3 องค์กรสื่อออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือรายงานข่าวชายแดนอย่างรับผิดชอบ
3 องค์กรวิชาชีพสื่อออกแถลงการณ์ร่วม ขอความร่วมมือรายงานข่าวชายแดนไทย-กัมพูชาอย่างมีจรรยาบรรณ
จากสถานการณ์ความตึงเครียดตามแนวชายแดนไทย–กัมพูชาที่ดำเนินอย่างต่อเนื่อง 3 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้แก่ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP), สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วมภายหลังหารือพิเศษ เพื่อกำหนดแนวทางการรายงานข่าวที่รับผิดชอบและปลอดภัย ทั้งต่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน พลเรือน และความมั่นคงของประเทศ
ในแถลงการณ์ดังกล่าว ได้มีการขอความร่วมมือสื่อมวลชนทั่วประเทศปฏิบัติตามแนวทาง 11 ข้อ และมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐเพิ่มเติม เพื่อให้การสื่อสารในสถานการณ์วิกฤตไม่สร้างความตื่นตระหนก ความสับสน หรือความขัดแย้งระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ
แนวปฏิบัติที่ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน
1. ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับที่ตั้งหน่วยทหาร ชื่อผู้บัญชาการ อาวุธ หรือยุทโธปกรณ์ที่ใช้
2. งดรายงานสดจากพื้นที่ที่ยังมีการปฏิบัติการทางทหาร
3. หลีกเลี่ยงเนื้อหาที่ส่งผลต่อขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ความมั่นคง
4. ไม่เผยแพร่ภาพหรือข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดว่าฝ่ายไทยใช้ความรุนแรงเกินจำเป็น
5. ตรวจสอบความถูกต้องของข่าวที่เผยแพร่ต่อในโซเชียลมีเดียกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน
6. งดเนื้อหาที่ปลุกปั่นหรือสร้างความเกลียดชังระหว่างประชาชนไทย–กัมพูชา
7. หลีกเลี่ยงการวิเคราะห์ข่าวโดยไม่มีข้อมูลสนับสนุน
8. ใช้ถ้อยคำในพาดหัวอย่างรอบคอบ ไม่เกินจริงเพื่อเรียกความสนใจ
9. ไม่สัมภาษณ์หรือถ่ายภาพเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติการโดยไม่ได้รับอนุญาต
10. เคารพสิทธิส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่และครอบครัวผู้สูญเสีย
11. ยึดหลักสิทธิมนุษยชนและประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐด้านการสื่อสาร
1. หลีกเลี่ยงการเผยแพร่ข้อมูลที่สร้างด้วย AI ซึ่งอาจขาดความถูกต้อง
2. ควบคุมการสื่อสารจากทุกช่องทางให้อยู่ในทิศทางเดียวกัน เพื่อป้องกันความสับสนของประชาชน
3. ตรวจสอบถ้อยคำและภาษาของเจ้าหน้าที่ที่เผยแพร่ข่าว เพื่อหลีกเลี่ยงถ้อยคำยั่วยุหรือความเห็นส่วนตัว
4. เสนอให้จัดทำแนวปฏิบัติในการเผยแพร่ข่าวสารของรัฐให้มีรูปแบบเดียวกันทุกหน่วยงาน
เตือนภัยการโจมตีทางไซเบอร์จากกัมพูชา
ที่ประชุมยังหยิบยกประเด็นปัญหาการโจมตีเว็บไซต์สื่อมวลชนไทย ด้วยเทคนิค DDoS ซึ่งมีเป้าหมายคือเว็บไซต์ที่มีคำว่า “ไทย” “Thai” หรือ “Thailand” โดยเชื่อว่ามีต้นทางจากประเทศกัมพูชา
จึงขอให้สื่อมวลชนเฝ้าระวังระบบความปลอดภัยของตนเองอย่างใกล้ชิด และสามารถประสานขอความช่วยเหลือจากสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ได้โดยตรง พร้อมทั้งเสนอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสทช. เร่งดำเนินมาตรการรับมือ และเป็นตัวกลางในการประสานกับแพลตฟอร์มหลัก เพื่อช่วยเหลืออย่างทันเหตุการณ์
สื่อกับความรับผิดชอบในภาวะวิกฤต
แถลงการณ์ฉบับนี้เน้นย้ำถึงบทบาทของสื่อมวลชนในภาวะสงครามและวิกฤตการณ์ชายแดนว่าไม่เพียงเป็นผู้รายงานข่าว แต่ยังต้องทำหน้าที่อย่างมีจริยธรรม โดยไม่ละเมิดความมั่นคงหรือสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างรอบด้าน ทั้งจากภาคสื่อ ภาครัฐ และสังคม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สรุปลำดับเหตุการณ์ไทย–กัมพูชา จากชายแดนตึงเครียดสู่ข้อตกลงหยุดยิง 28 ก.ค.
- ไทยย้ำสิทธิ์ป้องกันตนตามกฎบัตรยูเอ็น – ยึดหลักมนุษยธรรมแม้ในภาวะสงคราม
- “ภูมิธรรม” บินเจรจา “ฮุน มาเนต” ที่มาเลย์ ย้ำหยุดยิง–คงอธิปไตยไทย
- ไทย–กัมพูชาเตรียมหารือ! "ภูมิธรรม–ฮุน มาเนต" เจอกันพรุ่งนี้ที่มาเลย์
- F-16 ไทยโจมตีตอบโต้ หลังเขมรยิงจรวดใส่ปราสาทตาเมือนธม