‘ไทย’เทหมดหน้าตักแลกดีล ยื่นสหรัฐเปิดเสรีสินค้าเกษตร
สถานการณ์การส่งออกของไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ เมื่อสหรัฐประกาศคงอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยอัตราสูงถึง 36% ภายใต้มาตรการ “Reciprocal Tariff” ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนามและมาเลเซียที่ปิดดีลได้ที่ 20% และ 25% ตามลำดับ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2568
รัฐบาลได้ยื่นข้อเสนอรอบที่ 2 ให้กับสหรัฐเมื่อวันที่ 6 ก.ค.2568 โดยมีข้อเสนอไทยขยับเป้าหมายสมดุลการค้าสหรัฐเร็วขึ้นจาก 10 ปี เหลือ 7-8 ปี โดยกำหนดให้ปี2573 ไทยลดได้ดุลการค้าสหรัฐลง 70% และปี2574-2575 ไทย และสหรัฐมีสมดุลการค้ากัน
ส่วนข้อเสนอเปิดตลาดการค้าได้ปรับเป็นการเปิดเสรีหรือภาษีนำเข้า 0% ให้สหรัฐในสินค้าจำนวนหนึ่ง แต่ต้องไม่ทำให้คู่ค้าไทยที่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เสียเปรียบสหรัฐ รวมทั้งไทยจะเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและเครื่องบิน
นายลวรณ แสงสนิทปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ข้อเสนอรอบที่ 2 ที่ยื่นให้สหรัฐมีความแตกต่างจากข้อเสนอแรก โดยเฉพาะในเรื่องจำนวนรายการสินค้าที่จะลดภาษีให้เป็น 0% ซึ่งมีจำนวนหลายพันรายการ
รวมถึงอุตสาหกรรมในประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากการลดภาษีสินค้าจำนวนมากให้เป็น 0% เพื่อเปิดตลาดให้ อย่างไรก็ตาม หลายรายการเป็นสินค้าที่เราได้ลดภาษี 0% อยู่แล้วกับประเทศคู่ค้า FTA อื่นๆ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ไทยยื่นข้อเสนอการลดภาษีให้สหรัฐพิจารณาได้ยึดแนวทางการลดภาษีตามกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีการลดภาษีครอบคลุมสินค้าประมาณ 90% หรือประมาณ 9,000 รายการ โดยเป็นแนวทางที่จะไม่กระทบกับคู่ค้าอื่นของไทย
นอกจากนี้ ไทยได้มีการพิจารณาอัตราภาษีศุลกากร MFN ซึ่งมีประมาณ 10,000 รายการ ในปี 2566 มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 9.8% แบ่งเป็นอัตราภาษีสำหรับสินค้าเกษตรอยู่ที่ 27.0% และอัตราภาษีสินค้าที่ไม่ใช่เกษตร 7.1% โดยจะเห็นได้ว่าอัตราภาษีกลุ่มสินค้าเกษตรค่อนข้างสูงจึงทำให้สหรัฐต้องการลดภาษีส่วนนี้ลง
ทั้งนี้ เมื่อเทียบอัตราภาษีศุลกากร MFN ของไทยอยู่ในอัตราสูงที่สุดในอาเซียน รองลงมาเป็นกัมพูชา 9.4% เวียดนาม 9.4% อินโดนีเซีย 8.0% เมียนมา 7.6% ฟิลิปปินส์ 6.0% มาเลเซีย 5.6% บรูไน 0.5% และสิงคโปร์ 0%
สำหรับอัตราภาษีนำเข้าสินค้าที่อยู่ในระดับสูงและมีเป้าหมายภาษีให้สหรัฐ อาทิ เครื่องดื่มและยาสูบที่มีอัตราถึง 47.1% , น้ำตาลและของที่ทำจากน้ำตาล 41.0% , ผลไม้และผัก 34.0% , ไขมันและน้ำมันจากพืช 33.8% ผลิตภัณฑ์จากนม 32.3% กาแฟ ชา โกโก้และเครื่องเทศ 31.5 , ธัญพืชและอาหารปรุงแต่ง 21.2% เสื้อผ้า 29.5%
สรท.ห่วงกระทบตลาดสหรัฐ
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ภาษีตอบโต้สหรัฐไทยได้รับ 36% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่คู่แข่งอย่างเวียดนามปิดดีลตัวเลขได้ 20% มาเลเซีย 25% ทำให้ไทยเสียเปรียบเวียดนาม ซึ่งหากถึงวันที่ 1 ส.ค. หากไทยไม่สามารถปิดการเจรจาได้สินค้าที่ไปสหรัฐจะโดนเก็บภาษี 36%
ทั้งนี้ จะทำให้ต้นทุนส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐอเมริกาสูงขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันได้ กระทบต่อมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐ ซึ่งสูงถึง 2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยจะเสียเปรียบคู่แข่งมากที่สุด ประกอบด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อาหารสำเร็จรูป, ข้าว, ยางพาราและผลิตภัณฑ์ และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น
อย่างไรก็ตาม หลายอุตสาหกรรมมีการใช้แรงงานเข้มข้นที่อาจนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก รวมถึงสินค้าเกษตรหลายรายการจะไม่สามารถแข่งขันได้ จะมีผลให้เกิดแรงกดดันต่อราคาผลผลิตภายในประเทศและกระทบต่อรายได้เกษตรกรและครัวเรือนไทยจำนวนมากในที่สุด
“ไทยจำเป็นต้องปิดดีลให้ได้ หรือปิดดีลภาษีให้ได้20 % เท่ากับเวียดนาม ไม่เช่นนั้นจะมีเอฟเฟ็กต์ตามมามหาศาล เพราะไม่เพียงจะกระทบต่อยอดส่งออกไปสหรัฐ 2 ล้านล้านบาท แต่ยังกระทบต่อภาคการผลิต และการลงทุนจากต่างประเทศจะลดลงอย่างมากในช่วงหลายปีต่อจากนี้เพราะนักลงทุนจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่เสียภาษีน้อยกว่าไทย ซึ่งจะทำให้ระบบเศรษฐกิจในประเทศเกิดภาวะชะงักงัน และไม่สามารถแข่งขันทางการค้ากับคู่แข่งสำคัญได้อีกในระยะยาว" นายธนากร กล่าว
