“ทักษิณ” ลั่น “ผมอยู่” รับผิดชอบ เศรษฐกิจไทย ลุยแก้หนี้-ดึงทุนต่างชาติ
ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 กล่าวในงาน 55 ปี NATION "Exclusive Talk : ผ่าทางตันประเทศไทย" Chapter 1 | 3 บก. ถาม 'ทักษิณ ชินวัตร' ตอบ ต่อประเด็นผ่าทางตันเศรษฐกิจที่ 3 บก.ถามว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจแย่กว่าปี 40 หรือไม่นั้น ดร.ทักษิณ ยอมรับว่า ตอนที่พรรคเข้ามาทำงานเป็นช่วงเวลาที่หนี้สินของประเทศสูง จะใช้เงินทำอะไรก็ยาก ใช้ลำบาก เพราะภาวะหนี้ต่อ จีดีพี สูงมาก ทำให้ขยับยาก การทำมาหากินใหม่ ต้องลุกขึ้นมาลงทุนใหม่ ตรงนี้ยากเพราะของเก่าก็ยังไม่พอใช้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ
ดึงต่างชาติลงทุน-ลดค่าไฟประชาชน
การจัดการปัญหาเรื่องหนี้ ต้องหาโอกาสให้กับประชาชน ในขณะเดียวกัน รัฐก็ต้องพยายามหาทางลงทุนให้ได้ แต่ตอนนี้เมื่อการลงทุนภาครัฐจะใส่เงินไปเองลำบาก ก็ต้องชวนประเทศที่มีเงินมาลงทุนให้ จะเป็นรูปแบบ PPP หรือ กู้เงิน ก็ต้องดูว่ารูปแบบไหนที่กฎหมายรับได้ และไม่เป็นหนี้สาธารณะ
ยกตัวอย่าง ประเทศใน ยูเออี ประเทศที่เคยไปอยู่ เขามีเงินเหลือมาก เขาลงทุนที่สหรัฐอเมริกาถึง 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับ 40 ล้านล้านบาท วันนี้เขาไปลงทุนประเทศทางตะวันตกเยอะแล้ว เขาอยากมาลงทุนในประเทศแถบตะวันออกบ้าง เพราะเขาอยากกระจายความเสี่ยง เขาอยากให้ตนเองไป เพื่อพูดคุยกัน แต่ยังไปไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร รออีกนิดเดียว
ดร.ทักษิณ ได้ยกตัวอย่างการลงทุนเพื่อลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าให้ประชาชนว่า “ผมอยากจะลดค่าไฟฟ้า เพราะต้องหาทางลดค่าใช้จ่ายภาคประชาชน ผมก็ต้องทำดิจิทัล กริด ” ระบบนี้จะสามารถแยกได้ว่าไฟฟ้ามาจากพลังงานสีเขียว หรือ มาจากแก๊ส ถ้ามาจากพลังงานสีเขียว ก็ได้คาร์บอนเครดิต คนก็อยากใช้พลังงานสีเขียว เพราะอยากได้คาร์บอนเครดิต และยังสามารถเช็คความรั่วไหลของไฟฟ้าได้ เมื่อไฟฟ้าจ่ายมาตรงนี้ มันรั่วไปเท่าไหร่ เราก็แท็บมันไว้ แล้วก็จ่ายออก มันก็จะลดค่าใช้จ่ายภาคประชาชนไปอีกเยอะ นี่คือสิ่งที่ประเทศในยูเออีเขาอยากมาลงทุน ระบบสามารถแยกพลังงานสีเขียวและควบคุมการรั่วไหลได้
คำถามคือ แล้วทำไมบ้านเราถึงไม่ดำเนินการทันที ดร.ทักษิณ ตอบว่า เพราะไม่มีเงิน 1. คือไม่อยากลงทุนมาก 2. ทั้งการไฟฟ้านครหลวง และภูมิภาคไม่อยากลงทุน ไม่อยากทำ หรือเขาอาจจะยังไม่มีทางออก ไปว่าเขาทีเดียวก็ไม่ได้ วันนี้ต้องมาคุยกันว่าแบบนี้เอาไหม
รับเศรษฐกิจแย่ ขอความเห็นใจ
จากนั้น 3 บก.จึงตั้งคำถามต่ออีกว่า ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยมา เศรษฐกิจถดถอย ดร.ทักษิณ ตอบว่า เห็นใจเราหน่อย เลือกเรามาน้อยไปหน่อย ก็เลยกลายเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค จึงต้องใช้เวลาไปพูด ไปคุย มันไม่ง่าย ราชการเองก็มีการแบ่งกระทรวงกัน
นอกจากนี้ยังเจอปัญหารอบด้าน นักท่องเที่ยวจีนหายไป เพราะบางเว็บไซต์ ที่เป็นบางเว็บไซต์ของรัฐวิสาหกิจของจีนบอกว่าประเทศไทยไม่ปลอดภัย จากกรณีที่มีดาราถูกหลอกเองให้ไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เมียนมาร์
แก้หนี้ประชาชนต้องตั้ง AMC
เขาย้ำว่า สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องจัดการเรื่องหนี้ภาคประชาชน ความลำบากตรงนี้ คือปัญหา เพราะตนเองพยายามเสนอ ไอเดีย ตั้ง บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ภาคประชาชน โดยแยกออกจากระบบสถาบันการเงินเดิม เพื่อรับซื้อหนี้เสียของประชาชนแล้วนำมาบริหารจัดการใหม่ เน้นแนวทางเดียวกับที่เคยจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย “บสท.” ในอดีต แต่ครั้งนี้เน้นที่ “หนี้ภาคประชาชน”
แต่ไม่มีคนซื้อไอเดีย ต้องถามไปที่ปลัดคลัง ดร.ทักษิณ ยังกล่าวอีกว่า ตอนนั้นที่ตนเองทำช่วยลดหนี้และสุดท้ายรัฐบาลไม่ขาดทุน แต่ต้องไม่ตั้งแบบ BAM ในปัจจุบัน ส่วนคำถามที่ว่า แล้วแบงก์ชาติ จะเห็นด้วยหรือไม่ ดร.ทักษิณ ตอบว่า จะเห็นด้วยหรือไม่ ก็เรื่องของเขา
ส่วนนโยบายบ้านเพื่อคนไทยเดินหน้าแน่นอน ไม่มีพรรคภูมิใจไทยแล้วทำได้แน่นอน กำลังแก้กฎหมายให้เป็น 99 ปี
ดร.ทักษิณ กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจ ตนเองดูทุกเรื่อง แต่มันทำได้ยากมาก กฎหมายมันเปลี่ยนไปเยอะ โครงสร้างการเมืองเปลี่ยนไปเยอะ มันยากกว่าเดิม แต่ก็ไม่ละความพยายาม “ผมอยู่ ผมรับผิดชอบ ผมทำเต็มที่เพื่อบ้านเมือง”