“ผู้ว่าฯ สุรินทร์” ยัน ไม่ใช่การประกาศภัยพิบัติสงคราม แต่เป็นภัยพิบัติฉุกเฉินจากกองกำลังจากนอกประเทศ
“ผู้ว่าฯ สุรินทร์” ยัน ไม่ใช่การประกาศภัยพิบัติสงคราม แต่เป็นภัยพิบัติฉุกเฉินจากกองกำลังจากนอกประเทศ เพื่อเบิกจ่ายงบได้สะดวก หวังเจรจาจบเร็วหวั่นยื่ดเยื้ออาจต้องของบเพิ่ม แจงข่าวครูต้องอยู่เวรศูนย์พักพิง ชี้เป็นเจ้าของพื้นที่ ดูแลสวัสดิการ-ความปลอดภัยผู้ประสบเหตุ
วันที่ 28 ก.ค. 68 นายชำนาญ ชื่นตา ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงกรณีการประกาศเขตภัยสงครามในจังหวัดสุรินทร์ ว่า การประกาศเขตภัยพิบัตินั้นในเรื่องประกาศเขตภัยพิบัตินั้นประกาศตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยอาศัยระเบียบกระทรวงการคลัง โดยให้ความหมายคำนิยามของภัยพิบัติไว้คือภัยสงครามและภัยจากการกระทำของการร้ายของนอกประเทศ ซึ่งจังหวัดสุรินทร์ได้ประกาศเป็นภัยจากกองกำลังนอกประเทศเมื่อประกาศภัยพิบัติก็ประกาศขึ้นมาส่วนหนึ่งคือการประกาศเขต ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งตนได้รับข้อมูลว่าจะมีการเริ่มประทะกันแล้ว ก่อนที่จะมีการอพยพเคลื่อนย้ายประชาชนและมาออกประกาศเขตภัยพิบัติ ในฉบับแรกส่วนอันถัดมาคือประกาศเขต ให้ความช่วยเหลือเพื่อรองรับตามระเบียบกระทรวงการคลังเพราะในเบื้องต้นทางส่วนกลางจะจัดงบประมาณให้จังหวัดละ 20 ล้านบาท แต่พอเป็นประกาศไปก็เพิ่มงบประมาณเพิ่มเป็น 100 ล้านบาท ซึ่งหากจะรอเงินจากรัฐบาลอย่างเดียวก็จะไม่ทันในการช่วยเหลือประชาชน จึงออกหนังสืออีกฉบับหนึ่งจากท้องถิ่นซึ่งเป็นฉบับวันที่ 25 ก.ค. ว่าให้องค์กรส่วนท้องถิ่นดูแลประชาชนไม่ใช่เฉพาะดูแลในเขตพื้นที่ตัวเองในเขตเทศบาลแต่เบตใกล้เคียงที่ประชาชนย้ายมาอยู่ในศูนย์พักพิงนั้นได้ช่วยเหลือได้
ที่ประกาศไปนั้นไม่มีถ้อยคำว่าเป็นการประกาศเป็นภัยสงครามเพราะต้องผ่านกระบวนการของสภาเพื่อให้มีการประกาศใช้ประกาศสงครามจึงอยากขอสื่อมวลชนว่าไม่มีประกาศว่าเป็นภัยสงครามแต่เรียกว่าเป็นภัยจากการสู้รบของกองกำลังนอกประเทศ วัตถุประสงค์ในประกาศฉบับนี้เพื่อต้องการให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลังในการขอเงินฉุกเฉิน
ผู้ว่าฯ จ.สุรินทร์ กล่าวถึงภาพรวมในจังหวัด ว่า ขณะนี้ยังมีการยิงสู้รบกันตามแนวชายแดน ในอำเภอกาบเชิง และยังไม่มีรายงานการสูญเสียแต่อย่างใด
เมื่อถามถึง กรณีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อเจรจากับนายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีความคาดหวังต่อการเจรจาในครั้งนี้อย่างไร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ขอตอบแทนพี่น้องประชาชนว่า เนื่องจากเมื่อวานนี้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้ลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งพี่น้องประชาชนก็ได้สื่อสารว่าอยากให้เหตุการณ์จบโดยเร็ว ส่วนตนเองก็มีความรู้สึกไม่ต่างจากพี่น้องประชาชน การมาอยู่ศูนย์พักพิง