รมว.คลังสหรัฐ จี้ปฏิรูประบบกำกับดูแลการเงิน “เฟด” ยกเลิกข้อเสนอเงินกองทุนธนาคารยุคไบเดน
รมว.คลังสหรัฐ เดินหน้าผลักดันการปฏิรูปภาคการเงินครั้งใหญ่ เสนอให้ยกเลิกข้อกำหนดเงินกองทุนแบบโครงสร้างคู่ ชี้สร้างภาระเกินจำเป็น ลดการปล่อยกู้ และบิดเบือนตลาด
วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เวลา 07.58 น. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปอย่างลึกซึ้งต่อระบบกำกับดูแลทางการเงินของประเทศที่เขาเรียกว่า ล้าสมัย และเสนอให้ผู้กำกับดูแลพิจารณายกเลิกข้อเสนอด้านเงินกองทุนแบบโครงสร้างคู่ (dual capital requirement) ที่เสนอในยุคของประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งเขามองว่ามีข้อบกพร่อง
ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมกำกับดูแลของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เบสเซนต์ระบุว่าข้อกำหนดด้านเงินกองทุนที่มากเกินไป กำลังสร้างภาระโดยไม่จำเป็นต่อสถาบันการเงิน ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อลดลง กระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ และบิดเบือนตลาดโดยผลักดันให้การปล่อยสินเชื่อไปอยู่ในภาคที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank sector)
“เราต้องการการปฏิรูปที่ลึกซึ้งขึ้น โดยมีแผนแม่บทระยะยาวที่มุ่งเน้นนวัตกรรม เสถียรภาพทางการเงิน และการเติบโตที่ยั่งยืน” เบสเซนต์กล่าว
ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ กระทรวงการคลังกำลังผลักดันวาระปฏิรูปขนานใหญ่เพื่อลดกฎระเบียบที่ใช้ควบคุมสถาบันการเงิน รวมถึงข้อกำหนดด้านเงินกองทุน โดยเชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและเปิดทางให้นวัตกรรมเติบโต
เบสเซนต์กล่าวอีกว่า ผู้กำกับดูแลในอดีตใช้แนวทางที่สะท้อนปฏิกิริยามากเกินไป ซึ่งบั่นทอนความสามารถในการแข่งขัน และนำไปสู่ระเบียบที่ซับซ้อนเกินความจำเป็น
เขายังกล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังจะมีบทบาทนำในการผลักดันการปฏิรูปมากขึ้น รวมถึงการทำงานร่วมกับเฟดและหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ
“เราจะฝ่าภาวะชะงักงันทางนโยบาย เคลียร์ความขัดแย้งเรื่องเขตอำนาจ สร้างฉันทามติ และผลักดันให้เกิดการดำเนินการ โดยไม่ให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป” เบสเซนต์กล่าว
นอกจากนี้เบสเซนต์ยังเรียกร้องให้ผู้กำกับดูแลธนาคารพิจารณายกเลิกข้อเสนอโครงสร้างคู่ที่ถูกเสนอในเดือนกรกฎาคม 2566 แต่ยังไม่ถูกนำมาใช้ ข้อเสนอดังกล่าวจะบังคับให้ธนาคารต้องปฏิบัติตามวิธีการวัดความเสี่ยงด้านเงินกองทุนที่เข้มงวดกว่าในสองแนวทางที่กำหนดไว้
ข้อเสนอนี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ล้มของธนาคาร Silicon Valley Bank และสถาบันการเงินอื่น ๆ ในปี 2566 โดยจะทำให้ธนาคารต้องกันเงินสำรองสำหรับความเสี่ยงในระดับที่สูงขึ้นมาก ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างหนักจากภาคอุตสาหกรรมการเงิน
“โครงสร้างคู่นี้ไม่ได้มีที่มาจากหลักการทางวิชาการที่มีเหตุผล หากแต่เป็นการย้อนสร้างตัวเลขเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ …และยังขัดแย้งกับเป้าหมายของการปฏิรูปเงินกองทุนในฐานะโครงการปรับปรุงให้ทันสมัย เพราะมันจะคงโครงสร้างเก่าไว้เป็นฐานขั้นต่ำสำหรับธนาคารขนาดใหญ่ส่วนใหญ่”
เขายังเสนอให้มีการลดข้อกำหนดด้านเงินกองทุนสำหรับธนาคารขนาดเล็กและธนาคารชุมชนด้วย โดยเสนอให้ธนาคารที่ไม่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดสมัยใหม่สามารถเลือกเข้าร่วมระบบใหม่ได้โดยสมัครใจ ซึ่งจะทำให้สามารถลดระดับเงินกองทุนลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
แม้จะมุ่งเน้นการผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการเติบโตและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตลาดการเงิน เบสเซนต์ย้ำว่าหน่วยงานกำกับดูแลยังต้องคงภารกิจด้านความมั่นคงทางการเงินและการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเข้มงวดต่อไป
“การจัดระเบียบและออกแบบกฎระเบียบให้เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการทำให้ระบบกำกับดูแต่อ่อนแอลง” เบสเซนต์กล่าวย้ำในช่วงท้าย
อ้างอิง : reuters.com