สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดโมเดลจัดกลุ่มโรงพยาบาลตามค่ารักษา ผู้บริโภคเลือกได้-เบี้ยถูกลง
สมาคมประกันวินาศภัยไทย เผยความคืบหน้าเตรียมปฏิรูประบบประกันสุขภาพ เปิดผลศึกษา การจัดกลุ่มโรงพยาบาลเครือข่าย ตามค่ารักษาพยาบาล ชี้โรงพยาบาลกลุ่มบนสุดมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ากลุ่มกลาง 1.5 เท่า และสูงกว่ากลุ่มล่างสุดหลายเท่าตัว เตรียมยื่น คปภ. อนุมัติรูปแบบความคุ้มครองใหม่ เปิดทางบริษัทประกันออกผลิตภัณฑ์เบี้ยประกันภัยที่แตกต่างกันตามกลุ่มโรงพยาบาลที่เลือก เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคเข้าถึงประกันสุขภาพได้ในราคาที่เหมาะสม
นายปิยะพัฒน์ วนอุกฤษฏ์ ประธานคณะกรรมการประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ทำการศึกษาแนวทางการจัดกลุ่มโรงพยาบาลเครือข่ายประกันวินาศภัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างมาตรฐานกลางสำหรับอุตสาหกรรม และนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพที่หลากหลายและตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น
การศึกษาดังกล่าวได้วิเคราะห์จากฐานข้อมูลการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน (เคลม) ประกันสุขภาพของภาคประกันวินาศภัยในปี 2566 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 51% ของข้อมูลเคลมทั้งหมด โดยเน้นศึกษาเฉพาะกรณีผู้ป่วยใน (IPD) ใน 15 โรค และ 9 หัตถการที่พบบ่อยและมีกระบวนการรักษาไม่ซับซ้อน ซึ่งครอบคลุมค่ารักษาสัดส่วนถึง 70% ของค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในทั้งหมด โดยผลการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนให้ภาพที่น่าสนใจ ดังนี้
- กรณีแบ่ง 3 กลุ่ม (High, Medium, Low) : พบว่าโรงพยาบาลในกลุ่ม High (ค่ารักษาสูง) มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรงพยาบาลกลุ่ม Medium (ปานกลาง) 1.5 เท่า และโรงพยาบาลกลุ่ม Medium มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ากลุ่ม Low (ประหยัด) ถึง 2.2 เท่า
- กรณีแบ่ง 2 กลุ่ม (High, Non-High) : โรงพยาบาลในกลุ่ม High มีค่ารักษาพยาบาลสูงกว่ากลุ่ม Non-High (ที่ไม่ใช่กลุ่มสูง) 1.51 เท่า
นอกจากนี้ เมื่อนำข้อมูลไปเปรียบเทียบกับค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐ พบว่า ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนในกลุ่ม Medium สูงกว่าราคากลางของกรมบัญชีกลางโดยเฉลี่ยถึง 6.1 เท่า (ข้อมูลจากโปรแกรม Thai DRG ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายบริหารและเงินเดือนบุคลากร)
เดินหน้ายื่น คปภ. สู่ผลิตภัณฑ์ใหม่
นายปิยะพัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการฯ ได้นำผลการศึกษาดังกล่าว ยื่นขอรับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในรูปแบบของความคุ้มครองที่อ้างอิงตามกลุ่มโรงพยาบาลที่กำหนด เพื่อให้บริษัทสมาชิกสามารถนำผลการศึกษานี้ไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมและเป็นธรรมสำหรับแต่ละกลุ่มได้ โดยการจัดกลุ่มโรงพยาบาลเครือข่ายครั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายมิติ ได้แก่
- ผู้เอาประกันภัย สามารถเลือกซื้อแผนประกันสุขภาพที่สอดคล้องกับความสามารถในการจ่ายและความต้องการของตนเองได้ เช่น หากเลือกแผนที่คุ้มครองเฉพาะโรงพยาบาลกลุ่มประหยัดและปานกลาง ก็จะจ่ายเบี้ยประกันถูกลง ทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบประกันสุขภาพเอกชนได้มากขึ้น
- บริษัทประกันภัย สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและควบคุมต้นทุนค่าสินไหมทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด
- ภาพรวมของประเทศ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศในระยะยาว และเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับระบบประกันสุขภาพโดยรวมของไทย