นายธนากร กล่าวว่า การที่ไทยโดนภาษี 36% ส่งออกไทยจะไม่ขยายตัว โดยเฉพาะในครึ่งปีหลังจะไม่เติบโตเลย ส่ออาการไม่ดี ส่งผลให้ส่งออกทั้งปีจากเดิมตั้งเป้าไว้ 1-3% จะเติบโตเพียง 1% เท่านั้น โดยประเทศไทยจะนิ่งอยู่กับที่
ดังนั้น ไทยต้องปิดดีลให้ได้ในรอบที่ 2 เพราะระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์จะถึงเส้นตายวันที่ 1 ส.ค.นี้ ซึ่ง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งมามีการระบุชัดเจนว่าเขาจะไม่มีการขยับวันที่ ฉะนั้นจําเป็นอย่างยิ่งที่ทางทีมเจรจาของฝ่ายรัฐบาลไทยต้องเร่งปิดดีลให้จบ
หากพลาดดีลต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย 5-10 ปี
นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า คาดว่าตลาดสหรัฐจะชะลอตัวลงในครึ่งปีหลังแต่ตลาดอื่นๆ ยังคงไปได้ แต่เห็นการผลกระทบชัดเจนในต้นปีหน้า หากทีมเจรจาปิดดีลภาษีได้ที่ 20% สรท.ก็ยังรับได้ เพราะยังเท่ากับคู่แข่ง แต่หากคงภาษีที่ 36% ผลกระทบจะขยายวงกว้าง ไม่ใช่แค่เรื่องการส่งออกเท่านั้น แต่จะกระทบไปถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น การจ้างงาน การลงทุน ถึงแม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้วก็ตาม ปัญหาก็ไม่ได้หมดไปทันที
“การเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในวงกว้าง ทั้งด้านการค้าการลงทุน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูอย่างน้อย 5-10 ปี" นายคงฤทธิ์ กล่าว
ชง 3 ข้อเสนอเร่งด่วน ป้องเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ สรท.จะยื่นข้อเสนอต่อนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นแนวทางดำเนินการ คือ
1.ข้อเสนอสำหรับการเจรจาลดอัตราภาษีกับสหรัฐ อาทิ สนับสนุนการปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเป็น 0% ให้มากที่สุด โดยเฉพาะในรายการสินค้าที่ไทยสามารถยอมรับได้ การขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนสำหรับการลงทุนทางตรง (FDI) จากสหรัฐ และเร่งจัดซื้อสินค้ากลุ่มพลังงานจากสหรัฐให้มากขึ้นแทนการซื้อจากแหล่งอื่น
2.ข้อเสนอสำหรับการหาตลาดศักยภาพอื่นทดแทน อาทิ สนับสนุนงบประมาณในปี 2569-2570 สำหรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทั้งในต่างประเทศ อาทิ การพาผู้ประกอบการไปเข้าร่วมออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และการจัดกิจกรรม Business Matching และในประเทศ อาทิ กิจกรรม Incoming Mission ให้มากขึ้นและต่อเนื่อง
รวมทั้งเพิ่มงบประมาณโครงการ SMEs Proactive ให้ผู้ประกอบการส่งออก SMEs สามารถบุกตลาดอื่นได้มากขึ้น โดยเฉพาะในงานแสดงสินค้าที่ภาครัฐไม่สามารถพาผู้ประกอบการไทยไปเข้าร่วม
นอกจากนี้ ร่วมมือกับสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สำหรับจัดหาวงเงินหมุนเวียนและสนับสนุนค่าธรรมเนียมป้องกันความเสี่ยงทางการค้าในการบุกตลาดใหม่ และเร่งรัดการเจรจาการค้าเสรีทุกกรอบที่อยู่ระหว่างการเจรจาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
รวมถึงเพิ่มเติมการเจรจากับคู่ค้าสำคัญอื่นเพิ่มเติม และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3.ข้อเสนออื่นเพิ่มเติม ทั้งเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก และเพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศจากการนำเข้าสินค้าแหล่งอื่น อาทิ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน พิจารณาเงื่อนไขการปรับลดต้นทุนให้ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ดำเนินมาตรการกำกับดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับอ่อนค่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการพิจารณาชะลอการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำและปรับลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ อาทิ ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง เร่งรัดกระบวนการคืนภาษีธุรกิจ อาทิ ภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดมาตรการปรามการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐานที่เข้ามาตีตลาดในประเทศ และสินค้าสวมสิทธิ์ ตรวจสอบสินค้านำเข้า เป็นต้น