ภาษีทรัมป์ 36% ไทยสูงสุดในอาเซียน ฉุดส่งออก เขย่า ศก. แรงงานสะเทือนทั้งระบบ
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า เมื่อคืนวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศคงอัตราภาษีนำเข้ากับประเทศที่สหรัฐ เสียเปรียบดุลการค้าหรือไม่เอื้อเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ หรือที่เรียกว่า "Reciprocal Tariff" โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 14 ประเทศกลุ่มแรก ที่ได้รับแจ้ง และถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 36% ซึ่งหากไม่นับรวมลาว เมียนมา และกัมพูชา ถือเป็นอัตราภาษีที่สูงสุดในอาเซียน และในกลุ่ม 14 ประเทศดังกล่าว
การประกาศอัตราภาษีนี้เกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐ ผ่อนปรนอัตราภาษี 10% ซึ่งครบกำหนด 90 วันแล้ว นายธนิตตั้งข้อสังเกตว่าทำไมประเทศไทยจึงถูกสหรัฐ เรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ มาก ในเอกสารที่ทรัมป์ลงนามด้วยตัวเอง ระบุว่า "เป็นการนำอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจของสหรัฐ กลับคืนมาด้วยการจัดการกับความสัมพันธ์ทางการค้าที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งคุกคามเศรษฐกิจของประเทศตลอดจนความมั่นคงของชาติ" ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจุดยืนที่แข็งกร้าวของสหรัฐ ภายใต้นโยบาย "America First" ที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
นายธนิต ย้ำว่า การเจรจากับทีมงานของประธานาธิบดีทรัมป์นั้นไม่ใช่ลักษณะการเจรจาแบบ "Win/Win Situation Negotiate" ที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ แต่เป็นการเจรจาที่สหรัฐ ใช้ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เหนือกว่า โดยไม่ได้ต้องการ การต่อรอง แต่ต้องการให้คู่เจรจาเสนอว่าจะให้อะไรได้มากที่สุด ซึ่งหมายถึงสถานการณ์แบบ "Lost & Loss" สำหรับฝ่ายที่ถูกเรียกเก็บภาษี
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังขู่ว่าหากไทยขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐ ในอัตราใด ก็จะจัดเก็บภาษีเพิ่มเข้าไปอีกในสัดส่วนที่เท่ากัน แม้จะยังคงมีความหวังว่าอัตราภาษีดังกล่าวสามารถลดได้หากมีเงื่อนไขที่น่าสนใจ แต่ต้องสรุปให้ได้ก่อนเส้นตาย 1 สิงหาคม 2568
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และแรงงานไทย
ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนใน GDP ประมาณ 57% และตลาดสหรัฐ ถือเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ในปี 2567 สัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐ อยู่ที่ 18.30% และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 (ม.ค. - พ.ค.) สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 19.61% คิดเป็นมูลค่า 27,098.1 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 27.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การเร่งส่งออกในช่วงดังกล่าวเป็นผลมาจากการคาดการณ์ว่าสหรัฐ จะประกาศใช้มาตรการภาษีใหม่
อัตราภาษี 36% ที่ไทยถูกเรียกเก็บนี้ เกินความคาดหมาย และเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst-Case Scenario) เพราะเคยคิดว่าอย่างมากอาจต่อรองได้เหลือเพียง 20-25%
ภาคการส่งออกของไทยเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ มีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ และเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน อาทิ
อุตสาหกรรมในประเทศ: วัตถุดิบ, สินค้ากึ่งสำเร็จรูป, อะไหล่เครื่องจักร, วัสดุสิ้นเปลืองในการผลิต
ธุรกิจบริการ: โลจิสติกส์ (การเดินเรือ, เครื่องบิน, รถบรรทุก, ศูนย์กระจายสินค้า)
อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์: กล่อง, ลัง, พาเลท
อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร: ข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง, ประมง, ปศุสัตว์
ภาคการส่งออก และห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องมีบทบาทสำคัญต่อการจ้างงาน โดยมีการประมาณการเบื้องต้นว่า มีแรงงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 18-20 ล้านคน หากอัตราภาษีนำเข้าไปยังตลาดสหรัฐ ของไทยสูงกว่าคู่แข่งอย่างเวียดนาม และอินโดนีเซีย (ซึ่งเวียดนามถูกเรียกเก็บภาษี 20%) จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อปริมาณ และมูลค่าการส่งออกที่ลดลง ผลที่ตามมาคือ การลดกำลังการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหา แรงงานส่วนเกิน ทั้งทางตรง และทางอ้อมที่อาจต้องสูญเสียตำแหน่งงาน และ/หรืออาชีพ โดยผลกระทบจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับสัดส่วนการพึ่งพิงตลาดสหรัฐ ของอุตสาหกรรมหรือภาคบริการนั้นๆ
