โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ว่าด้วย เวส แอนเดอร์สัน และการทำหนังแบบ ‘เวสๆ’

Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส

อัพเดต 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ภาพไฮไลต์

เวลาคิดถึง ‘เวส แอนเดอร์สัน’ คุณนึกถึงอะไร

คำตอบแรกของหลายๆ คนน่าจะเป็นงานภาพสมมาตร ที่ทุกอย่างบนจอภาพยนตร์ถูกจัดวางให้อยู่กึ่งกลางเฟรม หรืออาจจะเป็นสีพาสเทลสดใส ไปจนถึงเส้นเรื่องที่มักซ้อนทับกับ ‘เรื่องเล่า’ ของตัวละครในหนังอีกชั้นหนึ่ง ตลอดจนอารมณ์ขันแห้งๆ ที่ตัวละครมีต่อชะตากรรมตัวเอง กับตัวหนังที่มักว่าด้วยความตาย การสูญเสีย และการเติบโตข้ามผ่านโศกนาฏกรรมบางอย่าง

“ผมอยากทำหนังแบบนี้แหละ หนังแบบที่มีทั้งความจริงและพร้อมกันนั้น มันก็พาคนดูไปยังสถานที่ใหม่ๆ ซึ่งเราได้แค่หวังว่าพวกเขายังไม่เคยไปเยือนมาก่อน!” แอนเดอร์สันบอก

เช่นเดียวกับคนทำหนังหลายๆ คน แอนเดอร์สันหลงใหลในโลกของภาพเคลื่อนไหวจากการถือครองกล้องซูเปอร์ 8 ที่อยู่ในบ้าน (ในเวลาต่อมา ถูกมือดีงัดรถและขโมยกล้องที่แอนเดอร์สันวางทิ้งไว้ข้างในไปด้วย จนตอนนี้ก็ยังไม่ได้คืน) และเริ่มทำหนังเงียบเล็กๆ เรื่องแรกซึ่งนำแสดงโดยพี่ชายและเพื่อนของเขา

พร้อมกันนั้น ในโลกวัยเยาว์ของเด็กชายเวส แอนเดอร์สัน เขาดำดิ่งไปในจักรวาลสงครามอวกาศแห่ง Star Wars ซึ่งเวลาต่อมาเป็นหนึ่งในเชื้อฟืนสำคัญที่แอนเดอร์สันหยิบมาใช้ทำหนัง Asteroid City (2023), งานเขียนของ เพาลีน เคล นักวิจารณ์ภาพยนตร์อาชีพจากนิตยสาร The New Yorker ที่ส่งอิทธิพลต่อความคิดด้านภาพยนตร์ของเขา และเหล่างานวรรณกรรมสำหรับเด็กที่เขียนขึ้นโดย โรอัลด์ ดาห์ล นักเขียนชาวอังกฤษ ซึ่งในอีกหลายสิบปีต่อมา แอนเดอร์สันในฐานะผู้กำกับ ก็หยิบเอางานเขียนของดาห์ลมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ใน Fantastic Mr. Fox (2009) และ The Wonderful Story of Henry Sugar and Three More (2024)

Asteroid City (2023)

เส้นทางการทำหนังของแอนเดอร์สันเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อเขาเข้าเรียนคณะปรัชญาที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ควบคู่ไปกับการเข้าเรียนวิชาการเขียนบทละครและการตะลุยดูหนังที่เช่ามาจากร้านบล็อกบัสเตอร์ รวมทั้งหารายได้เล็กๆ น้อยๆ ด้วยการทำงานในโรงภาพยนตร์ท้องถิ่น และในช่วงชั้นปีที่สอง ระหว่างชั้นเรียนเขียนบทความอันง่วงงุน โชคชะตานำพาแอนเดอร์สันมาเจอกับ โอเวน วิลสัน หนุ่มน้อยที่เรียนเอกวิชาภาษาอังกฤษ (“เราเจอกันแต่ไม่เคยคุยกันเลย จนผ่านไปหนึ่งเทอมนั่นแหละ ผมมักสงสัยบ่อยๆ ว่าไอ้หมอนี่มันเป็นใครวะ ทำไมชอบทำตัวต่อต้านสังคมด้วยการไปนั่งตรงมุมห้อง ทั้งที่จริงๆ ผมก็ทำแบบเดียวกันนั่นแหละ” แอนเดอร์สันระลึกความหลังที่เขามีต่อเพื่อนรัก) และจะว่าไป ทั้งคู่ก็เป็นเสมือนขั้วตรงข้ามของกันและกันกลายๆ กล่าวคือขณะที่แอนเดอร์สันสนใจการทำงานหลังกล้อง วิลสันก็เป็นประเภทคุ้นเคยกับการ ‘ออกกล้อง’ จากการเติบโตในครอบครัวที่พ่อทำงานด้านโฆษณาของสถานีโทรทัศน์ และแม่ที่เป็นช่างภาพอาชีพ

ทั้งสองเจอกันในปี 1989 หากแต่ยังไม่ได้เริ่มทำหนังด้วยกัน อันที่จริง พวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ฝันเฟื่องไปกับการได้ทำหนังมากกว่าจะลงมือทำจริงๆ มิหนำซ้ำ เมื่อย้ายเข้ามาพักด้วยกันแล้ว ยังประสบปัญหาอีนุงตุงนังกับเจ้าของบ้านที่ไม่ยอมซ่อมหน้าต่างให้พวกเขาสักที ทางออกของสองหนุ่มจึงแกล้งทำเป็นว่ามีหัวขโมยบุกเข้ามาในบ้านทางหน้าต่างพังๆ ที่เจ้าของบ้านไม่ยอมซ่อม แต่เรื่องยังไม่คืบหน้า ทั้งคู่จึงขยายแผนการให้ใหญ่ขึ้นอีกด้วยการหอบข้าวของย้ายออกจากบ้านกลางดึก

“ผลน่ะเหรอ เจ้าของบ้านจ้างนักสืบเอกชนออกล่าหัวพวกเราน่ะสิ” แอนเดอร์สันบอก อย่างไรก็ดี เรื่องชวนหัวที่ใหญ่โต บานปลายเกินกว่าที่ควรจะเป็นนี้ติดตรึงอยู่ในหัวของแอนเดอร์สัน และงอกเงยออกมาเป็น Bottle Rocket (1993) หนังสั้นขาวดำเรื่องแรกความยาว 13 นาทีที่เขากับวิลสันร่วมกันเขียนบท หากแต่ความที่ทั้งสองก็ไม่ใช่จะมีเงินถุงเงินถังอะไร วิลสันจึงต้องเป็นทั้งคนเขียนบทและนำแสดง ขณะที่แอนเดอร์สันรับหน้าที่กำกับโดยตรง มิหนำซ้ำ ความเบี้ยน้อยหอยน้อยยังทำให้พวกเขาลากเอา ลุค วิลสัน -พี่ชายแท้ๆ ของโอเวน- มาร่วมรับบทนำด้วย แม้ว่าสองพี่น้องจะไม่มีประสบการณ์ด้านการแสดงมาก่อนเลยก็ตาม

Bottle Rocket (1993)

หนังว่าด้วยเพื่อนรักสองคน ดิกแนน (โอเวน วิลสัน) กับ แอนโธนี (ลุค วิลสัน) วางแผนจะโจรกรรม แต่ทำกันเองไม่รอดจึงต้องไปลาก บ็อบ (โรเบิร์ต มัสเกรฟ) เพื่อนอีกคนเข้ามาร่วมกระบวนการด้วย โดยเริ่มแรก ทั้งแอนเดอร์สันและวิลสันคนน้องหวังให้มันออกมาเป็นหนังสั้นสุดนัวร์มาดเท่แบบหนังของ มาร์ติน สกอร์เซซี หากแต่เมื่อพิจารณาจากสภาพแวดล้อมและบรรยากาศแล้ว มันก็ออกมาเป็นหนังคอมเมดี้ของเพื่อนบ๊องๆ สามคนแทน ตัวหนังได้ออกฉายที่เทศกาลหนังซันแดนซ์และได้รับเสียงชื่นชมล้นหลาม ทั้งยังเข้าตา เจมส์ แอล บรูคส์ โปรดิวเซอร์ชื่อดังที่เห็นว่าเจ้าหนังสั้นขาวดำเรื่องนี้มีศักยภาพพอจะนำไปขยายเป็นหนังยาวได้ เปิดประตูบานสำคัญให้แอนเดอร์สันกับวิลสันหยิบจับมาทำเป็นหนังยาวในปี 1996 ที่ขาดทุนยับเยินด้วยการทำรายได้เพียงห้าแสนเหรียญฯ จากทุนสร้างห้าล้านเหรียญฯ ทว่า มันก็เป็นหนังเรื่องสำคัญที่ไม่เพียงทำให้สองพี่น้องวิลสันเข้าสู่อุตสาหกรรมการแสดง หากแต่มันยังเป็นหนังที่ฉายลายเส้นของแอนเดอร์สัน ทั้งอารมณ์ขันเจื่อนๆ, การเกรดสีสดใสตลอดทั้งเรื่อง แม้หนังจะพูดถึงการทำอาชญากรรม และการที่มันเป็นหนังบันทึกหน้าตาและบรรยากาศของเมืองเท็กซัส อันเป็นบ้านเกิดของทั้งแอนเดอร์สันและวิลสัน

และก็เป็นบรูคส์อีกครั้ง ที่สนับสนุนให้แอนเดอร์สันทำหนังต่อไปอย่าง Rushmore (1998) ที่แอนเดอร์สันและวิลสันกลับมาร่วมกันเขียนบทอีกครั้ง พูดถึงเรื่องราวชวนหัวของนักเรียนหนุ่มอัจฉริยะที่ตกหลุมรักครูตัวเอง เพื่อจะพบว่า พี่เลี้ยงคนสำคัญของเขาก็ดันรู้สึกแบบเดียวกันกับเจ้าหล่อนเหมือนกัน และก็เป็น Rushmore นี่เองที่พาแอนเดอร์สันหวนกลับมาสู่การเป็นที่รู้จักอีกครั้ง เมื่อหนังเข้าชิงรางวัลจากเทศกาลหนังสารพัด ทั้งยังทำเงินไปที่ 17 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 10 ล้านเหรียญฯ และเป็นหนังที่ทำให้เขาได้ร่วมงานกับนักแสดงที่จะกลายมาเป็น ‘ขาประจำ’ ของเขาอย่างวิลสันคนพี่, เจสัน ชวาตซ์แมน และ บิลล์ มัวเรย์ มิหนำซ้ำ สไตล์จัดจ้านของ Rushmore ยังทำให้มีคนเริ่มนิยามน้ำเสียงและการทำหนังของแอนเดอร์สันว่าเป็น Wes-thetic ที่หยิบเอาชื่อเวสมารวมกับคำว่า aesthetic หรือความงาม เพื่อระบุสไตล์งานภาพที่ปรากฏบนภาพยนตร์

Rushmore (1998)

“ไม่รู้เหมือนกันแฮะว่ามันคืออะไร อาจจะหมายถึงคาแรกเตอร์ตัวละครที่เราเขียนในหนัง หรือสไตล์การทำหนังที่คล้ายคลึงกันทั้งสองเรื่องนี้ละมั้ง” แอนเดอร์สันในวัยเยาว์บอก “คือทั้ง Bottle Rocket กับ Rushmore ก็มีอะไรเหมือนๆ กันหลายอย่างนะ เช่นวิธีการถ่ายทำ, ไอเดีย แต่ผมว่าหลักๆ แล้วคือความสดใหม่ หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นของมันเองในหนังมากกว่า

“อย่างตัวละครที่เราเขียนขึ้นมา นิสัยและสิ่งที่พวกเขาทำมันดูเกินความจริงไปสักหน่อยใช่มั้ยล่ะ ทำอะไรต่อมิอะไรบ้าๆ บอๆ อย่างบุกปล้นร้านหนังสือแบบใน Bottle Rocket ซึ่งของแบบนี้แทบไม่เกิดขึ้นในชีวิตจริงหรอก แต่ถ้ามันไปอยู่ในโลกภาพยนตร์ มันก็ดูสมเหตุสมผลอยู่นะ เราเลยอยากทำหนังที่ให้เรื่องพวกนี้มันฟังดูสมเหตุสมผลขึ้นมาน่ะ”

Rushmore (1998)

หากแต่เรื่องที่ส่งให้แอนเดอร์สันเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือ The Royal Tenenbaums (2001) หนังเรื่องนี้ส่งทั้งเขาและวิลสัน ซึ่งในเวลานั้นก็กลายเป็นนักแสดงมีชื่อเสียงไปแล้ว เข้าชิงออสการ์สาขาเขียนบทยอดเยี่ยม ว่าด้วยครอบครัวสุดวายป่วงของสามพี่น้องตระกูลเทเนนบัมส์ ที่วันดีคืนดีต้องกลับมารวมตัวกันในนิวยอร์กเพราะพ่อที่จากพวกเขาไปหลายปีกลับมาเยี่ยมเยือน ดูเผินๆ การกลับมาในครั้งนี้ของพ่อก็ดูเป็นนิมิตหมายอันดีของการมีครอบครัวที่อบอุ่น แต่เอาเข้าจริง การปรากฏตัวของพ่อกลับตอกย้ำบาดแผลของการ ‘ไม่เป็นที่รัก’ ของลูกทั้งสาม ยังไม่นับรวมความอีนุงตุงนังของเหล่าเพื่อนๆ ข้างบ้านที่สานสัมพันธ์กับชาวเทเนนบัมส์มาร่วมทศวรรษ และจับจ้องการกลับมาของผู้เป็นพ่อของบ้านนี้ด้วยสายตาพิศวง

The Royal Tenenbaums (2001)

ว่าไปแล้ว ก็คล้ายว่า The Royal Tenenbaums คือการประกาศว่าแอนเดอร์สันค้นพบ ‘สไตล์’ ที่เขาชื่นชอบแล้ว ทั้งธีมเรื่องที่ว่าด้วยการไถ่โทษต่อตัวเองและผู้อื่น, บาดแผลวัยเยาว์และชีวิตอันกะพร่องกะแพร่งของตัวละคร, ความเป็นครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์พร้อม (และอันที่จริง ค่อนไปทางแย่ด้วยซ้ำ), อารมณ์ขันขื่นหน้าตายและจังหวะการแสดงที่ให้ความรู้สึกแปร่งแปลก และแน่นอนว่างานภาพสุดตราตรึงที่เห็นได้ชัดว่าถูก ‘จัดวาง’ มาตั้งแต่ฉากแรกจนถึงฉากสุดท้าย

“อาจจะจริงก็ได้นะ ที่เขาว่ากันว่าหนังผมมันเต็มไปด้วยความควบคุมน่ะ” แอนเดอร์สันบอก “ในเชิงจิตวิทยาแล้วก็มีการพยายามอธิบายว่า ศิลปินบางคนก็ชอบจัดระเบียบ จัดวางสิ่งของ เพื่อให้ความรู้สึกว่าตัวเองได้บรรลุอะไรบางอย่างน่ะ แต่ผมก็ยังคิดว่า มีศิลปินอีกหลายคนที่สนใจสำรวจความโกลาหลมากเหมือนกัน

“หนังของผมเองจัดวางแน่ๆ หลายครั้งเราก็สร้างอะไรต่อมิอะไรขึ้นมาเพื่อเอาไปใช้ประกอบฉาก และไม่ได้สร้างอะไรอื่นเพิ่มเลย ของที่สร้างมาคือของที่จะไปอยู่ในฉากเท่านั้น” แอนเดอร์สันสาธยาย “ผมแค่ทำงานแบบนี้น่ะ และก็ได้แต่หวังว่านักแสดงจะไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกจำกัดความคิดสร้างสรรค์มากไปนัก”

The Royal Tenenbaums (2001)

“เอาจริงๆ นะ ผมไม่สนใจหรอกว่างานตัวเองจะมีจุดเด่นหรือเปล่า บทหนังที่ผมเขียนน่ะคือวิธีที่ผมใช้สร้างแต่ละฉากแต่ละซีนและกำหนดวิธีถ่ายทำ คนดูจะรู้เองว่าเป็นผม แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ผมจงใจหรอก มันเกิดขึ้นของมันเอง เหมือนว่าเป็นตัวตนผมในฐานะผู้กำกับน่ะ”

The Darjeeling Limited (2007) คือหนังยาวลำดับต่อมาของแอนเดอร์สันที่ส่งเขาเข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลหนังนานาชาติเวนิส และมันยังคงว่าด้วยเรื่องรอยร้าวในครอบครัวของสามพี่น้อง ที่ตัดสินใจออกเดินทางไปยังอินเดียเพื่อประสานใจกันหลังจากพ่อเสียชีวิตลง ตามมาด้วย Fantastic Mr. Fox (2009) สต็อปโมชั่นเรื่องแรกของแอนเดอร์สัน ว่าด้วยหมาจิ้งจอกที่พยายามใช้ชีวิตในสังคมให้ได้ แต่สัญชาติญาณนักล่าก็ทำให้เขาขโมยสัตว์เลี้ยงในฟาร์มชาวไร่ทุกทีไป และ Moonrise Kingdom (2012) หนังข้ามพ้นวัยสุดน่ารัก ว่าด้วยเด็กชายกับเด็กหญิงที่เหลือทนกับกฎระเบียบในชีวิต จึงหนีออกมาใช้ชีวิตอยู่บนเกาะกันเอง (!!)

The Darjeeling Limited (2007)

Fantastic Mr. Fox (2009)

Moonrise Kingdom (2012)

Isle of Dogs (2018)

จากรายชื่อหนังด้านบน แอนเดอร์สันถือเป็นคนทำหนังที่มีผลงานต่อเนื่อง และหนึ่งในลายเส้นสำคัญที่ทำให้หลายคนตกหลุมรักงานของเขาคือการใช้สีพาสเทลสดใส และไม่มากก็น้อย สีสันเหล่านี้ห่อหุ้มเรื่องราวหวานอมขมกลืนในหนังของเขา ทำหน้าที่เหมือนน้ำตาลเคลือบยาขมในนามของความสูญเสีย, ความตายหรือภาวะพังทลายของตัวละคร และมันยังฉีกตำราการใช้สีในหนัง ที่ส่วนใหญ่แล้ว สีสันสดใสมักใช้เพื่อฉายภาพห้วงเวลาอันรื่นรมย์ น่าตื่นเต้นของตัวละคร และสีหม่นหมองเพื่อบรรยายสภาพความหดหู่ตึงเครียด แต่ไม่เลย สำหรับเวส แอนเดอร์สัน โลกของเขาเต็มไปด้วยสีสันสดใส แม้ตัวละครจะอยู่ในภาวะพร้อมดิ่งลงเหวตลอดเวลาก็ตาม! “แต่ผมไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนหรอกนะ อันที่จริงมันง่ายมากเลย” เขาบอก “เวลาทำหนังที่อยากให้คนดูอยู่กับหนังเราไปอีก 90 นาทีหรือสัก 100 นาที ผมก็สร้างโลกขึ้นมาใหม่ เป็นโลกที่ตัวละครอาศัยอยู่เท่านั้นแหละ”

ลำดับต่อมา The Grand Budapest Hotel (2014) ของแอนเดอร์สัน ตะลุยเข้าชิงออสการ์ถึงเก้าสาขา รวมทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและกำกับยอดเยี่ยม ว่าด้วยความอลหม่านโรงแรมหรูแห่งหนึ่ง บ๋อยน้อยเข้ามาทำงานภายใต้การดูแลของผู้จัดการโรงแรม ที่มีสัมพันธ์สวาทกับหญิงแก่ที่หลงใหลตัวเขาสุดหัวใจ แต่แล้วเจ้าหล่อนกลับเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา มิหนำซ้ำยังยกทรัพย์สินราคาแพงระยับให้ผู้จัดการโรงแรม จนลูกชายแท้ๆ ของเธอควันออกหู และเชื่อว่าแม่ของเขาต้องถูกสังหารเพื่อหวังสมบัติ จึงออกตามล่าหาความจริงจนโกลาหลไปหมด

The Grand Budapest Hotel (2014)

The Grand Budapest Hotel (2014)

ขณะที่ลายเส้นการทำหนังของแอนเดอร์สันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ -ไม่ว่าจะการจัดวางภาพกลางเฟรม, สีพาสเทล, การเล่าเรื่องปัญหาครอบครัวและความสัมพันธ์ ตลอดจนความตายหรือแม้แต่การใช้บริการนักแสดงเจ้าเก่าเจ้าเดิม และมุกตลกแห้งๆ- เขาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำหนังไม่ค่อยแปลกใหม่ไปจากเดิม ซึ่งแอนเดอร์สันครุ่นคิดถึงประเด็นนี้และให้คำตอบว่า “ผมไม่ได้อยากทำซ้ำสิ่งที่ตัวเองเคยทำนะ แต่เวลาทำหนังมันก็ต้องมีอะไรแบบเดิมออกมาทุกทีไป ผมไม่ได้ตั้งใจหรอก แค่อยากทำหนังที่ผมสนใจเป็นการส่วนตัวแต่ให้ออกมาน่าสนใจสำหรับคนดูด้วย” เขาบอก “ผมรู้สึกว่าผมถูกวิจารณ์ในแง่ของสไตล์การทำหนังมากกว่าสารที่หนังกำลังเล่า”

The French Dispatch (2021)

Asteroid City (2023)

The Wonderful Story of Henry Sugar and Three More (2024)

หลายครั้งทีเดียวที่แอนเดอร์สันอยากเปลี่ยนทิศทางการกำกับของตัวเองให้ออกมาในรูปแบบอื่น หากแต่เขาก็หวนกลับมาที่สไตล์ตัวเองทุกครั้งไป “ผมแค่ชอบทำแบบนี้ มันเหมือนลายมือในการทำหนังของผมน่ะ และหลายต่อหลายครั้ง ผมก็คิดว่าผมตัดสินใจได้แล้วล่ะว่า ไม่ว่าจะอย่างไร ผมก็จะทำหนังด้วยลายมือตัวเองนี่แหละ!”

