เมื่อกระแสคำทำนายจาก ‘มังงะ’ ญี่ปุ่น ทำผู้คนตื่นกลัวว่าจะเกิดภัยพิบัติ หรือการผูกโยงความจริงและคำทำนาย อาจมีอิทธิพลกับเรามากกว่าที่คิด
‘อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน’ คือความจริงที่ทุกคนต่างรับรู้และมักทำได้เพียงคาดการณ์ล่วงหน้า แม้เราจะไม่รู้ว่าอนาคตจริงๆ จะเป็นเช่นไร
คำทำนายจึงกลายเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจจากผู้คนทั่วโลกที่ต่างรู้สึกกังวลต่ออนาคต เช่น หมอดูชื่อดัง ผู้มีอิทธิพลทางศาสนา หรือแม้กระทั่งหนังสือ ภาพยนตร์หรือแอนิเมชัน
แม้หลายคำทำนายจะไม่เกิดขึ้นจริง แต่เมื่อคำทำนายเหล่านั้นเป็นจริงขึ้นมายิ่งสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างอิทธิพลในจิตใจของผู้คนได้ในวงกว้างไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีก็ตาม
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวอย่างของคำทำนายที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนคือเหตุการณ์แผ่นดินไหวต่อเนื่องกว่า 900 ครั้ง ที่เกาะโทคาระ ประเทศญี่ปุ่นนับตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2025 ถูกผูกโยงกับคำทำนายจากมังงะเรื่อง ‘The Future I Saw’ ของ เรียว ทัตสึกิ ที่มีการทำนายว่าจะเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2025 ส่งผลให้ผู้คนเกิดความวิตกกังวลมากขึ้นและสื่อหลายสำนักต่างลงข่าวเรื่องคำทำนายนี้ แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นและนักวิทยาศาสตร์จะยืนยันว่าไม่มีมูลความจริงทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม
สุดท้ายวันที่ 5 ก.ค. ก็ไม่เกิดอะไรขึ้นและนั่นถือเป็นเรื่องดี แต่อิทธิพลของคำทำนายยังส่งผลให้ผู้คนบางส่วนวิตกกังวลอย่างหนักและมีสภาพจิตใจแย่ลงในสภาวะที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือภัยพิบัติอยู่แล้ว ซึ่งอาจทำให้คนตื่นตระหนกเกินไปจนเกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดหรือสร้างความเหนื่อยล้าทางจิตใจได้ นอกจากนี้นักท่องเที่ยวหลายคนยังยกเลิกการไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงนี้เพราะเชื่อในคำทำนายด้วย ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเข้าไปอีก
แม้คำทำนายเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กเมื่อมันไม่เกิดขึ้นจริง แต่ความผูกพันระหว่างความเชื่อและความจริงยังยากที่จะแยกออกจากกันได้ เป็นคำถามต่อไปว่านอกจากภัยพิบัติและเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ที่ต้องเตรียมพร้อมแล้ว เราจะรับมือกับคำทำนายที่ทำให้เกิดความเชื่อเหล่านี้ได้อย่างไร
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภัยพิบัติ
เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ภัยพิบัติ’ เราอาจนึกถึงสถานการณ์ที่รุนแรงมากหรือเห็นภาพจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยพบเจอ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือภูเขาไฟระเบิด ซึ่งหลายเหตุการณ์อาจเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ก็ยังคาดเดาอย่างแม่นยำไม่ได้ทั้งหมด
ช่องว่างของความไม่แน่นอนนี้จึงมีเพียงคำทำนายที่เข้ามาเติมเต็มและส่งผลให้บางคนเลือกเชื่อตามคำทำนายเหล่านั้นมากกว่าผลวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่สามารถหาคำตอบที่แน่นอนให้กับพวกเขาได้
ในความเป็นจริงแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นถือเป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอยู่แล้ว เนื่องจากภูมิประเทศที่เป็นเกาะและตั้งอยู่ตามแนววงแหวนแห่งไฟที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวบ่อย เพียงแต่เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งผิดปกติในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเตรียมพร้อมรับมือและแจ้งเตือนประชาชนเพื่อเฝ้าระวัง
แต่ในภาวะที่ผู้คนกำลังเฝ้าระวังเหตุการณ์มีความหวั่นไหวต่อสถานการณ์อยู่แล้วอาจมีแนวโน้มที่พวกเขาจะเลือกเชื่อคำทำนายสูงขึ้น ซึ่งความเชื่อในคำทำนายมักจะถูกหล่อหลอมมาจากการเลี้ยงดู สังคม และวัฒนธรรมรอบข้าง หากคนรอบข้างส่วนใหญ่เชื่อในเรื่องนี้ก็มีแนวโน้มที่เราจะเชื่อตามไปด้วย
นอกจากนี้ สื่อต่างๆ ทั้งสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดียก็มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่และขยายความเชื่อเหล่านี้ ทำให้เกิดกระแสการรับรู้ที่ผิดไปจากความจริงและความวิตกกังวลในวงกว้างมากขึ้น
เมื่อผู้คนโฟกัสไปกับการเฝ้ารอเหตุการณ์ตามคำทำนาย ก็อาจทำให้ผู้คนละเลยการเตรียมความพร้อมในระยะยาวและบางคนอาจไม่เชื่อคำเตือนภัยอื่นๆ ตามไปด้วย แม้จะเป็นข้อมูลที่เป็นความจริงจากแหล่งที่น่าเชื่อถืออย่างภาครัฐก็ตาม
รัฐบาลญี่ปุ่นจึงออกมาย้ำเตือนข้อเท็จจริงของสถานการณ์อย่างจริงจัง และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติธรรมชาติอยู่เสมอ
เราจะรับมือกับความเชื่อเหล่านี้อย่างไร
แม้ความเชื่อบางอย่างจะพิสูจน์ไม่ได้ก็จริง แต่ความเชื่อบางอย่างก็มีส่วนช่วยเยียวยาจิตใจคนในยามอ่อนไหวได้จริง เช่นเดียวกับการดูดวงชะตาที่ทำให้คนรู้สึกว่ามีทิศทาง มีเป้าหมาย และมีสิ่งยึดเหนี่ยวบางอย่าง
ในอดีตเคยมีคำทำนายที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลมากอย่าง คำทำนายนอสตราดามุส (Nostradamus) ที่มาจากมีแชล เดอ นอสตร์ดาม (Michel de Nostredame) โหราจารย์ชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 16 ที่โด่งดังจากหนังสือที่ชื่อว่า ‘Les Propheties’ (คำทำนาย)
คำทำนายของนอสตราดามุสไม่มีการระบุปีหรือเหตุการณ์ที่เจาะจงอย่างชัดเจน แต่เป็นข้อความเชิงสัญลักษณ์ที่ผู้คนในยุคสมัยต่างๆ พยายามนำไปตีความให้เข้ากับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์และปัจจุบัน เช่น คำทำนายของนอสตราดามุสที่ระบุถึง ‘ฝูงชนที่ถูกกักขัง’ หรือ "ความโกลาหลของกษัตริย์" ถูกตีความเป็นการทำนายถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสและการล่มสลายของสถาบันกษัตริย์
นอกจากนี้ยังมีคำทำนายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โลกต่างๆ ที่ถูกนำมาตีความ ไม่ว่าจะเป็น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่เข้ามาเป็นผู้นำนาซี,เหตุการณ์ 9/11 หรือการโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และการลอบสังหารจอห์น เอฟ. เคเนดี ซึ่งทั้งหมดเป็นการเชื่อมโยงคำบางคำด้วยการตีความจากความคลุมเครือของเนื้อหาหรือสัญลักษณ์บางอย่างที่เป็นตัวแทนของเหตุการณ์
นอกจากนี้ยังมีการตีความคำทำนายของนอสตราดามุสว่าจะมีการเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ และจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น