ภาคส่วนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของทรัมป์ ได้แก่
- เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ
- ผลิตภัณฑ์ยาง
- อัญมณี และเครื่องประดับ
- เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ
- เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ และส่วนประกอบอื่นๆ
- เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ
- รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ
- อุปกรณ์กึ่งตัวนำ-ทรานซิสเตอร์
- เหล็ก และผลิตภัณฑ์จากเหล็ก
- ผลิตภัณฑ์พลาสติก
- อาหารสัตว์
- อาหารทะเล/ผลไม้กระป๋อง และแปรรูป
นายธนิต ชี้ว่า ตลาดสหรัฐ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย การที่ประธานาธิบดีทรัมป์คงอัตราภาษี "Reciprocal Tariff" ที่ 36% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในอาเซียน หากไทยไม่สามารถมีข้อเสนอหรือดีลใหม่ๆ ที่ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ สนใจ และลดภาษีให้ใกล้เคียงหรือเท่ากับเวียดนามได้ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคเศรษฐกิจ เนื่องจากภาคการส่งออกมีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ และเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน อัตราภาษีที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนามอยู่ที่ 20% จะทำให้ ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง หรือไม่สามารถแข่งขันได้
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ผู้นำเข้าสหรัฐ จะมีการปรับเปลี่ยนแหล่งนำเข้าใหม่ ซึ่งคาดว่าคำสั่งซื้อจะเริ่มลดลงในช่วงเดือนกันยายน โดยอุตสาหกรรม และภาคบริการอย่างน้อย 1 ใน 5 จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง การผลิตที่ลดลงมีผลต่อการใช้แรงงานที่ลดลง แต่จำนวนที่แน่นอนยังไม่สามารถประเมินได้ในขณะนี้
ภาคแรงงานที่อยู่ในภาคส่งออก และห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบเป็นทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค ครัวเรือนแรงงานจึงเป็นกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลงเป็นลูกโซ่ไปถึงภาคค้าส่ง-ค้าปลีก และการซื้อสินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ยานพาหนะ หรืออสังหาริมทรัพย์ ยอดขายที่หดตัวจะนำมาซึ่งปัญหาสภาพคล่องในภาคธุรกิจ การเลิกจ้าง และหนี้เสีย (NPL) ของสถาบันการเงิน
"ทีมประเทศไทย" ซึ่งเป็นทีมเจรจา มีงานหนักในช่วงเวลาที่เหลือไม่มากนัก ไม่ควรเพียงแค่บอกว่า "เสนอไปแล้ว" แต่ไม่รู้ว่าทรัมป์จะพิจารณาหรือไม่ จำเป็นต้องมีการ ล็อบบี้ เพื่อให้ทรัมป์ลดภาษีลงมาให้ใกล้เคียงกับเวียดนาม แม้จะดูเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายก็ตาม
ในสถานการณ์เช่นนี้ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องประเมินว่าเศรษฐกิจไทยภายใต้ภาษีที่รุนแรงเช่นนี้จะรับมืออย่างไร และประเมินผลกระทบหากการส่งออกไปสหรัฐ หายไปครึ่งหนึ่ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาคแรงงาน สำนักพยากรณ์เศรษฐกิจภาคเอกชนประเมินว่าหากภาษีของทรัมป์อยู่ในระดับนี้ เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้เพียง 1% หรือต่ำกว่า ในระยะกลาง การลงทุนจะลดลงยิ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้ว
ขณะที่รัฐบาลยังคงขาดความเชื่อมั่น และขาดเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้ความทุ่มเทในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอ่อนแอลง ภายใต้สภาวการณ์ที่ไม่เอื้อ และมีความเสี่ยงต่อการอยู่รอดของธุรกิจ ภาคเอกชนทั้งนายจ้าง และลูกจ้างคงต้องจับมือกันเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ "รอบนี้หนัก"
นายธนิต เปิดเผยว่า ได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ เพื่อเรียกประชุมผู้ส่งออก และห่วงโซ่อุปทานมาให้ความเห็น และประเมินผลกระทบ ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นได้ภายในช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนนี้
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์