คงไม่สะดวกเม่าการอยู่บ้าน เป็นห่วงบ้าน ทรัพย์สิน นอนไม่ค่อยหลับ และก็อยากให้จบเร็ว ก่อนจะเล่าย้อนข้อมูลเหตุปะทะชายแดนเมื่อปี 2554 ซึ่งปีนั้นใช้เวลาปะทะ 12 วัน แต่ไม่ใช่ 12 วันแล้วอพยพกลับทันที ต้องคอให้จบอย่างแน่นอนก่อน และครั้งนี้อยากให้จบเร็วกว่า 12 วัน และการปะทะกันเมื่อปี 54 ก็ไม่รุนแรง และยิงกันตลอดทั้งวันทั้งคืนเหมือนปีนี้ พร้อมย้ำว่า อยากให้เข้าสู่การเจรจา และจบให้เร็ว และหวังว่าไม่อยากให้เกิน 1 สัปดาห์ ซึ่งหากเกินก็จะต้องขอเงินจากรัฐบาลเพิ่ม และเราไม่ได้ดูแค่ผู้อพยพ ยังดูถึงผู้นำชุมชน และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่อยู่ดูแลทรัพย์สินในหมู่บ้านด้วย
ส่วนกรณีที่มีครูในพื้นที่ต้องเข้าเวรดูแลศูนย์พักพิงผู้ประสบเหตุจากเหตุปะทะบริเวณชายแดนไทยกัมพูชา โดยระบุว่าเป็นเรื่องจริง เนื่องจากมีศูนย์พักพิงหลายที่ตั้งอยู่ในโรงเรียน จึงจำเป็นต้องให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในคณะทำงาน เพื่อดูแลสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ระบบไฟฟ้า รวมถึงความเรียบร้อยของสถานที่ในฐานะเจ้าของพื้นที่
นายชำนาญ เผยว่า คณะทำงานประจำศูนย์ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานท้องถิ่น เช่น ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารโรงเรียน โดยมีนายอำเภอเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และพิจารณาคัดเลือกบุคลากรตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ ในหลายกรณี ทางโรงเรียนได้จัดครูมาเวรเกินจำนวนที่กำหนดตามประกาศของอำเภอ ซึ่งบางส่วนมาด้วยความสมัครใจ แต่ก็มีบางรายที่รู้สึกว่าเป็นการปฏิบัติงานในวันหยุดและอาจคาดหวังค่าตอบแทน เช่น ค่าโอที นายชำนาญ มองว่า ก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและความร่วมมือของแต่ละบุคคล และหากศูนย์พักพิงไม่ได้ตั้งอยู่ในโรงเรียน ก็จะไม่มีความจำเป็นต้องให้ครูอยู่เวร แต่หากใช้สถานศึกษาก็จำเป็นต้องมีบุคลากรจากโรงเรียนร่วมดูแล ส่วนจำนวนครูที่ต้องเข้าเวรในแต่ละศูนย์จะขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นที่และการจัดการเฉพาะจุด
สำหรับโรงเรียนที่ปิดการเรียนการสอนชั่วคราวตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ ก็อาจไม่จำเป็นต้องมีการเฝ้าประจำตลอดเวลา แต่สามารถแวะเวียนไปตรวจสอบเป็นระยะได้ โดยจะพิจารณาตามความปลอดภัยของพื้นที่และระดับความรุนแรงของสถานการณ์
นายชำนาญ กล่าวเพิ่มว่า เจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่ส่วนหลังจะมีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) โดยทั้งหมดมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในเขตรับผิดชอบ ไม่เฉพาะในหมู่บ้าน แต่รวมถึงวัดและโรงเรียนด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้ว ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหารสถานศึกษาแต่ละแห่งว่าจะจัดเวรครูในลักษณะใด