คดีนักเทนนิสหญิงชาวอินเดีย ถูกพ่อสังหาร เพราะ ‘ศักดิ์ศรีความเป็นพ่อ’ สะท้อนภาพปัญหาอะไรในสังคมอินเดีย?
ถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญของอินเดีย ที่เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี (10 กรกฎาคม 2568) ที่ผ่านมา หลังจากที่นักเทนนิสหญิงชาวอินเดีย ถูกฆาตกรรมในบ้านของตัวเอง โดยผู้ที่สังหารเธอก็คือ ‘พ่อ’ ของเธอเอง ซึ่งเมื่อทราบถึงเหตุผลในการสังหารแล้วก็ทำให้โลกตะลึงยิ่งกว่าเดิม
เรื่องราวนี้เป็นเรื่องของ ‘ราธิกา ยาดาฟ’ นักเทนนิสชาวอินเดีย วัย 25 ปี ซึ่งถูกยิง 4 นัดเสียชีวิต ขณะกำลังทำอาหารอยู่ในครัวที่บ้าน ในเมืองคุร์เคาน์ ซึ่งเป็นย่านศูนย์กลางทางการเงินและเทคโนโลยี ใกล้กรุงนิวเดลี ซึ่งผู้ที่ลงมือสังหารก็คือพ่อของเธอเอง
ปัจจุบันเธอเป็นเจ้าของสถาบันสอนเทนนิส India Today ระบุว่า เธอมีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ และกำลังโด่งดังบนโซเชียลมีเดียจากคลิปที่เธอสอนเด็กๆ ไปด้วยและทำคอนเทนต์ไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัว ‘ดีปัค ยาดาฟ’ พ่อของราธิกา ในเวลาต่อมา และได้ยึดปืน (ที่มีใบอนุญาต) ซึ่งเขาสารภาพกับตำรวจโดยบอกว่า เขารู้สึกไม่สบายใจจากคำวิจารณ์จากญาติพี่น้อง รวมถึงชาวบ้านที่มักจะเยาะเย้ยว่าเขาให้ลูกสาวเลี้ยงดู ขณะที่บางคนก็ตั้งคำถามถึงนิสัยของลูกสาว ซึ่งส่วนตัวเขาได้บอกให้ลูกสาวปิดสถาบันสอนเทนนิส แต่เธอก็ปฏิเสธ
พ่อของราธิกา รู้สึกอับอายที่ลูกสาวเป็นคนมีชื่อเสียงและหาเงินเข้าบ้าน ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นหน้าที่ของผู้ชาย และนำมาซึ่งแรงจูงใจในการสังหารลูกสาวของตัวเอง ซึ่งจากกรณีของราธิกา ได้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับวัฒนธรรม ‘ชายเป็นใหญ่’ ในครอบครัว และตามมาด้วยคำถามมากมายเกี่ยวกับการกดขี่-ทำร้ายผู้หญิง โดยผู้ชายในสังคมของอินเดีย
- สังคมชายเป็นใหญ่ในอินเดีย -
ไม่ว่าจะวรรณะ ศาสนา และวัฒนธรรมในอินเดีย ต่างก่อให้เกิดโครงสร้างแบบปิตาธิปไตย (ชายเป็นใหญ่) โดยการจำกัดสิทธิในการตัดสินใจของผู้หญิง และเสริมสร้างความเหลื่อมล้ำทางเพศ สิ่งนี้ดำเนินไปอย่างลึกซึ้งภายใต้กรอบของสังคมอินเดีย มีอิทธิพลต่อกฎหมาย ประเพณี และการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
เว็บไซต์ Gender Study ระบุว่า วรรณะมีบทบาทกับสังคมในอินเดียอย่างมากและอยู่มายาวนาน อีกทั้งยังเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์แม้กระทั่งการเลือกคู่แต่งงาน และมองผู้หญิงเป็นเพียงสินค้าที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ ซึ่งคนที่สามารถเลือกและควบคุมได้ก็จะมีเพียงพ่อ-พี่ชาย หรือสามี
Gender Study ระบุหนึ่งในวัฒนธรรมของปิตาธิปไตยในอินเดียที่เห็นได้ชัดที่สุดคือเกียรติของผู้หญิงที่มักจะถูกผูกกับความบริสุทธ์ทางเพศ ซึ่งหากเบี่ยงเบนไปนอกจากนี้จะถูกมองว่าไร้เกียรติและน่าอับอาย ซึ่งมันก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมที่โทษผู้หญิงว่าเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ ในขณะที่ผู้ชายแทบจะไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ เลย
