นานาชาติเข้าใจไทย
“บิ๊กเล็ก” แจงยกเลิกใช้กำลัง ตร.ปราบจลาจลดูแลปราสาทตาเมือนธมแล้ว รับส่องโซเชียลกัมพูชาจนเครียด เหตุไม่อยากให้เกิดสู้รบจนสูญเสีย "ทบ." เชิญผู้ช่วยทูตทหาร 47 ประเทศรับฟังคำชี้แจง เผยนานาชาติเข้าใจไทย ขณะผู้ช่วยทูตทหารกัมพูชานิ่งไม่โต้แย้ง "มทภ.2" ขู่ปิดกลุ่มปราสาทตาเมือน 7 วัน หากกัมพูชาปล่อยป้ามหาภัย-กลุ่มฮาร์ดคอร์ป่วน หวัง กต.ใช้เวทีโลกกดดันกัมพูชา พร้อมรับมอบโดรนลาดตระเวน 10 ล้านบาทจากกลุ่มพลังแผ่นดินฯ
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 22 กรกฎาคม พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการใช้ตำรวจปราบจลาจลช่วยดูแลนักท่องเที่ยวที่ปราสาทตาเมือนธมว่า จากกรณีที่ทางการไทยได้รับทราบข่าวว่าจะมีการขนมวลชนประเทศกัมพูชา 23 คันรถ มาท่องเที่ยวที่ปราสาทตาเมือนธมเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ไทยจำเป็นจะต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือ ด้วยการประสานงานไปยังตำรวจ เพื่อจะดูแลนักท่องเที่ยว เพราะเป็นห่วงจะเกินกำลังของทหารที่อยู่ในพื้นที่ จึงนำกองร้อยปราบจลาจลมาเตรียมการไว้แนวหลัง แต่ไม่ได้ใช้กำลัง เพราะสุดท้ายไม่ได้มาตามประกาศ ย้ำว่าจะใช้ตำรวจเป็นครั้งคราว ไม่ได้ใช้ต่อเนื่อง
เมื่อถามถึงกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ระบุว่าพบความเคลื่อนไหวผิดปกติ มีเรื่องใดบ้าง พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า มีการประกาศว่ามวลชนมา 23 รถบัส และสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชาก็มีการโพสต์โซเชียลช่วยสนับสนุนว่าเป็นการรวมพลอีกครั้ง ทางฝ่ายไทยจึงกังวลหากจะมาเช่นนี้แล้วควบคุมไม่อยู่ หากกระทบกระทั่งกัน ใช้กำลังและอาวุธ เมื่อมีพลเรือนเสียชีวิตไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเรื่องจะบานปลาย เลยมีการขอรับการสนับสนุนกำลังตำรวจปราบจลาจลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้มีการส่งตำรวจภูธรภาค 3 มา ซึ่งก็ใช้กำลังเฉพาะวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา วันเดียวเท่านั้น
"ผมได้มีการติดตามความเคลื่อนไหวผ่านโซเชียล ส่วนตัวติดตามจนค่อนข้างเครียด ดังนั้น ความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติถือว่าคลี่คลายแล้ว เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ทางฝ่ายกัมพูชาก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีแค่มวลชนมาเคลมพยัญชนะไทย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการ แต่ฝ่ายความมั่นคงจะดูแลไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องนี้มาก เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดการใช้อาวุธและเกิดความสูญเสีย เรื่องจะบานปลายเกินที่จะควบคุม" พล.อ.ณัฐพลกล่าว