แม้ที่ผ่านมาคำทำนายของนอสตราดามุสจะโน้มน้าวให้หลายคนรู้สึกว่าคำทำนายนี้น่าเชื่อถือได้ แต่คำทำนายของนอสตราดามุสก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันมาหลายศตวรรษ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่ยืนยันความแม่นยำของคำทำนายเหล่านั้นได้จริง
สาเหตุที่เราเชื่อคำทำนายเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Barnum Effect หรือปรากฏการณ์ที่คนเชื่อคำทำนายที่คลุมเครือและกว้างๆ นั้นตรงกับสถานการณ์ของตัวเอง ทั้งที่ความจริงแล้วคำทำนายเหล่านั้นจะตรงกับชีวิตใครก็ได้ หรือหลายคำทำนายมักจะใช้ภาษาที่ตีความได้หลายด้านหรือเป็นการคาดการณ์ความเป็นไปได้ ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า "ตรงกับชีวิตฉันเลย" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์เช่นเดียวกับเหตุการณ์คำทำนายภัยพิบัติในญี่ปุ่น
หลายครั้งแม้คำทำนายเหล่านี้จะไม่เป็นจริงก็ตาม แต่ผู้คนก็จะลืมมันไปได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากบางคนที่เชื่อคำทำนายอย่างจริงจังอาจรู้สึกพลาดพลั้ง จนทำให้สมองของเราเลือกที่จะลืมๆ คำทำนายเหล่านั้นไป หรือบางคนก็อาจหาเหตุผลมาแก้ต่าง เช่น เหตุการณ์นี้ยังไม่มาถึงหรือถูกเลื่อนออกไปด้วยเหตุผลบางอย่าง
เมื่อผู้คนหลงลืมคำทำนายไป แม้จะตื่นตระหนกตามกระแสสังคมในตอนแรกก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้เราถูกโน้มน้าวให้เชื่อคำทำนายเหล่านั้นคือความเปราะบางทางจิตใจและขาดข้อมูลตามข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ
การรับมือต่อความเชื่อเหล่านี้อาจเป็นเรื่องยากหรือง่ายตามภูมิคุ้มกันของแต่ละคน ในเบื้องต้นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้คือการตรวจสอบข้อมูลอย่างถี่ถ้วน เช่น ภัยพิบัติธรรมชาติมีความซับซ้อนมาก การคาดการณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์จึงต้องรวบรวมข้อมูลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อพิสูจน์ตามหลักความเป็นจริง ซึ่งข้อควรระวังคือบางข้อมูลจะมีความเห็นปะปนมาบ้างหรือมีการเชื่อมโยงกับคำทำนายมาบ้างจนดูน่าเชื่อถือ
ส่วนกรณีที่เรารู้สึกกังวลมากเกินไปอาจต้องจำกัดการรับข้อมูลเพื่อหลีกเลี่ยงการรับข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือลงโดยรับเพียงข้อมูลที่จำเป็นและน่าเชื่อถือ เช่น การแจ้งเตือนจากภาครัฐหรือผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ เพื่อไม่ให้รู้สึกเครียดจนเกินไป เช่น การออกกำลังกาย การทำงานอดิเรก หรือการพูดคุยกับเพื่อนและครอบครัว
อีกส่วนสำคัญที่สุดคือการเตรียมพร้อมสำหรับภัยพิบัติอยู่เสมอก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนลดความกังวลลงได้ แม้จะไม่ใช่วันที่เป็นไปตามคำทำนายก็ตาม
แม้หลายคนจะอยากรู้ว่าอนาคตล่วงหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ความจริงในปัจจุบันคือสิ่งที่เรามองเห็นและรับรู้ได้อย่างแน่นอน การอยู่กับปัจจุบันและข้อเท็จจริงคือเกราะป้องกันชั้นดีที่จะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีสติและตัดสินใจอย่างรอบคอบมากขึ้น
อ้างอิง: theguardian.com, britannica.com, Barnum-Effect
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : plus.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath