‘พายุทราย-ฝุ่น’ ภัยเงียบกระทบคนครึ่งโลก จากแอฟริกาพัดไปเอเชียยันสหรัฐ
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ได้กำหนดให้วันที่ 12 ก.ค. ของทุกปีเป็น “วันต่อต้านพายุทรายและฝุ่นสากล” และกำหนดให้ปี 2025-2034 เป็นทศวรรษแห่งการต่อต้านพายุทรายและฝุ่นของสหประชาชาติ พร้อมเผยแพร่รายงานใหม่
ฟิเลมอน หยาง ประธานสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า “พายุทรายกำลังกลายเป็นหนึ่งในความท้าทายระดับโลกที่ถูกมองข้ามมากที่สุดในยุคสมัยของเรา เพราะพายุเหล่านี้ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมของพื้นดิน และแนวทางปฏิบัติที่ไม่ยั่งยืน”
ตามรายงานฉบับใหม่ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ของสหประชาชาติ ระบุว่า “พายุทราย” และฝุ่นอาจทำให้ประชากรมากกว่า 330 ล้านคนใน 150 ประเทศได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้น “เสียชีวิตก่อนวัยอันควร” อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แม้ว่าค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของฝุ่นบนพื้นผิวโลกประจำปี 2024 จะต่ำกว่าปี 2023 เล็กน้อย แต่ก็มีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละภูมิภาค ขณะที่บริเวณที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในปี 2023 จะมีความเข้มข้นของฝุ่นบนพื้นผิวโลกสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวในช่วงปี 1981-2010
ประเทศชาด ในแอฟริกากลาง มีความเข้มข้นเฉลี่ยสูงสุดของฝุ่นละอองบนพื้นผิวรายปีอยู่ที่ประมาณ 800-1,100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เนื่องจากชาดเป็นที่ตั้งของแอ่งโบเดเล ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดมลพิษที่สำคัญ ส่วนในซีกโลกใต้ พื้นที่ที่มีความเข้มข้นสูงสุดอยู่ในออสเตรเลียตอนกลางและชายฝั่งตะวันตกของแอฟริกาใต้
ในปี 2023 ความเข้มข้นของทรายและฝุ่นละอองต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวในพื้นที่แหล่งกำเนิดหลักหลายแห่ง และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในหลายพื้นที่ที่ฝุ่นถูกพัดพา โดยฝุ่นจากแอฟริกาถูกพัดพาข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก
ภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่อการเคลื่อนย้ายฝุ่นในระยะไกลมากที่สุด ได้แก่ มหาสมุทรแอตแลนติกเขตร้อนตอนเหนือระหว่างแอฟริกาตะวันตกและแคริบเบียน อเมริกาใต้ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลอาหรับ อ่าวเบงกอล และภาคกลาง-ตะวันออกของจีน
เซเลสเต เซาโล เลขาธิการ WMO กล่าวว่า พายุทรายและฝุ่นไม่ได้ทำให้หน้าต่างสกปรกและท้องฟ้าหลัวเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้คนหลายล้านคน สร้างความเสียหายหลายล้านดอลลาร์จากการหยุดชะงักของการขนส่งทางอากาศและทางบก การเกษตร และการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์
“รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงด้านสุขภาพและต้นทุนทางเศรษฐกิจกำลังเพิ่มสูงขึ้น และการลงทุนในการเตือนภัยล่วงหน้า การบรรเทา และการควบคุมฝุ่นจะสร้างผลตอบแทนมหาศาลได้อย่างไร” เธอกล่าว
อนุภาคในอากาศจากพายุเหล่านี้มีส่วนทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 7 ล้านคนต่อปี โดยอนุภาคเหล่านี้ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลงถึง 25% ส่งผลให้เกิดความอดอยากและการอพยพย้ายถิ่นฐาน
“ในแต่ละปีมีการปล่อยฝุ่นทรายประมาณ 2,000 ล้านตัน ปริมาณเทียบเท่ากับมหาพีระมิดแห่งกิซาในอียิปต์ 307 แห่ง” ลอรา แพตเตอร์สัน ผู้แทนองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกประจำสหประชาชาติ กล่าวกับสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ
แพตเตอร์สันกล่าวเสริมว่า ฝุ่นมากกว่า 80% ของโลกมาจากทะเลทรายในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง แต่มันส่งผลกระทบไปทั่วโลก เพราะอนุภาคเหล่านี้สามารถเดินทางได้หลายร้อยหรือหลายพันกิโลเมตรข้ามทวีปและมหาสมุทร โดยฝุ่นที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นกระบวนการทางธรรมชาติ แต่ฝุ่นและทรายที่เกิดจากการจัดการน้ำและที่ดินที่ไม่ดี ภัยแล้ง และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมก็มีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
ตามผลการศึกษาในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature พบว่า ฝุ่นและการพัดพาโดยลมให้เกิดความเสียหายในสหรัฐมูลค่าสูงถึง 154,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2017 ซึ่งเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปี 1995
ตัวเลขดังกล่าว รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับครัวเรือน พืชผล พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ อัตราการเสียชีวิตจากการสัมผัสฝุ่นละเอียด ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเนื่องจากโรคไข้ริฟต์แวลลีย์ และการขนส่ง อย่างไรก็ตาม ต้นทุนที่แท้จริงที่เกิดจากปัญหาฝุ่นละอองนั้นสูงกว่านี้มากอย่างแน่นอน เนื่องจากยังไม่มีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ในระดับประเทศที่เชื่อถือได้ เช่น ต่อการเจ็บป่วยของมนุษย์ วงจรของน้ำ การบิน และการเกษตรแบบทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์
โรลา แดชตี รองเลขาธิการสหประชาชาติ และหัวหน้าคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติประจำเอเชียตะวันตก กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากพายุนั้น “มหาศาล”
ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ต้องใช้งบประมาณถึง 150,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อรับมือกับพายุฝุ่นและทราย ซึ่งคิดเป็นประมาณ 2.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
“ฤดูใบไม้ผลิปีนี้เพียงปีเดียว ภูมิภาคอาหรับก็ถูกพายุฝุ่นทำลายล้าง” แดชตีกล่าว อ้างถึงพายุรุนแรงในอิรักที่ทำให้มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจล้นโรงพยาบาล ขณะที่พายุในคูเวตและอิหร่านที่ทำให้โรงเรียนและสำนักงานต้องปิดทำการ
WMO และองค์การอนามัยโลก ยังได้เตือนว่าภาระด้านสุขภาพกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีประชากร 3,800 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นละอองในระดับที่เกินเกณฑ์ความปลอดภัยของ WHO ระหว่างปี 2018-2022 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 2,900 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบระหว่างปี 2003-2007
ในตอนนี้หน่วยงานของสหประชาชาติและหน่วยงานระหว่างประเทศกว่า 20 แห่งกำลังทำงานร่วมกันเพื่อบูรณาการระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับพายุทราย และเพื่อจัดการกับปัญหาอื่น ๆ รวมถึงด้านสุขภาพและการจัดหาเงินทุนในการแก้ไขปัญหานี้
แดชตีเรียกร้องให้ทุกประเทศนำพายุทรายและฝุ่นเข้าสู่วาระระดับโลกและระดับชาติ ตั้งแต่ประเด็นการฟื้นฟูที่ดินและการเกษตรแบบยั่งยืน ไปจนถึงระบบเตือนภัยล่วงหน้าแบบบูรณาการ
“สิ่งที่เราต้องการตอนนี้คือความมุ่งมั่นร่วมกันและการจัดหาเงินทุนเพื่อนำแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไปปฏิบัติ” แดชตีกล่าวทิ้งท้าย