เช่นเดียวกับ The Phoenician Scheme (2025) หนังยาวลำดับล่าสุดของเขาที่กำลังลงโรงฉายในเวลานี้ มันก็ยังเล่าเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวกับความตาย และกลุ่มนักแสดงขาประจำของแอนเดอร์สัน มันว่าด้วยมหาเศรษฐีที่หวังไปลงทุนสร้างเมกะโปรเจ็กต์ในแถบฟินิเชีย เขาถูกรัฐบาลจากทั่วโลกหมายหัวในฐานะที่ทำให้ระบบการลงทุนและการเมืองปั่นป่วน จึงเจียนอยู่เจียนตาย ถูกลอบสังหารมาหลายต่อหลายครั้งแต่ก็กระดูกแข็งรอดมาได้ ทว่า เพื่อไม่ให้ทรัพย์สินเล็ดรอดไปเป็นของรัฐหากเขาต้องตายจริงๆ เขาจึงติดต่อลูกสาวผู้ห่างเหินและบวชเป็นนางชีให้มาเป็นผู้รับมรดก พร้อมกับที่ออกเดินทางท่องไปยังฟินิเชียกับเขา เพื่อเจรจาต่อรองธุรกิจด้วยกัน -ที่ก็แน่นอนว่ามีแต่ความวายป่วงระดับวางระเบิดกันทุกห้านาทีอยู่แล้ว!

ภาพไฮไลต์

The Phoenician Scheme (2025)

“คนอาจจะมองว่าผมทำแต่หนังแบบเดิมๆ ผมเข้าใจและตระหนักต่อประเด็นนี้มากๆ ไม่ต้องสงสัยเลย” แอนเดอร์สันอธิบาย “แต่สำหรับผม หนังแต่ละเรื่องมันแตกต่างกัน ตัวละครก็ต่างกัน และประเด็นที่หนังเล่าก็ไม่เหมือนกันด้วย

“แต่พูดจริงๆ นะ! ดูหนังผมแบบที่มันเป็นมันน่ะดีที่สุด! ไม่ต้องไปคิดหรอกว่ามันเหมือนเรื่องไหน!” เขาปิดท้าย

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : plus.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส

เมื่อกระแสคำทำนายจาก ‘มังงะ’ ญี่ปุ่น ทำผู้คนตื่นกลัวว่าจะเกิดภัยพิบัติ หรือการผูกโยงความจริงและคำทำนาย อาจมีอิทธิพลกับเรามากกว่าที่คิด

7 ชั่วโมงที่ผ่านมา

นายกฯ พระราชทาน การตีความมาตรา 5 ที่ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

11 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

SF ชวนต้อนรับการกลับมาของตำนานซูเปอร์ฮีโร่ที่โลกต้องจับตา! ในภาพยนตร์ “Superman (ซูเปอร์แมน)”

Insight Daily

Café Amazon ดันฮีโร่ Product ใหม่ “อเมซอน พรีเมียม Selected Cup” พร้อมดึง ‘อิ้งค์ วรันธร’ เป็นพรีเซนเตอร์

Insight Daily

ครบรอบ 44 ปี “อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์” สวรรค์แห่งอันดามัน ความงดงามของทะเลไทย

Manager Online

NEWS UPDATE: 9 บทสนทนาระหว่างทารกกับศูนย์ให้คำปรึกษา ที่อ่านแล้วถึงกับหัวเราะ

Mood of the Motherhood

รู้จัก 12 สัตว์ประจำวันเกิด เชื่อมโยงมนุษย์กับธรรมชาติ สะท้อนตัวตนและจิตวิญญาณ

sanook.com

สายธารอารยธรรมสองแผ่นดิน ไทย-จีน

เดลินิวส์

ตื่นตา “หุบเขาไดโนเสาร์” ใหญ่ที่สุดในโลกที่ “สวนนงนุช พัทยา”

Manager Online

เพียงเธอ Only You The Series ซีรีส์เรื่องล่าสุดของ หลิงหลิง-ออม เตรียมส่งเอพิโสดแรก 18 ก.ค. นี้

THE STANDARD

ข่าวและบทความยอดนิยม

ดูเพิ่ม
Loading...