‘ภท.’เดินเกมขวางถอนร่างเอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ ‘ภราดร’ข้องใจเป็นดีลลับจาก‘คลิปเสียง’
ถอนไม่เท่ายกเลิก!‘ภท.’เดินเกมขวางถอน‘ร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ’ ชงลากมาพิจารณาลงมติในสภาฯ ลั่นยกมือคว่ำยันจุดยืนต้อง‘ถอนรากถอนโคน’ ข้องใจเป็นดีลลับจาก‘คลิปเสียง’หรือไม่ ซัดเป็นการแก้เกม‘เสียงในสภาฯไม่พอ’ ด้าน‘จุลพันธ์’โร่ปัดมีดีล แจงมีคนเห็นต่าง-รัฐบาลถูกปัญหารุมเร้า ลามเหน็บ‘ดีลวงกินข้าว’ ร้อนถึง‘โรม’ลุกโวเรื่องแค่นี้‘สั่นสะเทือนรัฐบาล’ได้
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. … (เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีหนังสือมาถึงสภาฯ เมื่อ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา ขอถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากระเบียบวาระ
ทั้งนี้การถอนร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น หลังจากที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ อภิปรายว่า ไม่คัดค้านต่อการถอนร่างกฎหมายดังกล่าว และไม่จำเป็นต้องขอมติเนื่องจากไม่มีความเห็นแย้ง แต่ตนขอคำยืนยันจากรัฐบาลว่า หากถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปแล้ว จะไม่เสนอกลับเข้ามาสู่สภาฯ อีก
ทว่าหลังจากนั้น นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ได้ลุกขึ้นเสนอญัตติคัดค้านการถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากวาระของสภาฯ พร้อมกับขอคำชี้แจงจากรัฐบาล
ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ฐานะตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชี้แจงเหตุผลว่าเพราะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งครม. ชุดใหม่ที่มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรี 14 ตำแหน่ง ดังนั้นจึงเป็นความเหมาะสมให้ครม. ที่เป็นชุดใหม่ ได้โอกาสทบทวนเพื่อพิจารณาให้รอบคอบ
ทั้งนี้กระทรวงการคลังทำเรื่องให้ ครม. พิจารณายอมรับว่ามีความไม่เข้าใจจากสังคม ดังนั้นต้องให้เวลาพิจารณาให้รอบคอบ ขณะเดียวกันการปรับเปลี่ยนกฎหมายเป็นสิทธิที่ชอบธรรมของ สส.ที่จะปรับเปลี่ยนให้รัดกุมเหมาะสม แต่ไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่ว่ากฎหมายมีปัญหา ตนยืนยันว่าหลักการและเหตุผล เชื่อว่าเป็นประโยชน์กับสังคม
“รัฐบาลเจตนาดีต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดการจ้างงาน การ ลงทุนขนาดใหญ่ และสร้างสถานที่ท่องเที่ยวแบบคนสร้าง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคการท่องเที่ยว โดยการขับเคลื่อนเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้เมื่อมีความหลากหลายทางความคิดในสังคม ขณะที่ประเทศไทยมีปัญหารุมเร้าทั้งปัญหาชายแดน เศรษฐกิจระดับโลก สงครามการค้า รัฐบาลต้องการลดปัจจัยความขัดแย้งในสังคม ผ่อนเบาสถานการณ์ให้ดีขึ้น” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ที่ตั้งคำถามว่าเมื่อถอนร่างกฎหมายออกไปจะนำกลับเข้ามาอีกหรือไม่นั้น ตนตอบไม่ได้เพราะเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี แต่กฎหมายลักษณะนี้ใช้กระบวนการนาน และหากในสภาฯเห็นต่างจะทำให้ต้องใช้เวลานานเป็นเท่าตัว เมื่อมีเวลาจำกัดต้องดูว่าทำทันหรือไม่ ซึ่งตนมองว่าเป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ดี นายภราดร อภิปรายโต้แย้งว่า การประกาศเดินหน้าก่อนนั้นเป็นเพราะมีดีลลับตามคลิปเสียงที่ถูกเผยแพร่มาหรือไม่ ตนมองว่าเหตุผลของการถอยเป็นเหตุผลทางการเมือง ที่บอกว่า ครม. เปลี่ยน แต่ขณะนี้ในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงคลังไม่เปลี่ยนแปลง แต่อาจมีเปลี่ยนเฉพาะรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย 8 คน และไม่มี 69 เสียงของภูมิใจไทยอยู่ฝั่งรัฐบาล ที่บอกว่าหากมีเวลาเหมาะสมจะกลับมา หมายถึงว่าได้เสียงจากการดีลงูเห่าเรียบร้อยเสียงเพียงพอที่จะผ่านร่างกฎหมายใช่หรือไม่
