โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

นายกฯ พระราชทาน การตีความมาตรา 5 ที่ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส

อัพเดต 21 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 21 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ภาพไฮไลต์

ความเป็นไปได้ของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยยังไม่แน่นอน หลัง แพทองธาร ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว โดยมีต้นเหตุมาจากคลิปเสียงหลุดการสนทนากับ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภาผู้ทรงอิทธิพลของกัมพูชา ทำให้ถูกกล่าวหาว่า อาจมีพฤติกรรมเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง

ตอนนี้ตำแหน่งนายกฯ รักษาการเป็นของ ภูมิธรรม เวชยชัย ท่ามกลางข่าวคราวสารพัดดีล ว่าแคนดิเดตคนไหนจะถูกชูเป็นนายกฯ คนใหม่ พรรคไหนโหวตให้ใคร การต่อรองจะเป็นแบบไหน จะมีซูเปอร์ดีลเพื่อ ทักษิณ ชินวัตร อีกไหม และอนาคตของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะไปต่อได้สักกี่น้ำ

จริงอยู่ที่ว่า ภูมิธรรม เวชยชัย สามารถรักษาการนายกฯ ต่อไปได้เรื่อยๆ แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงอีกมากเรื่องอำนาจของนายกฯ รักษาการว่ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง เช่น ยุบสภาได้หรือเปล่า ซึ่งหากมีผู้นำรัฐบาลคนใหม่ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ก็ย่อมเป็นรัฐมนตรีที่มีเสถียรภาพมากกว่า

หลายฝ่ายพยายามบอกว่า สถานการณ์ชุลมุนทางการเมืองที่กำลังฝุ่นตลบ ข้อตกลงต่างๆ มีขึ้นด้วยความปรารถนาดี ไม่นำประเทศไปสู่ทางตัน เพราะหลายคนกลัวเหลือเกินว่า หากการเมืองไร้ทางออกจนเกิดภาวะสุญญากาศ จะมีมือที่มองไม่เห็นส่งทหารเข้ามายึดอำนาจ โดยให้เหตุผลง่ายๆ ซ้ำๆ ว่า เป็นการเสียสละเพื่อชาติ ก่อนที่ประเทศไทยจะวิกฤติไปกว่านี้ จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจ เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้

‘รัฐประหาร’ คือฉากทัศน์ที่มองโลกในแง่ร้ายแบบสุดโต่ง ว่าหากสภาไม่สามารถหาบุคคลที่เหมาะสมได้ และแต่ละขั้วอำนาจยังคงจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัว รักษาการนายกฯ คุมไม่อยู่ ก็ยิ่งเป็นการเปิดทางให้ทหารเข้ามา จากนั้นก็จะเกิดเรื่องราวซ้ำๆ เพิ่มสถิติการยึดอำนาจเข้าไปอีกครั้ง

ก่อนถึงกาลวิบัติด้วยรัฐประหาร มองโลกแง่ร้ายน้อยลงอีกนิด กระเถิบเข้ามาอีกหน่อย หากสภาหาข้อตกลงเรื่องนายกฯ จากแคนดิเดตเดิมไม่ได้ ยังมีวิธีผ่าทางตันที่ทำได้อีกแบบ แต่ก็ถือว่าเป็นวิธีการที่ไม่ปกติ

ไม่มีช่องทางสำหรับนายกฯ คนนอก

ก่อนหน้านี้ ในยุคของ 250 สว. จากการแต่งตั้ง มีอำนาจตามมาตรา 272 ซึ่งเป็นกลไกพิเศษในรัฐธรรมนูญ 2560 คือเปิดทางให้รัฐสภาสามารถงดเว้นข้อบังคับและเลือกนายกฯ นอกบัญชีแคนดิเดตได้นั้น แต่อำนาจนี้สิ้นสุดไปแล้ว โดยหมดอายุลงไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 พร้อมๆ กับ สว. ชุดก่อน

ดังนั้น เมื่อไม่มีบทเฉพาะกาลที่เปิดทางให้มีนายกฯ คนนอก กระบวนการจึงต้องกลับมายึดโยงกับหลักการปกติของรัฐธรรมนูญ นั่นคือ ตามมาตรา 159 นายกฯ ต้องมาจากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่พรรคการเมืองยื่นไว้ก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น และผู้มีอำนาจลงมติเลือกคือ สส. เท่านั้น)

หากเกิดกรณีที่ สส. ไม่สามารถตกลงเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อในบัญชีที่มีอยู่ได้ ก็จะเกิดทางตันหรือ ‘ภาวะสุญญากาศ’ ทางการเมืองขึ้น และหากรักษาการนายกฯ ไม่มีอำนาจยุบสภา ก็จะต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไปเรื่อยๆ กับรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ

ทางออกเดียวตามระบบขณะนี้คือ เพื่อให้ได้รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีที่มีเสถียรภาพ บรรดาพรรคการเมืองต้องหาฉันทามติร่วมกัน และต้องหา ‘ดีล’ ที่สมประโยชน์เพื่อให้มีนายกฯ คนใหม่ให้ได้

นายกฯ พระราชทาน ทางออกหรือทางตัน?

ในการชุมนุมทางการเมืองยุคพันธมิตร ก่อนรัฐประหาร ทักษิณ ชินวัตร ปี 2549 กลุ่มพันธมิตรเรียกร้อง ‘นายกฯ ม.7’ หรือนายกฯ พระราชทาน ตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 7 ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องท้ายๆ ก่อนเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และคนที่เข้ามาเป็นนายกฯ หลังจากนั้นคือ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

ต่อมา ในการชุมนุม กปปส. ปี 2556-2557 กลุ่มผู้ชุมนุมก็มีข้อเรียกร้องสุดท้ายถึงนายกฯ พระราชทานเพื่อคลี่คลายวิกฤติทางการเมืองเช่นกัน และจากนั้นไม่นานก็เกิดการรัฐประหารโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ซึ่งเข้ามานั่งตำแหน่งนายกฯ ด้วยตนเอง

ช่วงที่มีกระแสกดดันให้ แพทองธาร ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่ง ฝ่ายผู้ชุมนุมกลุ่มรวมพลังฯ หลายคนก็ปฏิเสธการรัฐประหาร เช่นเดียวกับนักวิชาการสายอนุรักษนิยมก็เห็นเช่นเดียวกัน ว่ายุคสมัยแห่งการยึดอำนาจควรหมดไปได้แล้ว แต่ก็ใช่ว่าผู้นิยมความเชื่อทางการเมืองสายนี้จะปล่อยให้กระบวนการสภาทำงานได้ปกติตามระบอบประชาธิปไตย

ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า “ถ้าถึงทางตันทางการเมือง ไม่ต้องรัฐประหาร เพราะรัฐธรรมนูญเรามีมาตรา 5”

มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนไว้อย่างไร

มาตรา 5 ไม่ได้อ้างอิงถึงที่มาของนายกฯ หรือนายกฯ พระราชทานโดยตรง โดยมาตรา 5 ระบุว่า

"เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

หมายความว่า หากเกิดสถานการณ์ใดๆ ซึ่งเป็นวิกฤติขึ้นมา และไม่มีกฎหมายหรือมาตราใดในรัฐธรรมนูญเขียนวิธีจัดการไว้โดยตรง ให้ยึดถือและปฏิบัติตามประเพณีการปกครองที่เคยทำกันมา ซึ่งเชื่อกันว่า โดยหลักการแล้ว มาตรา 5 เป็นเหมือนมาตราสารพัดนึกที่มีไว้เพื่ออุดช่องว่างในรัฐธรรมนูญ

