ปริศนา 'กากอุตสาหกรรม' 26,000 ตัน จากเหตุเพลิงไหม้สู่การขุดพบซากพิษ
ปัญหากากพิษในไทยมีความซับซ้อนและรุนแรง ครอบคลุมหลายประเภท (E‑waste, กากอุตสาหกรรม, พลาสติก, สารแคดเมียม) เกิดจากการนำเข้าผิดกฎหมาย โรงงานกำจัดที่ไม่มีมาตรฐาน และช่องว่างด้านกฎหมาย
ล่าสุด มีการตรวจพบซากกากพิษใต้ดินกลางพื้นที่เกษตรกรรม เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2568 โดยจากข้อมูลของมูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า ซากกากพิษที่ถูกขุดพบอยู่ใต้ดินกลางพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่ ม.11 บ้านหนองสทิต ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ลักลอบฝังไว้ใต้ที่ดินขนาด 11 ไร่ 3 งาน
พบซากกากพิษที่เดิม ซ้ำอีกครั้ง
มีการตั้งข้อสันนิฐานว่า ซากกากพิษที่พบครั้งนี้ น่าจะเชื่อมโยงการลักลอบนำมาทิ้งและฝังกลบ โดยมีหลักฐานย้อนหลังบ่งชี้ว่ามีความผิดปกติในการใช้ที่ดินมาตั้งแต่ปี 2556 และเริ่มชัดเจนในช่วงปี 2561-2563 ที่มีการขุดและถมพื้นที่คล้ายการเก็บกองสิ่งของบางอย่าง
ครั้งแรก ซากกากพิษเหล่านี้ปรากฏให้เห็นชัดเจนเนื่องจากเกิดเหตุเพลิงไหม้กลางปี 2565 ทำให้เห็นปฏิกูลและซากกากอุตสาหกรรมเกลื่อนกระจายอยู่บนผิวดิน และจากการขุดค้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2568 ก็พบซากกากเหล่านี้ถูกฝังอยู่ใต้ดินในพื้นที่นี้อีกครั้ง
ประเด็นสำคัญที่ชวนสงสัย
ความผิดปกติในเอกสารราชการ 2 ฉบับ ที่มีรายละเอียดจำนวนกากตอนที่สำรวจหลังเพลิงไหม้ปี 2565 แตกต่างกับตอนที่รายงานหลังส่งกำจัดในช่วงปี 2567
- ปริมาณกากที่หายไปอย่างน่าพิรุธ หนังสือ ‘ร้องทุกข์กล่าวโทษ’ หรือเอกสารประกอบการแจ้งความของเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ลงวันที่ 12 กันยายน 2565 มีการคาดการณ์ปริมาณกากอุตสาหกรรมประมาณ 30,000 ตัน
แต่รายงานสรุปผลการกำจัดกากอุตสาหกรรม ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ส่งไปรายงานต่อปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2567 กลับระบุว่ามีการขนย้ายของเสียออกไปบำบัดเพียง 3,608 ตัน เท่ากับว่ากากหายไปมากกว่า 26,000 ตัน
- ประเภทของเสียที่ขัดแย้งกันเอง แม้รายงานระบุว่าของเสียทั้งหมดเข้าข่าย "วัตถุอันตรายตามกฎหมาย" แต่ของเสีย 3,608 ตันที่ถูกขนย้ายไปกำจัดนั้น ส่วนใหญ่กลับเป็น "ของเสียที่ไม่เป็นอันตราย" โดยมีของเสียอันตรายเพียง 98 ตันเท่านั้น
- การรายงาน "ปิดจ็อบ" ทั้งที่ยังมีกากอยู่ ในปี 2567 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราได้รายงานว่า "ไม่ปรากฏสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วในบริเวณพื้นที่แต่อย่างใด" ซึ่งขัดแย้งกับการที่ยังพบซากกากเหม็นฉุนขุดพบในพื้นที่เดิมเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2568
รมว. อุตสาหกรรม สั่งการ
เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบว่า มีผู้รายงานให้ทราบเกี่ยวกับความผิดปกติของเอกสารราชการ 2 ฉบับที่มีตัวเลขปริมาณกากไม่ตรงกัน โดยมีส่วนต่างกันกว่า 20,000 ตัน ซึ่งถือเป็นข้อพิรุธอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ จึงได้มอบหมายให้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้สอบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยกล่าวเน้นย้ำว่า "กากอุตสาหกรรมมันหายไปไหน อันนี้มันเป็นความพิรุธว่า อยู่ดีๆ หายไปเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ขยะมันเดินออกจากพื้นที่เองไม่ได้อยู่แล้ว"
นอกจากนี้ ยังระบุชัดเจนว่า นอกจากเจ้าของที่ดินที่ต้องรับผิดชอบแล้ว ข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกากกองนี้ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ (ปี 2565-2567) ก็จะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยเช่นกัน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ขยะปริมาณเป็นหมื่นๆ ตัน จะเล็ดลอดสายตาเจ้าพนักงานไปได้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2565-2567 จะต้องมีความเอะใจเมื่อเห็นความแตกต่างของตัวเลขการประเมินและการรายงานการกำจัด
คดีนี้เป็นบทพิสูจน์สำคัญว่าหน่วยงานภาครัฐจะสามารถกอบกู้ความเชื่อมั่น และจัดการกับปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม รวมถึงการตรวจสอบธรรมาภิบาลของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้อย่างไร การสอบสวนที่โปร่งใสและนำผู้กระทำผิดมารับโทษอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดิน ผู้ลักลอบทิ้ง หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง จะเป็นก้าวสำคัญในการป้องกันไม่ให้ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก และปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน