บริกส์เรียกร้องปฏิรูปองค์กรระหว่างประเทศ ปกป้องระบบพหุภาคีท่ามกลางความขัดแย้ง
รอยเตอร์ – ผู้นำกลุ่มบริกส์ที่นัดหมายประชุมกันที่ริโอ เดอ จาเนโรในวันอาทิตย์ (6 ก.ค.) เรียกร้องปฏิรูปสถาบันดั้งเดิมของตะวันตก พร้อมชูบทบาทผู้ปกป้องระบบพหุภาคี ขณะที่ทั่วโลกแตกแยกกันมากขึ้น
ขณะที่ที่ประชุมอย่างจี7 และจี20 ง่อยเปลี้ยจากความคิดเห็นที่ขัดแย้งและแนวทาง “อเมริกาต้องมาก่อน” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ การขยายสมาชิกของบริกส์จึงเท่ากับเป็นการเปิดมิติใหม่สำหรับความร่วมมือด้านการทูต
ประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวาของบราซิล ในฐานะเจ้าภาพการประชุม แถลงต่อที่ประชุมนักธุรกิจของกลุ่มบริกส์เมื่อวันเสาร์ (5 ก.ค.) ว่า ท่ามกลางการฟื้นคืนชีพของลัทธิกีดกันการค้า ประเทศตลาดเกิดใหม่มีหน้าที่ปกป้องระบบการค้าพหุภาคีและปฏิรูปสถาปัตยกรรมการเงินระหว่างประเทศ
ลูลาตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบัน กลุ่มบริกส์เป็นตัวแทนของประชากรโลกกว่าครึ่งหนึ่ง และมีผลผลิตทางเศรษฐกิจรวมกัน 40% ของทั่วโลก
ในการประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์ครั้งแรกเมื่อปี 2009 มีผู้นำจากบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีนร่วมหารือกัน ต่อมาได้เพิ่มผู้นำจากแอฟริกาใต้ และปีที่แล้วได้เปิดรับอียิปต์ เอธิโอเปีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เข้าเป็นสมาชิกเต็มตัว การประชุมครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ผู้นำอินโดนีเซียเข้าร่วมด้วย
นักการทูตบราซิลที่ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อคนหนึ่งระบุว่า บริกส์ได้เติมเต็มสุญญากาศที่เกิดจากกลุ่มความร่วมมืออื่นๆ เกือบจะในทันที และสำทับว่า แม้จี7 ยังคงมีอำนาจ แต่ไม่มีอิทธิพลโดดเด่นเหมือนเดิมอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้สงสัยเกี่ยวกับเป้าหมายร่วมกันของกลุ่มบริกส์ที่ชาติสมาชิกมีความแตกต่างหลากหลาย และขยายครอบคลุมประเทศที่เป็นคู่แข่งร่วมภูมิภาค ตลอดจนถึงประเทศตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญ
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ยังงดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ แต่ส่งนายกรัฐมนตรีไปแทน ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย จะร่วมประชุมทางออนไลน์เนื่องจากถูกศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับ
ถึงกระนั้น ยังมีผู้นำหลายชาติที่จะร่วมหารือกันที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในริโอ เดอ จาเนโรในวันอาทิตย์และจันทร์ (6-7 ก.ค.) ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดีย และประธานาธิบดีซีริล รามาโฟซาของแอฟริกาใต้ ทั้งนี้ มีกว่า 30 ชาติแสดงความสนใจเข้าร่วมกลุ่มบริกส์ทั้งในฐานะสมาชิกเต็มตัวและหุ้นส่วน
บราซิล ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วยนั้น กำลังใช้งานประชุมทั้งสองเวทีนี้เพื่อตอกย้ำว่า ประเทศกำลังพัฒนากำลังรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ซึ่งตรงข้ามกับทรัมป์ที่สั่งระงับแผนการริเริ่มด้านสภาพภูมิอากาศของอเมริกา
จีนและยูเออีส่งสัญญาณระหว่างประชุมกับเฟอร์นันโด แฮดแด็ด รัฐมนตรีคลังบราซิลในริโอว่า ทั้งสองชาติมีแผนลงทุนใน Tropical Forests Forever Facility ซึ่งเป็นโครงการกองทุนเพื่อสงวนรักษาป่าไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์ทั่วโลก
ขณะเดียวกัน การขยายสมาชิกเท่ากับเป็นการเพิ่มอิทธิพลทางการทูตให้ที่ประชุมบริกส์ที่ต้องการเป็นปากเสียงแทนประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่มโลกใต้ รวมถึงเน้นย้ำข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันระดับโลก เช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็น และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ การเติบโตของบริกส์ยังเพิ่มความท้าทายในการบรรลุฉันทามติในประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
แหล่งข่าวสองคนเผยว่า ก่อนการประชุม บรรดาผู้เจรจาพยายามร่างแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับการโจมตีกาซา ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล และข้อเสนอปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคง
แหล่งข่าววงในอีกคนเสริมว่า เพื่อแก้ไขความขัดแย้งในหมู่ประเทศแอฟริกาเกี่ยวกับการเสนอส่งตัวแทนของภูมิภาคเข้าร่วมในคณะมนตรีความมั่นคงที่จะมีการปฏิรูปนั้น บริกส์เห็นพ้องในการรับรองที่นั่งสำหรับบราซิลและอินเดีย แต่ยังไม่ได้สรุปว่าชาติใดควรเป็นตัวแทนของแอฟริกา
นอกจากนั้นบริกส์จะยังคงวิจารณ์นโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์อย่างคลุมเครือ หลังจากที่ประชุมระดับรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายนทำได้เพียงแสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรการกีดกันการค้าฝ่ายเดียวที่ไร้เหตุผลที่รวมถึงการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ตามอำเภอใจ
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO