43 จังหวัด เช็กด่วน! เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าหลาก ดินโคลนถล่ม 19 - 24 ก.ค.
ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก คลื่นลมกำลังแรง
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีประกาศฉบับที่ 2 (182/2568) ประกาศ ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2568 แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 19 - 24 กรกฎาคม 2568 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนบน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตอนบน และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม
นอกจากนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มีประกาศฉบับที่ 12/2568 ประกาศ ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2568 แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 20 - 24 กรกฎาคม 2568 มีพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมือง เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ เฝ้าระวังกิจกรรมทางน้ำและการสัญจรทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง จึงขอแจ้งพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ระหว่างวันที่ 19 - 24 กรกฎาคม 2568 แยกเป็น
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ระหว่าง 19 - 24 กรกฎาคม 2568
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินโคลนถล่ม
- ภาคเหนือ จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอปางมะผ้า อำเภอปาย อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง และอำเภอสบเมย) จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอเชียงดาว อำเภอสะเมิง อำเภอสันป่าตอง อำเภอฝาง และอำเภอจอมทอง) จังหวัดเชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่สาย อำเภอพญาเม็งราย อำเภอเวียงชัย อำเภอเทิง อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงแก่น อำเภอแม่จัน และอำเภอเชียงแสน) จังหวัดลำพูน (อำเภอเมืองลำพูน อำเภอแม่ทา และอำเภอลี้) จังหวัดลำปาง (อำเภองาว อำเภอเถิน อำเภอเมืองปาน อำเภอเสริมงาม อำเภอวังเหนือ และอำเภอสบปราบ)
จังหวัดพะเยา (อำเภอเมืองพะเยา อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง อำเภอเชียงคำ และอำเภอเชียงม่วน) จังหวัดแพร่ (อำเภอเมืองแพร่ อำเภอวังชิ้น อำเภอสูงเม่น อำเภอเด่นชัย อำเภอสอง และอำเภอลอง) จังหวัดน่าน (ทุกอำเภอ) จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ อำเภอลับแล อำเภอพิชัย อำเภอทองแสนขัน อำเภอบ้านโคก อำเภอฟากท่า อำเภอท่าปลา และอำเภอน้ำปาด) จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด และอำเภอแม่สอด) และจังหวัดอุทัยธานี (อำเภอบ้านไร่)
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย (อำเภอปากชม อำเภอภูกระดึง และอำเภอท่าลี่) จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย อำเภอโพนพิสัย และอำเภอรัตนวาปี) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง และอำเภอปากคาด) จังหวัดอุดรธานี (อำเภอเมืองอุดรธานี และอำเภอนายูง) จังหวัดสกลนคร (อำเภออากาศอำนวย และอำเภอสว่างแดนดิน) และจังหวัดนครพนม (อำเภอศรีสงคราม และอำเภอนาทม)
- ภาคกลาง จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอสังขละบุรี และอำเภอทองผาภูมิ) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอขลุง อำเภอท่าใหม่ อำเภอนายายอาม อำเภอมะขาม และอำเภอแหลมสิงห์) และจังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด อำเภอเขาสมิง อำเภอคลองใหญ่ และอำเภอบ่อไร่)
- ภาคใต้ จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง (ทุกอำเภอ) จังหวัดพังงา (อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอกะปง และอำเภอท้ายเหมือง) และจังหวัดภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุเก็บกัก บริเวณจังหวัดตาก ลำปาง ลำพูน พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย หนองคาย สกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี และกระบี่
พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ
บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำอิง บริเวณอำเภอเชียงคำ เทิง พญาเม็งราย ขุนตาล และเชียงของ จังหวัดเชียงราย แม่น้ำสาย บริเวณอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แม่น้ำปิง บริเวณอำเภอเชียงดาว แม่แตง แม่ริม และสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ แม่น้ำยม บริเวณอำเภอสอง จังหวัดแพร่ แม่น้ำน่าน บริเวณอำเภอเมืองน่าน ท่าวังผา ภูเพียง และเวียงสา จังหวัดน่าน ห้วยหลวง บริเวณอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ลำน้ำก่ำ บริเวณอำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม ลำน้ำยัง บริเวณอำเภอเสลภูมิ และโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร และลำเซบาย บริเวณอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