พ.อ.วีรยุทธ์ น้อมศิริ รองโฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีพี่น้องประชาชนให้ความสนใจการดูแลสวัสดิการและการเยียวยากำลังพลทหาร โดยเฉพาะผู้ที่ต้องสูญเสียอวัยวะหรือสละชีพในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติและรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เหตุการณ์เหยียบกับระเบิดในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนเส้นทางของกำลังพลทหาร 3 นาย โดยเฉพาะพลทหารธนพัฒน์ หุยวัน ซึ่งได้รับบาดเจ็บจนสูญเสียอวัยวะบางส่วน นอกจากจะได้รับสวัสดิการต่างๆ ครบตามสิทธิแล้ว ล่าสุดได้รับรายงานว่ามีความเป็นไปได้ที่จะได้รับการบรรจุในหน่วยงานสังกัดองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ (อผศ.) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามศักยภาพต่อไป
ขณะที่่ กองบัญชาการกองทัพบก เชิญผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย 47 ประเทศ รับฟังการชี้แจงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ถึงข้อเท็จจริงกรณีไทยโดนรุกล้ำอธิปไตย และการวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ทำให้ทหารสังกัดกรมทหารราบที่ 6 บาดเจ็บ 3 นาย และมีการตรวจสอบว่าเป็นการวางทุ่นระเบิดใหม่ ที่วางในเขตไทย ซึ่งขัดต่ออนุสัญญาออตตาวา โดยบรรดาทูตทหาร เป็นที่จับตาพลจัตวา ฮอม คิม ผู้ช่วยทูตทหารกัมพูชา ที่เดินทางมาร่วมด้วย ซึ่งฝ่ายไทยมี พล.ท.กำชัย วงศ์ศรี เจ้ากรมการข่าวทหารบก เป็นประธาน มีผู้ช่วยทูตทหารมาร่วมรับฟังกว่า 20 ชาติ
นานาชาติเข้าใจเขมรเงียบ
ต่อมา พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า บรรยากาศเป็นไปด้วยดี ส่วนใหญ่เป็นการรับฟังและมีคำถามบ้าง ถือว่าน้อย เนื่องจากทุกท่านอาจจะได้รับข่าวสารจากช่องทางอื่นมาบ้างแล้ว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารบก ที่พยายามบอกกล่าวและชี้แจงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องข้อเท็จจริง ส่วนทหารของกัมพูชาไม่ได้ชี้แจงหรือมีคำถามอะไร คำถามส่วนใหญ่มาจากท่านอื่นมากกว่า ที่ถามเรื่องของความมั่นใจและยืนยันใช่หรือไม่ ซึ่งทางเราก็ให้เหตุผลไป และจะให้เอกสารชี้แจง ส่วนท่าทีของประเทศมหาอำนาจก็ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งการเชิญมาในวันนี้เราก็ทำตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารบก คือทำให้เป็นทางการ
ส่วนการหารือได้ชี้แจงเรื่องของการละเมิด บูรณภาพดินแดนและเอ็มโอยู 2543 และอนุสัญญาออตตาวาด้วยหรือไม่ พล.ต.วินธัยระบุว่า มีการพูดถึงประเด็นดังกล่าว และได้อธิบายตามหลักอนุสัญญาที่ทั้งสองประเทศเป็นสมาชิก และเล่าถึงกลไกการแก้ไขปัญหาความตึงเครียดชายแดนมีช่องทางอะไรบ้าง โหมตั้งแต่ระดับรัฐบาล กระทรวงกลาโหม และกองทัพภาค ผู้ช่วยทูตทหารกัมพูชา ยืนยันว่าผู้ช่วยทูตทหารกัมพูชาไม่ได้แก้ต่าง ส่วนที่ทางกัมพูชาออกมาปฏิเสธ ก็ไม่ได้พูดอะไร ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละฝ่าย เราเองก็มีหลักฐาน ที่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องของผู้รับสารจะเป็นอย่างไร และเรื่องของการรับฟังข่าวสาร ขอให้ดูมาตั้งแต่ต้น ไทยเราอยู่ในกฎกติกา โดยเฉพาะทุ่นระเบิด ยืนยันว่าทูตทหารจากประเทศต่างๆ ไม่ได้ติดใจในประเด็นที่เราชี้แจง
