ส.อ.ท. คาดไทยอาจถูกเก็บภาษี 36 % แนะรัฐหามาตรการคุมการเมืองเผชิญความเสี่ยงสหรัฐ
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ภายหลังการเสวนาในหัวข้อ "เชื่อมั่นประเทศไทย : โจทย์ใหม่ในยุคเปลี่ยนแปลง" ได้กล่าวถึงตัวอย่างผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-เวียดนาม จากเดิมที่เก็บไว้ 46% แต่ลดลงเหลือ 20% หากเป็นการสวมสิทธิ์จากประเทศที่ 3 จะเก็บที่ 40% แต่เวียดนามยอมให้สินค้าสหรัฐส่งเข้าเวียดนามที่ 0% ทุกรายการ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่าตกใจและหนักใจ เพราะเวียดนามอยู่ในระดับโซนเดียวกันกับไทย เป็นเพื่อนบ้านและเป็นคู่แข่งสินค้าส่งออกของไทย
ซึ่งประเทศไทยไม่ได้ตั้งเงื่อนไขแบบเวียดนามในการไปเจรจา ทำให้อาจถูกกดดันจากสหรัฐฯได้ รวมถึงกรอบเวลาที่ใกล้จะครบเส้นตาย คือวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ แต่ไม่อาจทราบได้ว่าเจรจาแล้วสุดท้ายผลจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงมีความสับสนในเรื่องของข่าวสารที่ออกมาด้วย เนื่องจากเดิมทีโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยประกาศว่าหากไม่ทันอาจขยายเวลาเพิ่มเติม แต่ล่าสุดกลับออกมาประกาศว่า หากไม่ทันตามที่กำหนดก็จะไม่มีเจรจาเพิ่มเติม แต่จะส่งจดหมายไปให้กับแต่ละประเทศในการกำหนดอัตราภาษีด้วยตัวเองว่าจะใช้ที่ระดับเท่าไหร่
นายเกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อประเมินอัตราภาษีเบื้องต้นด้วยโครงสร้างการส่งออกสินค้าที่ใกล้เคียงกัน หากอัตราภาษีที่ไทยได้รับสูงกว่าเวียดนามจะส่งผลกระทบกับสินค้าส่งออกของไทยค่อนข้างมาก และหากอัตราต่ำกว่าจะมีผลในด้านบวกมากเช่นกัน
โดยปัจจุบันหากเป็นระดับที่ไทยถูกกำหนดเบื้องต้น 36% คำนวณจากสูตรที่คิดกับเวียดนามจาก 46% เหลือ 20% ไทยน่าจะถูกลดภาษีลงเหลือไม่เกิน 15% ส่วนสินค้าสวมสิทธิ์จากประเทศที่ 3 ควรลดลงเหลือ 30% แต่การเปิดนำเข้าสินค้าจากสหรัฐของเวียดนามที่ให้ภาษีเหลือเป็น 0% ซึ่งส่วนนี้ไทยคงไม่สามารถทำตามได้ ซึ่งจะได้รับผลกระทบต่อหลายภาคส่วน หนักที่สุดจะเป็นสินค้าเกษตร เพราะส่วนใหญ่จะช่วยปกป้องและคุ้มครองเกษตรกรของไทย รวมถึงปศุสัตว์ไทยด้วย ทั้งเนื้อหมู เนื้อวัว ซึ่งสหรัฐฯเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวรายใหญ่ของโลก จึงต้องประเมินผลกระทบอย่างรอบคอบเป็นกลุ่มสินค้าเฉพาะตัว เพราะสินค้าบางหมวดก็มีผลกระทบไม่มาก ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อมีแนวทางแบบนี้เกิดขึ้น สหรัฐฯคงใช้รูปแบบนี้มาต่อรองกับไทยมากขึ้น และหากไทยไม่รับข้อตกลง ก็อาจกระทบให้อัตราภาษีของไทยไม่ถูกปรับลดลง
กรณีที่ประเทศไทยถูกกำหนดภาษีไว้ในระดับที่ 36% เมื่อเทียบกับเวียดนามที่ถูกลดเหลือ 20% สินค้าไทยแพงกว่า 16% อันนี้เรามีปัญหาแน่นอน ความสามารถการแข่งขันในการส่งออกถูกกระทบ และสินค้าก็จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศจำเป็นต้องเตรียมมาตรการรองรับไว้อยู่แล้วรวมถึงไทยเองด้วย แต่เนื่องจากตัวเลขยังไม่นิ่งและมีความสับสนอยู่ จึงต้องรอประเมินผลหลังมีความชัดเจน เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยทุกประเทศในโซนอาเซียนจะต้องถูกเปรียบเทียบราคาระหว่างกัน เพราะคู่แข่งไทยไม่ได้มีเพียงแค่เวียดนาม แต่ยังมีมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ส่วนความเชื่อมั่นและสถานการณ์การเมืองในขณะต้องยอมรับว่า ปัจจัยภายในโดยเฉพาะเสถียรภาพของรัฐบาล เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งจัดการ ซึ่งภาคเอกชนกำลังจับดูความชัดเจนที่ควรเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เสียโอกาสจากการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไทยเองจำเป็นต้องมีการเมืองที่เข้มแข็ง มีเอกภาพ และสร้างความเชื่อมั่น
ขณะนี้จากสถานการณ์ในปัจจุบัน มีปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างนโยบายของสหรัฐฯ แต่เสถียรภาพภายในเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ และต้องรีบทำให้ชัดเจน เพราะแนวโน้มที่สหรัฐอาจพิจารณาเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราสูงถึง 36%
ส่วนหากการเจรจาระหว่างสองประเทศไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ นายเกรียงไกลมองว่า รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก เช่น การหาตลาดใหม่ การสนับสนุนด้านการเงิน และการพิจารณาเงื่อนไขการเปิดตลาดอย่างเหมาะสม ซึ่งสิ่งที่น่าห่วงที่สุดคือ สินค้าราคาถูกที่ทะลักเข้ามาจากทุกทิศทุกทาง อาจทำให้ผู้ประกอบการSMEsได้รับผลกระทบรุนแรงมากขึ้น ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกพอสมควร และยังไม่ได้กสรแก้ไขที่ถูกต้อง จึงอยากส่งเสียงถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง รีบหามาตรการแก้ไขเรื่องนี้โดยด่วนที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ส.อ.ท. กังวลสินค้าราคาถูกจากจีนทุ่มตลาด หวั่นปิดกิจการ ลดกำลังการผลิต
“พิชัย” ลุ้น สหรัฐฯ ตอบกลับเจรจามาตรการภาษีสหรัฐในเร็วๆนี้
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ส.อ.ท. คาดไทยอาจถูกเก็บภาษี 36 % แนะรัฐหามาตรการคุมการเมืองเผชิญความเสี่ยงสหรัฐ
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.pptvhd36.com