ภาษีทรัมป์ 36% หายนะ ‘ศก.ไทย‘ 3 แบงก์ห่วง เกมการค้าสหรัฐ กระทบ 1.2 ล้านล้าน
ไทยกำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากการเจรจาภาษีตอบโต้ของสหรัฐก่อนถึงเส้นตายอีก 2 สัปดาห์ ท่ามกลางความเสี่ยงสูงหากไทยถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงกว่าหลายประเทศคู่ค้าคู่แข็ง เพราะไม่เพียงแต่กระทบต่อภาคการส่งออก แต่อาจสร้างแรงกระเพื่อมและกระทบเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb กล่าวว่า อัตราภาษี 36% จะเป็นความหายนะของเศรษฐกิจไทยจากกรณีที่ประเทศอื่นชิงสารภาพ โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับสหรัฐเพื่อต้องการลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐให้ลดลง แต่ขณะที่ไทยถูกอัตราภาษี 36% เป็นระดับที่เป็นความหายนะของไทย ดังนี้
1.ผลกระทบสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐที่มีมูลค่าสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับและยาง โดยถ้าถูกตั้งภาษี 36% สูงกว่าเวียดนาม 20% และอินโดนีเซีย 19%
ไทยจะสูญเสียความสามารถการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะสินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากหลายประเทศ เช่น โทรศัพท์, คอมพิวเตอร์, ชิ้นส่วนรถยนต์
2.ผลกระทบต่อซัพพลายเชนในประเทศ ซึ่งมีซัพพลายเชนในประเทศซับซ้อน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรงงานและผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ โดยจะสูญเสียรายได้ในอุตสาหกรรม 497,000 ล้านบาท จากผลกระทบทางอ้อมในซัพพลายเชน
3.ผลกระทบแรงงานและการบริโภคในประเทศ โดยจะกระทบแรงงาน 1 ล้านคน ภายในปี 2028 ส่วนใหญ่อยู่ภาคการผลิต เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และยาง ส่วนการบริโภคในประเทศลดลงจากการว่างงานและรายได้ลดลงกระทบเศรษฐกิจมหภาควงกว้าง
รวมทั้งกระทบระยะกลางและระยะยาวเพราะไทยไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองต้องอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศขับเคลื่อน (FDI)
ดังนั้นถ้าภาษีที่สหรัฐคิดจากไทยสูงกว่าคู่แข่งจะทำให้เราสูญเสียหลายด้าน
ด้านที่ 1. สูญเสียความสามารถการแข่งขันระยะยาว หากไทยถูกตั้งภาษี 36% ขณะที่เวียดนามหรืออินโดนีเซียได้อัตราดีกว่า ซึ่งไทยจะตกอันดับในห่วงโซ่การผลิตโลก และอาจถูกมองเป็น “ประเทศที่เสี่ยง” สำหรับการลงทุน
ด้านที่ 2. การดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ลดลง โดยไทยเสียเปรียบมากขึ้นในการดึง FDI เมื่อเทียบเวียดนามที่มี FDI เพิ่มสูงกว่าไทยถึง 15 เท่า ตั้งแต่ปี 2015 ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และอาหารแปรรูป ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งของไทยอาจย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่ได้สิทธิภาษีที่ดีกว่าจากสหรัฐ
- เว้นภาษีสหรัฐเหลือ0%กระทบไทยน้อย
นอกจากนี้ ไทยควรสารภาพตามประเทศอื่นเพราะผลกระทบจากการ “ลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐ” จริง ๆ แล้วน้อย และอาจเป็นผลดีด้วยซ้ำ
ขณะที่มองว่าผลกระทบทางลบมีจำกัด หากไทยยกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐทั้งหมดจะสูญเสียรายได้จากภาษีเพียงปีละ 35,900 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.2% ของรายได้ภาครัฐ
โดยสินค้านำเข้าจากสหรัฐส่วนใหญ่มีภาษีนำเข้าต่ำและปริมาณไม่สูง โดยผลบวกที่อาจเกิดขึ้น คือ
1.ลดต้นทุนอาหารสัตว์ เพิ่มความสามารถแข่งขันอาหารแปรรูป เช่น ข้าวโพดจากสหรัฐถูกกว่าเมียนมาและลาว 14% การนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐลดต้นทุนอาหารสัตว์ 60,000 ล้านบาท ส่งผลให้สินค้าแปรรูปไทย เช่น ไก่ หมู อาหารสัตว์เลี้ยง แข่งขันดีขึ้นในตลาดโลก และลดแรงจูงใจปลูกข้าวโพดบนพื้นที่สูง ลดปัญหา PM2.5 จากการเผาในภาคเหนือและจากประเทศเพื่อนบ้าน
2.นำเข้ายาและเวชภัณฑ์ราคาถูกลง สินค้ากลุ่มยา เครื่องมือแพทย์จากสหรัฐมีราคาถูกลง อาจส่งผลดีต่อสวัสดิการรัฐและการรักษาโรค ทั้งนี้มองว่า ไม่กระทบผู้ผลิตในประเทศ เพราะยังผลิตสินค้าคนละกลุ่ม (low-end vs high-end)
การให้ภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐ 0% และยกเลิกโควตานำเข้าย่อมมีผู้เสียผลประโยชน์ แต่โดยรวมช่วยป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยดิ่งกว่านี้ และจะส่งผลบวกระยะยาว เพราะหากไทยโดนสหรัฐตั้งภาษี 36% จะกระทบไทยรุนแรงแบบลูกโซ่ทั้งอุตสาหกรรม แรงงานและการลงทุน คิดเป็นมูลค่า 1.23 ล้านล้านบาท
ในขณะที่การลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ สร้างผลกระทบต่อรายได้รัฐเพียงเล็กน้อย แต่ได้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคมกลับมามากกว่า
- หวังภาษีต่างจากคู่แข่งไม่เกิน10%
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำหรับภาษีนำเข้าของสหรัฐ ซึ่งไทยมีสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐราว 20% ปีละ2ล้านล้านบาท ถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง หากโดนภาษีอัตราที่สูงจะมีผลกระทบที่ค่อนข้างมาก
ส่วนตัว มีมุมมองขอให้การเจรจานั้นออกมาไม่ได้ต่างกันมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอาเซียน ซึ่งไม่ควรเกิน 10%หากทำได้ก็จะช่วยประคองสถานการณ์การส่งออกของไทยสู้กับคู่แข่งในอาเซียนได้ระดับหนึ่ง
หากทำไม่ได้ แตกต่างกันเกิน 10% มองว่า ประเทศไทยจะมีความเสี่ยงมาก เพราะตอนนี้เวียดนามชนะไทย แต่ต้องรอความชักเจน ขอเจรจาให้สู้กับมาเลเซียและอินโดนีเซียให้ได้ โดยอัตราภาษีโดยเทียบเคียงต้องแตกต่างกันไม่เกิน10%
“ในแง่ของตัวเลขภาษีที่ได้ไม่ได้สำคัญมากเท่ากับการเทียบเคียง อย่างเวียดนามกับไทยมีการแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์ ส่วนกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย ก็มีการแข่งขันกับไทยในอุตสาหกรรมอื่น ดังนั้นขอภาษีแตกต่างกันไม่เกิน10% ไม่เช่นนั้นเราจะเหนื่อย อาจย้ายฐานการผลิตออกจากไทย"
นายกฤษณ์ กล่าวว่า ภาษีทรัมป์กระทบอุตสาหกรรมใหญ่ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและคอมมูนิตี้บางอย่าง ดังนั้น ทางด้านผลกระทบต่อลูกค้าของเอสซีบี และพบว่า มีจำนวนและมีสัดส่วนไม่มาก กลุ่มหลัก คือ ผู้ผลิตอาหารส่งออกไปสหรัฐ เอสซีบีได้มีการช่วยเหลือและดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ผ่านวิกฤตินี้ให้ได้ ถ้าลูกค้าไม่รอด เราไม่รอดเหมือนกัน ฉะนั้นเราต้องดูแลไปด้วยกันและไปให้ไกล
“มาตรการที่เราเข้าไปช่วยเหลือนั้นเป็นแบบเฉพาะ เจาะจง ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแบบปูพรมได้ เพราะแต่ละคนมีความเข้มแข็งแตกต่างกัน”
ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ คาดเติบโตไม่เกิน1.5% ครึ่งปีหลังยังมีความเสี่ยงเติบโตเพียงแค่1% หลายฝ่ายยังกังวลจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคหรือไม่
- เส้นตายไทยเหลือเพียง2สัปดาห์
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ทางออกไทยจากนี้มีเวลาเหลือแค่ 2 สัปดาห์ ที่จะต่อรองสหรัฐ
โดยการหาทางออกต้องเริ่มจาก “โจทย์” ที่ต้องหาให้เจอเพื่อนำไปสู่คำตอบ ซึ่งโจทย์ไทยอยู่ที่ความเสียหายรออยู่ข้างหน้า ดังนั้น ไทยจะเสียหายน้อยที่สุดได้อย่างไร เพราะไม่ว่าเลือกทางไหนจะเจอความเสียหายรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ดังนี้