แล้วนายกฯ พระราชทานมาจากไหน

‘นายกฯ พระราชทาน’ เป็นวาทกรรมทางการเมือง หมายถึงการที่กลุ่มคนทูลเกล้าฯ ขอนายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์โดยตรง เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ของชาติที่กลไกตามรัฐธรรมนูญปกติไม่สามารถทำงานได้ โดยกลุ่มผู้เรียกร้องจะตีความว่า ‘ประเพณีการปกครอง’ ในภาวะวิกฤต คือการที่พระมหากษัตริย์จะทรงใช้วิจารณญาณเพื่อหาทางออกให้ประเทศ ซึ่งรวมถึงการตั้งนายกรัฐมนตรีเพื่อเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ ซึ่งหลักการนี้อยู่นอกเหนือกระบวนการปกติของรัฐสภา มาจากการตีความตัวบทกฎหมายที่ไม่ได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อหาทางออกในสถานการณ์พิเศษ

ในอดีตเคยมีกรณีนายกฯ พระราชทานเกิดขึ้น คือ หลัง 14 ตุลาคม 2516 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้ามาดูแลสถานการณ์หลังจากรัฐบาลชุดเดิมสิ้นสุดลง

เช่นเดียวกับการชขุมนุมของพันธมิตร และ กปปส. ก็อ้างถึงมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญเก่าซึ่งมีรายละเอียดคล้ายกัน โดยตีความว่า ประเทศถึงทางตันทางการเมือง กลไกปกติล้มเหลว และสถานการณ์นั้นเป็นกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติบังคับไว้ จึงควรยึดถือประเพณีการปกครอง ซึ่งในความหมายของกลุ่มผู้ชุมนุมคือ การทูลเกล้าฯ ขอให้นายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์โดยตรงเพื่อแก้ไขวิกฤติของชาติ

ดังนั้น ‘นายกฯ พระราชทาน’ จึงมาจากการตีความมาตรา 5 ว่าเป็นช่องทางให้สามารถทูลเกล้าฯ ขอให้นายกรัฐมนตรีจากพระมหากษัตริย์ได้ โดยที่ไม่ได้กระบวนการตามกฎหมายรองรับ

ข้อถกเถียงเรื่องนายกฯ พระราชทาน

ข้อเรียกร้องเรื่องนายกฯ พระราชทานมักมาจากกลุ่มการชุมนุมทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล ซึ่งไม่ยอมรับการทำงานของรัฐบาลและกลไกของรัฐสภาที่มีอยู่ จึงต้องหันไปพึ่งประเพณีการปกครอง ซึ่งพวกเขาตีความว่าเป็นการ ‘พึ่งพระบารมี’ ซึ่งสามารถทำได้โดยอ้างอิงจาก ‘ประเพณีการปกครอง’ ที่เขียนไว้ในมาตรา 5

แต่การเรียกร้องนายกฯ พระราชทานก็มีข้อถกเถียงอย่างมาก เช่น

- ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย: เป็นการข้ามขั้นตอนของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เพราะตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ นายกฯ ต้องมีที่มาจากมติของสภา

- เป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง: การเรียกร้องเช่นนี้ถูกมองว่าเป็นการผลักภาระและดึงสถาบันฯ ซึ่งควรอยู่เหนือการเมือง ให้ลงมาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง

- ‘ประเพณีการปกครอง’ สามารถตีความได้หลายแบบ: โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับนายกฯ พระราชทานมองว่า ‘ประเพณีการปกครอง’ ควรหมายถึงการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีตามครรลองประชาธิปไตย เช่น การเจรจา การยุบสภา หรือการเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่การใช้อำนาจนอกระบบ

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : plus.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส

ว่าด้วย เวส แอนเดอร์สัน และการทำหนังแบบ ‘เวสๆ’

16 ชั่วโมงที่ผ่านมา

เมื่อกระแสคำทำนายจาก ‘มังงะ’ ญี่ปุ่น ทำผู้คนตื่นกลัวว่าจะเกิดภัยพิบัติ หรือการผูกโยงความจริงและคำทำนาย อาจมีอิทธิพลกับเรามากกว่าที่คิด

16 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความการเมืองอื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม

ดูเพิ่ม