ซึ่งวัฒนธรรมดังกล่าวยังส่งผลต่อการมีลูกอีกด้วย อ้างอิงจากผลสำรวจโดย Pew Research ใ่นช่วงปลายปี 2019 ถึงต้นปี 2020 ระบุว่าชาวอินเดียให้ความสำคัญกับการมีทั้งลูกชายและลูกสาว แต่กว่า 94% บอกว่าครอบครัวจะต้องมีลูกชายอย่างน้อยหนึ่งคน และอีก 90% บอกจะต้องมีลูกสาวอย่างน้อยหนึ่งคน แต่ 4 ใน 10 คน มองว่าลูกชายควรมีหน้าที่หลักในการดูแลพ่อแม่ยามที่พวกเขาแก่เฒ่า
- เปิดสถิติความรุนแรงในครอบครัว -
ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐฯ (NIH) ระบุอัตราความรุนแรงในครอบครัวต่อผู้หญิงในอินเดีย ช่วงปี 2019-2021 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 31.2% โดยพบว่าผู้หญิงประมาณ 28.5% บอกว่าเคยประสบความรุนแรงทางร่างกาย 13.1% เคยประสบความรุนแรงทางอารมณ์ และ 5.7% เคยประสบความรุนแรงทางเพศ ซึ่งรัฐกรณาฏกะเป็นที่มีผู้หญิงกว่า 47.3% เผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุด
Pew Research ระบุความเห็นของชาวอินเดียที่มองว่าผู้ชายควรมีบทบาทสำคัญมากกว่าผู้หญิง ซึ่งประมาณ 9 ใน 10 คนเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าภรรยาต้องเชื่อฟังสามีเสมอ แบ่งเป็นผู้หญิงที่เห็นด้วย 61% และผู้ชาย 67%
แม้อินเดียจะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรงในครอบครัวปี 2005 (PWDVA 2005) ที่กำหนดให้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นอาชญากรรมที่มีผลทางกฎหมาย เช่น การจำคุกและเสียค่าปรับ แต่ปัจจุบันก็ยังคงมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ด้อยโอกาส ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบมากมาย ทั้งทางกายและทางใจต่อผู้หญิงด้วย
- ความเท่าเทียมทางเพศแบบอินเดีย -
เมื่อพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศแล้ว ชาวอินเดียก็มีมุมมองต่อเรื่องนี้ในบางประการเช่นกัน ยกตัวอย่างผลการสำรวจจาก Pew Research ผู้ใหญ่ชาวอินเดียกว่า 62% มองว่าทั้งผู้ชายและผู้หญิงควรรับผิดชอบในการดูแลเด็ก แต่ด้วยบรรทัดฐานทางเพศแบบดั้งเดิมก็ยังคงมีอิทธิพลในประชากรส่วนใหญ่ โดยผู้ใหญ่ประมาณ 1 ใน 3 หรือราวๆ 34% รู้สึกว่าเด็กควรได้รับการดูแลจากผู้หญิงเป็นหลัก
มองออกมาในโลกของการทำงานกันบ้าง คนส่วนใหญ่ (54%) กล่าวว่าทั้งผู้ชายและผู้หญิงในครอบครัวควรรับผิดชอบเรื่องการหารายได้เข้าบ้าน แต่ก็ยังมีชาวอินเดียอีกกว่า 43% ที่มองว่ามันต้องเป็นหน้าที่ของผู้ชายเป็นหลัก ขณะที่บางคนบอกว่า ในเวลาที่งานขาดแคลน ผู้ชายก็ควรจะมีสิทธิถูกจ้างงานมากกว่าผู้หญิง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของผู้ชายในด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกว่า 8 ใน 10 คน เห็นด้วยกับแนวคิดนี้
เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เป็นปัญหาในสังคมอินเดียที่น่าติดตามต่อว่าจะมีทิศทางไปในทางไหนในยุคสมัยที่เปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้หญิงแล้ว แต่อินเดียก็ยังคงประสบปัญหาอื่นๆ ที่กดทับกันอยู่หลายชั้น ทั้งการบังคับใช้ และการผูกโยงคุณค่าของผู้หญิงกับศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้อย่างเร็ววัน
อ้างอิงจาก