พลังงานสะอาดสหรัฐฯ สะดุด หลังทรัมป์ยกเลิกเงินอุดหนุน
การลงทุนใหญ่ด้านพลังงานสะอาดที่อยู่ในภาวะไม่แน่นอน หลังจากพรรครีพับลิกันตกลงกันเมื่อต้นเดือนนี้ว่าจะเร่งยุติการอุดหนุนพลังงานแสงอาทิตย์และลมในสหรัฐฯ ภายใต้ร่างกฎหมายงบประมาณฉบับใหญ่ ขณะเดียวกัน ทำเนียบขาวยังได้สั่งให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้มงวดมากขึ้นกับการพิจารณาผู้มีสิทธิ์รับสิ่งจูงใจที่ยังเหลืออยู่
บริษัท Bila Solar ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์จากสิงคโปร์ ประกาศระงับแผนการเพิ่มกำลังการผลิตเป็นสองเท่าที่โรงงานแห่งใหม่ในเมืองอินเดียนาโพลิส ขณะที่ Heliene คู่แข่งจากแคนาดากำลังทบทวนแผนตั้งโรงงานเซลล์แสงอาทิตย์ในมินนิโซตา ส่วน NorSun ผู้ผลิตเวเฟอร์เซลล์จากนอร์เวย์ ก็กำลังประเมินว่าจะเดินหน้าโรงงานในเมืองทัลซา รัฐโอกลาโฮมาหรือไม่ เช่นเดียวกับโครงการฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง 2 แห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ที่แม้ได้รับอนุญาตแล้วเต็มรูปแบบ อาจไม่มีวันถูกสร้างขึ้น
นโยบายใหม่นี้เป็นการกลับทิศทางตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับเข้าดำรงตำแหน่ง โดยนักพัฒนาโครงการ ผู้ผลิต และนักวิเคราะห์กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวจะทำให้การติดตั้งพลังงานหมุนเวียนในทศวรรษข้างหน้าลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการจ้างงานในภาคการผลิตพลังงานสะอาดที่เกี่ยวเนื่องกัน และอาจทำให้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ แย่ลงไปอีก ท่ามกลางการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐาน AI ซึ่งใช้พลังงานสูง
รัฐบาลทรัมป์อ้างว่าการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และลมอย่างรวดเร็ว ทำให้ระบบไฟฟ้าไม่เสถียรและทำให้ราคาสำหรับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นข้อกล่าวอ้างที่ถูกโต้แย้งโดยอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และไม่สอดคล้องกับข้อมูลในพื้นที่ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก เช่น ระบบกริด ERCOT ของรัฐเท็กซัส
ตัวแทนอุตสาหกรรมพลังงานกล่าวว่า โครงการผลิตไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพลังงานหมุนเวียนหรือฟอสซิล ควรได้รับการสนับสนุนเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ โดยบริษัทที่ปรึกษา ICF คาดว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นถึง 25% ภายในปี 2030 เนื่องจากการเติบโตของ AI และคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งเป็นความท้าทายใหญ่ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าหลังจากซบเซามานานหลายทศวรรษ
โครงการ REPEAT ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันและบริษัท Evolved Energy Research คาดการณ์ว่า ความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 2% ต่อปี และหากมีข้อจำกัดในการติดตั้งพลังงานหมุนเวียน ซัพพลายไฟฟ้าที่ตึงตัวจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายอาจทำให้ค่าไฟของครัวเรือนในปี 2035 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 280 ดอลลาร์ ตามรายงานของโครงการ REPEAT
สาระสำคัญในกฎหมายใหม่
การเร่งยกเลิกเครดิตภาษี 30% สำหรับโครงการพลังงานลมและแสงอาทิตย์ โดยกำหนดให้โครงการต้องเริ่มก่อสร้างภายใน 1 ปี หรือเริ่มดำเนินการภายในสิ้นปี 2027 เพื่อรับสิทธิ์ดังกล่าว จากเดิมที่กำหนดให้เครดิตภาษีมีผลถึงปี 2032 ขณะนี้ ผู้พัฒนาโครงการบางรายกำลังเร่งเดินหน้าโครงการให้ทันช่วงที่ยังได้รับสิ่งจูงใจจากรัฐบาลสหรัฐฯ
เพียงไม่กี่วันหลังจากเซ็นกฎหมาย ทรัมป์ก็สั่งให้กระทรวงการคลังทบทวนคำจำกัดความของการเริ่มต้นก่อสร้างซึ่งอาจล้มล้างแนวปฏิบัติเดิมที่ให้เวลาผู้พัฒนาโครงการถึง 4 ปีในการขอรับเครดิตภาษีหลังจากลงทุนเพียง 5% ของต้นทุนโครงการ โดยกระทรวงการคลังมีเวลา 45 วันในการร่างกฎใหม่
บริษัทผู้ผลิตโซลาร์อีก 5 ราย ได้แก่ T1 Energy, Imperial Star Solar, SEG Solar, Solx และ ES Foundry ต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของกฎหมายใหม่ต่อความต้องการในอนาคตเช่นกัน แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงแผนการลงทุนในขณะนี้
ตามข้อมูลของ Wood Mackenzie ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายยังทำให้เกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งในประเทศ ซึ่งพึ่งพาเครดิตภาษีอย่างมากเพื่อลดต้นทุน โครงการที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างหรือยังไม่ตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายมีแนวโน้มสูงที่จะไม่สามารถเดินหน้าต่อได้