ส่วนเรื่องการปฏิบัติการทางทหาร ก็ให้เป็นเรื่องของหน่วยในพื้นที่ ซึ่งพยายามใช้ความอดทนอดกลั้น และใช้สันติวิธี ซึ่งก็ต้องให้กองทัพภาคที่ 2 เป็นผู้ประเมิน แต่ก็ไม่อยากให้คิดไปในเรื่องไม่ดีไว้ก่อน กองทัพภาคที่ 2 ก็พูดมาตลอดว่าพร้อมทุกวิธี ก็เป็นวิธีที่ชอบธรรม และอยู่ในกฎกติกา ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ส่งมอบเอกสารหลักฐานยืนยันให้แต่ละประเทศ ซึ่งหลังจากเกิดเหตุมี 2 ลักษณะงาน ในระดับประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กำลังดำเนินการอยู่ ส่วนหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ สิ่งแรกที่ทำนอกเหนือจากการดูแลคนเจ็บ คือการดูแลความปลอดภัยของกำลังพล คือต้องค่อยๆ เก็บกู้
ส่วนในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ที่มีการนัดหมายของคนไทย ขึ้นไปเผชิญหน้ากับนักท่องเที่ยวกัมพูชาตามกลุ่มปราสาทตาเมือน พล.ต.วินธัยยืนยันว่า กองทัพภาคที่ 2 มีแนวทางในการดำเนินการอยู่แล้ว วันนี้ก็ได้พูดในที่ประชุมว่ามีกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสนับสนุน ซึ่งหากประเมินสถานการณ์แล้ว เกิดการขยายผลความขัดแย้ง จะต้องมีมาตรการดำเนินการ แต่ขอให้ทางกองทัพภาคที่ 2 เป็นผู้ชี้แจง ส่วนถึงขั้นต้องปิดปราสาทหรือไม่นั้น ก็ขอให้ฟังกองทัพภาคที่ 2 ชี้แจงเช่นกัน
โฆษกกองทัพบกเปิดเผยถึงผลการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก ครั้งที่ 10/2568 โดยมี พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารบกได้มอบหมายให้แม่ทัพภาคที่ 2 รายงานสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาให้ผู้บังคับหน่วยได้รับทราบ เพื่อสามารถนำไปขยายผลให้กำลังพลในหน่วยได้เข้าใจในสถานการณ์ที่ถูกต้อง และป้องกันการรับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากแหล่งข้อมูลที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสังคมในบริเวณกว้าง รวมทั้งได้ร่วมเป็นกำลังใจให้กำลังพลที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ พร้อมให้การสนับสนุนในโอกาสต่างๆ ต่อไป
มทภ.2 ขู่ปิดตาเมือนธม
ผู้บัญชาการทหารบกยังขอเป็นกำลังใจให้กำลังพล รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้ปฏิบัติทุกภารกิจ โดยขอให้ยืนหยัดทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด หมั่นทบทวนแนวทางตามนโยบายของกองทัพบก ขณะเดียวกันต้องอดทนอดกลั้น มีสติปัญญาต่อสิ่งต่างๆ ที่อาจต้องเผชิญอยู่เสมอ
วันเดียวกัน เวลา 08.30 น. ณ ห้องรับรอง 211 กองบัญชาการกองทัพบก พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 รับมอบอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน จากนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในฐานะประธานมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน พร้อมด้วยนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้แทนจากกลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท เพื่อนำไปมอบให้กับทหารในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการลาดตระเวนของหน่วยทหาร
โดยแม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวขอบคุณกลุ่มรวมพลังแผ่นดินและประชาชนที่แสดงจุดยืนยึดแผ่นดินเป็นหลัก ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง พร้อมทั้งขอชื่นชม ซึ่งทหารตามแนวชายแดนยังขาดแคลนสิ่งที่จำเป็น เช่น เสื้อผ้า พร้อมกับกล่าวย้ำว่า จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และไม่ยอมให้เสียแผ่นดินเด็ดขาด แต่เรามีหลายวิธี และกำลังดำเนินการอยู่ ไม่จำเป็นที่จะต้องยกกำลังเข้าไปต่อสู้กัน