“ก่อนลงมติ ขออย่าบิดเบือนเจตนารมณ์ของพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่ให้ยอมถอน ทั้งที่ไม่เห็นด้วยกับกาสิโน ผมยืนยันจุดยืนเดิมคือไม่เห็นด้วย และไม่มีวันเห็นด้วยกับกาสิโน แต่ที่ต้องการให้พิจารณาต่อ เพื่อแสดงจุดยืนให้เห็นว่าการถอนออกไปนั้นไม่เท่ากับการยกเลิก และไม่อยากเห็นนโยบายเรื่องดังกล่าวเข้าสู่สภาต่อไป ดังนั้นจำเป็นต้องเดินหน้าพิจารณาลงมติไม่เห็นด้วย เพื่อถอนรากถอนโคนกฎหมายดังกล่าว ” นายภราดร กล่าว
นายภราดร กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประเทศมหาอำนาจมีความพยายามแซงชั่นนโยบายกาสิโนของรัฐบาล และพรรคภูมิใจไม่ต้องการเห็นนโยบายดังกล่าวเดินหน้า หากจะให้ตนเห็นด้วยกับการถอนร่างกฎหมาย รัฐบาลต้องยืนยันกับประชาชนว่าในสภาชุดที่ 26 จะไม่พิจารณาร่างกฎหมายที่พ่วงกาสิโนได้ ตนจะไม่ติดใจ หากมีการเลือกตั้งขอให้รัฐบาลนำนโยบายนี้หากเสียง หากชนะเลือกตั้งค่อยกลับมาเสนอ
ทำให้นายจุลพันธ์ ชี้แจงว่า ไม่มีดีลลับต่อการทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ส่วนกรณีที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯโดนเแอบอัดเทป ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นกับประชาชน ส่วนดีลกินข้าว ไม่รู้คุยอะไร แต่ประเด็นนี้ไม่มี ทั้งนี้แม้ว่ารัฐมนตรีทีดูแลกระทรวงการคลังจะไม่ถูกเปลี่ยนตัว แต่เมื่อกระทรวงอื่นเปลี่ยนรัฐมนตรีทีดูแล จึงมีสิทธิทบทวนกฎหมายได้เป็นปกติ
“ที่บอกว่าจะเสนอมาอีกหรือไม่ ผมตอบไม่ได้ ท่านเคยเป็นรองประธานสภาฯ ต้องมีความรู้เพียงพอ เพราะให้ตอบที่ตอบไม่ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของครม. แต่ที่บอกว่าให้เดินหน้าโหวตตก ท่านก็ทราบว่าเมื่อกฎหมายตกในสมัยนี้ สมัยหน้ายื่นได้อีก ไม่ใช่ว่าตีตกแล้วจะพิจารณาไม่ได้ตลอดชาติ ทั้งนี้ที่มีการกล่าวอ้างเมื่อคืน และนายอนุทิน ชาญวีรกูลได้โพสต์เรื่องการพูดคุยกับผู้นำระหว่างประเทศ ต้องทราบโดยมารยาทว่าไม่สามารถนำออกมาจากที่ลับสู่ที่แจ้งได้ทั้งนี้ยืนยันว่าครม. บริหารประเทศโดยยึดประเทศ ไม่ได้พิจารณาจากปัจจัยภายนอกแน่นอน” นายจุลพันธ์ ชี้แจง
รมช.คลัง ชี้แจงด้วยว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอสู่สภาฯ หลายเดือน วันที่เข้ามาแม้องค์ประกอบ ครม. แตกต่างเพราะมีบางพรรคถอนตัว บางพรรคยังอยู่ในรัฐบาล แต่วันที่นำเสนอ พรรคท่านร่วมนำเสนอและโดยผู้บริหาร
“หากบอกว่าไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น แต่การนำเสนอต่อสื่อ ยังบอกว่าเห็นดีเห็นงาม วันนี้เปลี่ยนรัฐบาล การตัดสินใจเปลี่ยนความคิดได้ผมยอมรับ เพราะต้องเปลี่ยนตามกาลเวลา แต่วันนั้นบอกสนับสนุนเพื่ออยู่ในตำแหน่งรัฐบาลแม้ไม่เห็นด้วยยกมือให้ใช่หรือไม่ ทำไมวันที่ไม่เห็นด้วยไม่ถอนตัวออกไปตั้งแต่วันนั้น ดังนั้นวันนี้ลองถอยมาก้าวหนึ่งเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ไม่รู้ว่าจะกลับมาเมื่อไร” รมช.คลัง
ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ใช้สิทธิพาดพิง เพื่อชี้แจงประเด็นรวมรับประทานอาหารกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยว่า ไม่ใช่ดีลร่วมรัฐบาล ไม่มีพฤติกรรมตระบัดสัตย์ ตนแปลกใจว่าการกินข้าวของตน เขย่ารัฐบาลให้สะเทือน และสร้างความเปราะบางให้รัฐบาลได้อย่างไร
“ผมไม่เคยนึกว่า ต้องนำประเด็นนี้ ดิสเครดิตกัน สิ่งที่ต้องการรู้ คือจะเอากฎหมายฉบับดังกล่าวกลับเข้ามาหรือไม่ตอบให้เคลียร์และชัด ไม่ใช่ว่าเสียงไม่พอ มีปัญหาองค์ประชุม ขอกลับไปตั้งหลักให้เข้มแข็ง และเสนอใหม่ ปัญหาและเหตุผลที่ไล่เรียงมานั้นฟังไม่ขึ้น” นายรังสิมันต์ กล่าว
ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการโต้เถียงกันในประเด็นดีลการเมือง นายณัฐพงษ์ ได้เสนอญัตติไม่เห็นด้วยกับการใช้ข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อที่ 88 กรณีที่ไม่มีผู้คัดค้านญัตติใดให้ถือว่าเป็นมติของที่ประชุม และเสนอให้น.ส.แพทองธาร ชินวัตรนายกฯ และรมว.วัฒนธรรม ได้ชี้แจงเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายด้วย
จากนั้นที่ประชุมได้ร่วมอภิปราย ก่อนที่จะมีลงมติในญัตติที่นายภราดร และนายณัฐพงษ์ เสนอ
-005