ใครมีสิทธิ์ถูกเรียกกำลังพลสำรอง หลังเกิดการสู้รบไทย-กัมพูชา
การสู้รบระหว่างทหารไทยกับกับกัมพูชาตามแนวชายแดน หรือสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. 68 จนถึงล่าสุด
โดยประเด็นดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านของความปลอดภัยของทหารไทย ประชาชนในพื้นที่ และทางด้านเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งประเด็นคำถามที่กำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นจากเหตุการณ์ปะทะกันของไทยและกัมพูชาก็คือ การเรียกกำลังพลสำรองเพื่อช่วยรบ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเรียกกำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหาร พ.ศ. 2560 และ ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยกิจการกำลังพลสำรอง พ.ศ. 2559 สามารถสรุปข้อมูลการเรียกกำลังพลสำรองได้ ประกอบด้วย
เมื่อมีเหตุการณ์สงครามหรือความไม่สงบเกิดขึ้น กระทรวงกลาโหม มีอำนาจในการออกคำสั่ง ระดมพล เพื่อเสริม กำลังพลประจำการ โดยจะดำเนินการเรียกพลกำลังพลสำรองตามขั้นตอน ดังนี้
- ผู้บังคับการจังหวัดทหารบก แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ของพื้นที่ที่กำลังพลสำรองมีภูมิลำเนาอยู่
- ออกหมายเรียกพล (ตพ.15) ส่งถึงผู้ถูกเรียก เพื่อปฏิบัติตามหมาย
- ผู้ถูกเรียกต้องไปรายงานตัวตามสถานที่และเวลาที่กำหนด
สำหรับทหารกองหนุน ที่ปลดจาก ทหารเกณฑ์ (หรือเรียกว่า ทหารกองหนุนประเภทที่ 1) จะมีการจัดลำดับตามอายุ ดังนี้
- อายุต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์
- อายุ 30 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 40 ปี
- อายุ 40 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 46 ปี
- พ้นกำหนดการรับราชการทหาร: อายุเกิน 46 ปีบริบูรณ์ โดยปกติ กำลังพลสำรอง ที่อายุน้อยกว่ามักถูกเรียกตัวก่อน เนื่องจากมีความพร้อมและทักษะทางทหารยังคงสดใหม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องระดมพลเต็มรูปแบบ กองทัพจะพิจารณาจาก
- ความต้องการกำลังพลเฉพาะทาง เช่น แพทย์สนาม, ช่างซ่อมบำรุง, หน่วยรบพิเศษ
- ความพร้อมด้านสุขภาพ
- ภูมิลำเนาของทหาร
- สถานะครอบครัวและสังคม (บางกรณีอาจขอผ่อนผันได้)
กำลังพลสำรองคืออะไร
กำลังพลสำรอง หรือทหารกองหนุน คือ ผู้ที่เคยผ่านการเป็นทหารแล้ว แต่ปลดประจำการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย
- ผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหาร (ร.ด.) ตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป และขึ้นทะเบียนกองประจำการจนปลดเป็นทหารกองหนุน
- ผู้ที่ปลดจากกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) เมื่อครบกำหนดตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
กำลังพลสำรอง ไม่ว่าจะเป็น ทหารเกณฑ์ปลดประจำการ หรือ นักศึกษาวิชาทหาร (ร.ด.) ต่างถือเป็นส่วนสำคัญในการเสริม กองทัพไทย และมีโอกาสถูกเรียกตัวหากประเทศต้องเผชิญ ภัยคุกคามทางความมั่นคง หรือสงคราม ดังนั้นผู้ที่อยู่ในสถานะนี้ควรรู้สิทธิ หน้าที่ และเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ หากวันหนึ่งต้องกลับไปปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติอีกครั้ง