แม่ทัพภาคที่ 2 ยังกล่าวถึงกรณีสร้างรั้วกั้นชายแดนในบางจุดหากจำเป็นว่า ในพื้นที่กลุ่มปราสาทตาเมือน กัมพูชาไม่ยอมรับว่าเป็นของไทย ตอนนี้ทั้ง 2 ประเทศคุยกันคนละเรื่อง ส่วนการจะทำรั้ว ถ้าเราจะทำได้ ต้องยิงกัน และยึดพื้นที่กันให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดแรงเสียดทานจากกลุ่มมวลชน จะไม่เสร็จ แม้เราจะยืนยันว่าเป็นของไทย แต่เขาไม่ยอมรับ นี่คือปัญหาที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับการจัดระเบียบการท่องเที่ยว แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า นักท่องเที่ยวทุกชาติสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของไทย หากมีการก่อกวนหรือมีเรื่องชกต่อย จะสั่งปิดปราสาททันที 1 สัปดาห์ เพื่อจัดระเบียบใหม่ และขณะนี้มีตำรวจภูธรภาค 3 มาสนับสนุนกองร้อยควบคุมฝูงชนและเจ้าหน้าที่ทหารพรานเข้ามาช่วยในพื้นที่ และคัดกรองอาวุธต่างๆ ก่อนเข้าไปยังตัวปราสาท พร้อมยืนยันว่าขณะนี้มีแผนรองรับและแผนเผชิญเหตุอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันยังมองในแง่ดีว่าไม่มีเหตุการณ์อะไร
"ทางกัมพูชาขอไม่ให้เราปิดปราสาท ผมได้พูดคุยกับทาง พล.ต.เนี๊ยะ วงศ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 42 ของกัมพูชา เน้นย้ำต้องควบคุมคนของตัวเองให้ได้ หากคุมไม่ได้ก็จะปิดปราสาท หรือเข้ามาป่วนทำอะไรที่น่าเกลียด แสดงเชิงสัญลักษณ์ ถือว่าคุมคนของตัวเองไม่ได้ ผมจะปิด เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย และย้ำไปว่า ให้กัมพูชาคัดกรองนักท่องเที่ยว เช่น ป้ามหาภัย กลุ่มฮาร์ดคอร์ ไม่อยากให้ขึ้นมา โดยจำกัดนักท่องเที่ยวไม่เกินวันละ 100 คน"
แม่ทัพภาคที่ 2 ยืนยันว่า กองทัพไม่นิ่งเฉย แต่การเมืองก็ว่ากันไป แต่เราดูในเรื่องความมั่นคง กรณีที่ทหารเหยียบกับระเบิดก็เป็นอีกกรณีที่จะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา แม้ว่าทางกัมพูชาจะออกมายืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้วางทุ่นระเบิด แต่เราก็รู้ดีว่าประเทศเพื่อนบ้านเราเป็นอย่างไร เขาก็พยายามดิ้นให้หลุด เพราะหากกระทรวงการต่างประเทศของไทยเดินหน้าเรื่องนี้เต็มที่ ก็จะสร้างความเสียหายกับศักดิ์ศรีของประเทศกัมพูชาเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่เราจะดำเนินการต่อไป ที่จะประท้วงให้ประชาคมโลกได้ตำหนิและวิจารณ์กับประเทศที่ขัดต่ออนุสัญญาออตตาวา และตระบัดสัตย์ข้อตกลงทำร่วมกันไว้
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม.ว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่เข้ามาทำงานตามบริเวณแนวชายแดน ซึ่งโดยปกติจะใช้บอร์ดดิ้งพาส (บัตรผ่านแดน) เข้ามาทำงาน สามารถอยู่ได้ 30 วัน โดยจะต้องออกจากชายแดนเพื่อต่ออายุและกลับเข้ามาใหม่ ซึ่งทำมาหลายสิบปีแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร แต่ในช่วงที่ผ่านมามีการเปิด-ปิดด่านชายแดนไทย-กัมพูชาในเวลาที่ไม่ตรงกัน โดยล่าสุด ครม.มีมติเห็นชอบให้แรงงานกัมพูชาอยู่ต่อได้อีก 6 เดือน หลังจากนี้แรงงานชาวกัมพูชาสามารถขออนุญาตได้เลย.