พื้นที่เฝ้าระวังกิจกรรมทางน้ำและการสัญจรทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา
บริเวณ จังหวัดอ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากการปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 490 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 500 - 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
พื้นที่เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง
เนื่องจากมีปริมาณฝนตกสะสม บริเวณสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มส่งผลกระทบพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขง จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี
พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง
- ภาคกลาง จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชัง อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ) จังหวัดระยอง (อำเภอเมืองระยอง อำเภอบ้านฉาง และอำเภอแกลง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอนายายอาม อำเภอท่าใหม่ อำเภอแหลมสิงห์ และอำเภอขลุง) และจังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด อำเภอแหลมงอบ อำเภอคลองใหญ่ อำเภอเกาะช้าง และอำเภอเกาะกูด)
- ภาคใต้ จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร (อำเภอเมืองชุมพร อำเภอปะทิว อำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก อำเภอหลังสวน และอำเภอละแม) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอไชยา อำเภอท่าชนะ อำเภอท่าฉาง อำเภอพุนพิน อำเภอดอนสัก อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอเกาะสมุย และอำเภอเกาะพะงัน) จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง อำเภอสุขสำราญ และอำเภอกะเปอร์) จังหวัดพังงา (อำเภอเกาะยาว อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอท้ายเหมือง อำเภอตะกั่วป่า และอำเภอคุระบุรี) จังหวัดภูเก็ต (ทุกอำเภอ) จังหวัดกระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอคลองท่อม อำเภอเกาะลันตา อำเภอเหนือคลอง และอำเภออ่าวลึก) จังหวัดตรัง (อำเภอกันตัง อำเภอสิเกา อำเภอปะเหลียน และอำเภอหาดสำราญ) และจังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตูล อำเภอละงู อำเภอท่าแพ และอำเภอทุ่งหว้า)
แจ้ง 43 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงภัยให้เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 43 จังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ โดยได้กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้จัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่เสี่ยงและบริเวณที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ใน 24 ชั่วโมง พื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง และพื้นที่ที่ยังมีสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ ให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อลดผลกระทบจากเหตุอุทกภัยให้ได้มากที่สุด
พร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีหากเกิดสถานการณ์
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีความเสี่ยงเกิดสถานการณ์ภัยให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้บุคคลใดเข้าพื้นที่ ในกรณีที่มีคลื่นลมแรง ขอให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณแจ้งเตือนบริเวณชายฝั่งทะเลห้ามนักท่องเที่ยวเล่นน้ำโดยเด็ดขาด และให้แจ้งชาวเรือ ผู้บังคับเรือ และผู้ประกอบการเดินเรือโดยสารเพิ่มความระมัดระวัง ในการเดินเรือหากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรง ให้พิจารณาห้ามเดินเรือเด็ดขาด พร้อมกันนี้ให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัย และพร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีหากเกิดสถานการณ์ขึ้น ตลอด 24 ชั่วโมง และขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์โดยปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางราชการอย่างเคร่งครัด
ประชาชนพื้นที่เสี่ยงภัยขอให้ติดตามสภาพอากาศ ประกาศการแจ้งเตือน
สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ในระยะนี้ขอให้ติดตามสภาพอากาศ ประกาศการแจ้งเตือนภัย สถานการณ์น้ำในพื้นที่ และข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยสามารถ ติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน "THA DISASTER ALERT" ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ ทั้งระบบ IOS และ Android และหากความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ "ปภ.รับแจ้งเหตุ1784" โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เส้นทางพายุโซนร้อน “วิภา” ร่องมรสุมพาดผ่านไทย เตรียมรับมือฝนตกหนักหลายพื้นที่
กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนฉบับ 3 เปิดรายชื่อจังหวัดฝนตกหนักถึงหนักมาก 19-24 ก.ค. 2568
เตือนสัปดาห์อันตราย 21-28 กรกฎาคมนี้ เตรียมรับมือฝนตกหนัก-ชุมชนหลายพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง