตอนนี้ ต้องรักษา
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ เสนอแนวคิดที่แตกต่างจากการดึงดูดนักลงทุน เพราะเรื่องทักษะ จริงๆ แล้วเราต้องยอมรับ ต่อให้เราทำเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เราก็ต้องใช้เวลา เราก็ยังตามไม่ทันหลายที่ คำถามคือ ทำไมเราไม่พยายามชักจูงคนเก่งให้มาอยู่ที่นี่
"เคยคิดบ้างมั้ยว่าอยากให้ต่างชาติมาถือที่ดิน จริงๆ เราไม่ได้ต้องการเงินเท่าต้องการหมอเขา เทคโนโลยีเขา เอาเข้ามา รัฐบาลก็พูดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ไม่รู้เท่าไหร่ เพราะเชื่อว่าเรามีดี เอาของดีไปขายโลก ไม่ว่ากัน แต่คิดในมุมกลับบ้าง ความดีที่เราเชื่อใน soft power เรา ความจริงมันเป็นแรงดึงดูดคนต่างชาติอยู่แล้ว คุณไปถามชาวต่างชาติทั่วโลกว่าถ้าคุณไม่ได้อยู่ประเทศคุณ คุณอยากอยู่ประเทศไหน ไทยอยู่ในอันดับต้นๆ"
ยกระดับภาคการเกษตรสู่ Smart Agriculture
นายอภิสิทธิ์ เน้นว่าในการมองแนวโน้มอนาคตก็มีไม่กี่เรื่อง เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ความเป็นธรรม การมีส่วนร่วม ซึ่งภาคการเกษตรต้องยกเครื่องทั้งหมด เพราะเราโชคดี อุดมสมบูรณ์มาตลอดเลย เราไม่เคยต้องดิ้นรนในการที่จะทำให้ภาคการเกษตรมีการเปลี่ยนแปลง เรามีข้าวกิน ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แต่ปัจจุบันเรากำลังจะต้องถูกเงื่อนไขต่างๆ เพิ่มขึ้นมาเยอะแยะไปหมด เพราะภาคการเกษตร ถัดจากภาคพลังงาน ก็คือภาคที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากเป็นอันดับ 2 ต่อจากภาคพลังงานขนส่ง
"เกษตรกรอายุเฉลี่ยเยอะมาก แล้วเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในครอบครัวเกษตรกรไม่ปรารถนาจะทำเกษตรแบบเดิม แต่ถ้ามันเป็นเกษตรที่สมาร์ท เอาเทคโนโลยีเข้ามา หนึ่งมันตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม สองมันเพิ่มผลิตภาพ สามมันทำให้คนในภาคการเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้น"
เมื่อมีข้อกังวลว่าเกษตรกรรายย่อยจะนำเทคโนโลยีมาใช้ไม่ได้ อดีตนายกฯ เสนอแนวทาง ทำไมคุณไม่คิดออกกติกาว่าถ้าคุณรวมตัวกัน หรือรัฐ หรือท้องถิ่นมาช่วยเป็นเจ้าของเครื่องจักรเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถให้คนรายเล็กรายน้อยมาใช้ได้ มันเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่เรายังวนเวียนกันอยู่เรื่องรายได้ ราคาไม่ดี จะสัปดาห์จะอุ้มไป ถ้าเป็นอย่างงี้อยู่มันก็กลับมาที่เดิม
ปรับเปลี่ยนการส่งเสริมการลงทุน
นายอภิสิทธิ์ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การส่งเสริมการลงทุนของประเทศ โดยเฉพาะการเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นเฉพาะเงินทุน มาสู่การเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ เราก็ต้องมาปรับแก้กติกาเกี่ยวกับเรื่องการส่งเสริมการลงทุนใหม่อีก เพราะที่ผ่านมาเราหวังแค่เงิน แล้วเงินมาแปลงมาเป็นเรื่องของการจ้างงาน ปัจจุบันหลายธุรกิจ เงินเข้ามาก็ไม่จ้างงานเท่าไหร่ เพราะโรงงานสมัยใหม่ไปดูที่หาคนแทบไม่เจอ
"สิ่งที่เราต้องการคือว่า คุณมามีเงื่อนไขบางอย่างที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คนของเราได้เรียนรู้ได้เติบโตได้ไหม ซึ่งจริงๆ หลายประเทศเค้าก็ทำกัน บังเอิญกับเรื่องของการจะปรับฐานจากยานยนต์เดิมมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้า หรือว่าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมไปจนถึงเรื่องของเทคโนโลยี"