1.ความเสียหายต่อภาคส่งออก 2.ความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจที่เราเคยปกป้องเอาไว้ 3.ความเสียหายต่ออนาคตของเศรษฐกิจไทย
สำหรับความเสียหายด้านที่ 3 อาจยังไม่ชัดเวลานี้ แต่ต่อไปทุกคนจะเห็นความเสียหายชัดขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันไทยรั้งท้ายในกลุ่มประเทศหลักอาเซียน ขณะที่สิงคโปร์ถูกตั้งภาษี 10% อินโดนีเซีย 19% เวียดนาม 20% ฟิลิปปินส์ 20% มาเลเซีย 25% (กำลังเจรจาเพิ่ม) ส่วนคู่แข่งสำคัญ เช่น อินเดียใกล้เจรจาสำเร็จน่าจะลดลงจาก 26% ซึ่งเป็นอัตรา ณ วันที่ 2 เม.ย.2568 ทำให้ไทยมีทางเลือกไม่มาก
- หากจบที่36%การเยียวยา2แสนล้านไม่พอ
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าไทยละล้าละลังคงจบที่36% ความเสียหายกรณีนี้อยู่กับภาคส่งออกที่มีสัดส่วน 60% ของ GDP ซึ่งภาคส่งออกใหญ่มากทำให้การเยียวยาภาคการส่งออกทั้งหมดทำได้ยาก ดังนั้นซอฟต์โลน 200,000 ล้านบาท อาจไม่พอ
ทั้งนี้ รัฐบาลอาจต้องใช้งบประมาณเยียวยาเพิ่มมากขึ้น หลังจากลูกค้าไทยเปลี่ยนซัพพลายเออร์ประเทศคู่แข่ง และอัตราภาษี 36% จะสร้างความเสียหายต่ออนาคตไทยหนัก ซึ่งไทยกำลังต่อสู้อย่างเข้มข้นในเกมของการแย่งบริษัทยุคใหม่จากต่างประเทศเพื่อให้มาตั้งบริษัทในไทย เพื่อเปลี่ยนฐานการผลิตสู่โลกยุคใหม่
นอกจากนี้ ไทยเสียเปรียบเวียดนามและอินโดนีเซียอยู่แล้ว เพราะเมื่อนักลงทุนพิจารณาเลือกทำเลที่ตั้งจะบอกว่ากำลังดูเวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยมีไทยเป็นอันดับที่ 3 แต่อัตราภาษีของไทย 36% เทียบกับคู่แข่ง 19-20% บริษัทต่างชาติคงเลือกเวียดนามกับอินโดนีเซีย ส่วนประเทศที่ 3 เป็นมาเลเซีย
- ห่วงประเทศไทยถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
รวมทั้งผลกระทบที่ตามมา คือ ไทยเริ่มออกจากเรดาร์และถูกทุกคนทิ้งไว้ข้างหลัง โดยไม่มีฐานการผลิตที่ดีให้รัฐเก็บรายได้ และไม่มีอนาคตที่สดใส ซึ่งเมื่อรวมความเสียหายจะมากเกินกว่าที่ไทยจะรับได้ ดังนั้น ไทยต้องดิ้นรนไม่ตกอยู่ในทางเลือกนี้
รวมถึงทางรอดเดียวของไทยต้องเจรจาให้สำเร็จ โดยคู่แข่งเจรจาสำเร็จแล้วทำให้ไทยถูกกดดัน โดยถ้าเจรจาแบบละล้าละลังยังมีอีก 2 ทาง
ซึ่งทางสายที่ 2 เสนอลดภาษีนำเข้า 0% แบบเวียดนามและอินโดนีเซีย และ Total Access และ Non Tariff Barrier Free ซึ่งจะมีนัยกับทุกภาคส่วน
ส่วนทางเลือกที่ 3 ทางสายกลาง เจรจาแต่ไม่ให้หมดเริ่มจากสูตรสำเร็จของเวียดนามและอินโดนีเซียที่เสนอ 0% และ Total Access แล้วดูข้อเสนอไทยที่ให้ไม่ได้และนำออกจากโต๊ะเจรจา ซึ่งต้องรับสภาพอัตราภาษีสูงกว่าเวียดนามและอินโดนีเซียเล็กน้อย
“ตัวเลขที่ไทยต้องพยายามให้ได้คือ 25% เพราะหากอัตรา Tariffs ลดลงมาเพียงเล็กน้อยที่ 30% ยังมีส่วนต่างคู่แข่ง 10-11% คงยากที่จะแข่งขันได้ ทั้งส่งออกและดึงดูดการลงทุน แต่ถ้าจบที่ 25% จะเหลือส่วนต่าง 5%-6% ให้เอกชนปรับตัว ภาคส่งออกยังไปได้และเยียวยาภาคส่งออกน้อยลงมาก”
ส่วนการดึงเอฟดีไอยังไปได้และบริษัทต่างชาติยังไม่มองข้ามไทย โดยมีรัฐช่วยลดค่าใช้จ่ายทดแทนส่วนต่าง 5-6% ครอบคลุมพลังงาน กฎระเบียบและค่าธรรมเนียมอื่น ซึ่งยังมีความเสียหายแต่บริหารจัดการได้
ขณะที่ความเสียหายภาคส่งออกและอนาคตระยะยาวของไทยมีบ้างแต่ไม่มากเกินไป ทั้งสองจะยังเป็นฐาน ให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้ และนำรายได้มาเยียวยาภาคเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดให้สินค้าสหรัฐเข้ามาแข่งขันครั้งนี้
ส่วนเงินเยียวยาที่เตรียมไว้ 2 แสนล้านบาทน่าจะเพียงพอ และเมื่อกระบวนการปรับเปลี่ยนได้ดำเนินไป ความต้องการเยียวยาก็จะค่อยๆ ลดลง ทางสายกลางนี้ น่าจะเป็น ทางเลือกที่เราเสียหายน้อยที่สุดในระยะยาว