ถึงเวลาคืนชีพ 'บรรทัดทอง สามย่าน' ให้ปัง จุฬาฯ-สำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ เร่งแผนเชิงรุก
ย่านการค้า "บรรทัดทองและสามย่าน" ได้รับผลกระทบจากกระแสข่าวในโซเชียลหลากหลายด้าน รวมถึงผลต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นเส้นเลือดสำคัญของย่านแห่งนี้ ด้วยสัดส่วนถึง 40% ของลูกค้าทั้งหมด รวมถึงเศรษฐกิจไทยที่มีผลต่อคนในประเทศใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ทำให้ภาพของบรรทัดทองที่เป็นแหล่งสตรีทฟู้ดชื่อดังใจกลางของ กทม. ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากทราฟฟิกที่ลดลง ทำให้ล่าสุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ (PMCU) เร่งแผนพลิกฟื้นย่านบรรทัดทองและสามย่านให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง พร้อมจัดทำมาตรการเพื่อสร้างย่านการค้าให้แข็งแกร่ง วางหมุดหมายให้เป็นสตรีทฟู้ดไทยยอดนิยมอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ (PMCU) ได้ร่วมจัดทำแผนเพื่อทำให้ย่านบรรทัดทองและสามย่านกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพื่อร่วมสร้างอีโคซิสเต็มของทั้งร้านค้าและผู้ประกอบการที่อยู่ในทำเลแห่งนี้ประมาณ 600 ร้านมีความแข็งแกร่ง เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายของผู้ประกอบการ และทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในย่านการค้าแห่งนี้ ขยายไปทั้งกลุ่มคนที่อยู่ในทำเลจุฬาฯ จำนวนหลายหมื่นคน การขยายไปสู่กลุ่มลูกค้าทั่วไปและนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะยาว
สำหรับแผนงานในเบื้องต้น ได้มีการร่วมมือกับผู้ประกอบการที่เป็นร้านค้าในย่านบรรทัดทองและสามย่าน มีจำนวน 600 รายได้เกิดเครือข่ายเชื่อมโยงกัน ทั้งรู้จักผู้ประกอบการทั้งหมด ทำให้สร้างโอกาสเป็นพาร์ทเนอร์ และสามารถร่วมทำธุรกิจร่วมกันได้ในระยะยาว เนื่องจากแต่ละร้านต่างมีความพิเศษ และมีความโดดเด่น ที่ไม่เหมือนกัน
พร้อมกันนี้ได้มีการจัด "เสวนาโต๊ะกลม" โดยการเชิญชวนผู้ประกอบการในย่านสามย่านและบรรทัดทองมาร่วมหารือเปิดมุมมองและการรับฟังเสียงสะท้อนต่างๆ เพื่อร่วมมือพัฒนาย่านการค้าแห่งนี้ รวมถึงการเชิญวิทยาการจากจุฬาฯ มาให้ความรู้และแนะนำข้อมูลในรอบด้าน ร่วมสร้างความแข็งแกร่ง เพิ่มองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ตั้งแต่การทำระบบหลังบ้าน การทำระบบบัญชีและการทำระบบการตลาด ระบบออนไลน์ ไปจนถึงการขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ
“ถ้าเปรียบเทียบกับย่านการค้าแห่งอื่นๆ บรรทัดทองมีจุดแข็งแกร่ง ที่เป็นการผสมผสานผู้ประกอบการร้านอาหารในตำนาน ที่เปิดมาเป็นระยะเวลา 50 ปี และเปิดมาจนถึงปัจจุบัน ไปจนถึงร้านอาหาร ที่เปิดมา 20-40 ปี รวมถึงร้านใหม่ๆ ที่เข้ามา ทำให้ย่านมีความหลากหลาย กลายเป็นเอกลักษณ์พิเศษ ที่ดึงดูดกลุ่มลูกค้าหลากหลาย รวมถึงยังมี อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ที่เป็นพื้นที่สีเขียวและเปิดโล่ง”
นอกจากนี้ อีกความเข้าใจผิดของทำเลบรรทัดทองว่าร้านอาหารราคาแพงนั้น ก็ไม่ได้เป็นความจริง เพราะมีเมนูอาหารที่มีราคาเริ่มต้นที่ 60-70 บาท ทั้งหมดแสดงถึงทำเลที่มีอาหารหลายรูปแบบ
ทั้งนี้ จากแผนที่พัฒนาและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบันทำเลแห่งนี้ จะไม่ถูกเรียกว่า “ย่านบรรทัดทอง” อีกต่อไปแล้ว จะขยายไปสู่ “ย่านบรรทัดทองสามย่าน” เนื่องจากมีทำเลเชื่อมโยงกัน
ผศ.ดร.จรัสพัฒน์ พฤกษารัตนวุฒิ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า จากกระแสข่าวหลายด้านของบรรทัดทองและสามย่านตามสื่อโซเชียล และบางเรื่องไม่ได้เป็นความจริง ทำให้มีจัดทำโครงการร่วมมือกับ นิสิตนักศึกษาที่คุ้นเคยกับทำเลย่านนี้ เข้ามาทำหน้าเป็นผู้ร่วมรีวิวเรื่องราวของร้านอาหารต่างๆ พร้อมถ่ายทอดร้านอาหารที่มีเอกลักษณ์และมีร้านที่เป็นตำนาน รวมถึงรสชาติความอร่อย เพื่อร่วมสื่อสารที่ถูกต้องและสร้างความเข้าใจที่ดีให้แก่ทุกคน
ขณะเดียวกันเตรียมจัดทำป้ายแผนที่ของร้านค้า ร้านอาหารและเครื่องดื่มของย่านแห่งนี้ใหม่ทั้งหมด ที่จะแสดงข้อมูลของร้านค้าให้มีความชัดเจน เพื่อทำให้ลูกค้าและนักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกมากที่สุด โดยเป็นโครงการที่จะร่วมมือกับ นิสิตฯ เข้ามาทำเช่นกัน
อีกทั้งเตรียมนำร้านในตำนานเข้ามาเปิดเผยเคล็ดลับการทำธุรกิจร้านอาหารที่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบันภายใต้ชื่องาน “Living Legend” และยังให้เกิดการแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างกัน โดยในปัจจุบันมีร้านที่เปิดมากกว่า 50 ปีจำนวนกว่า 20 ร้านค้า ส่วนร้านแรกๆ ที่เข้ามาเปิดให้บริการในทำเลแห่งนี้คือ “สมบูรณ์โภชนา”
นอกจากนี้ยังมีแผนต่อยอดทางการตลาด ทั้งจัดอีเวนต์ใหญ่หลายงาน ทั้งการจัดงานเทศกาลกินเจ งานฉลองฮาโลวีน และงานลอยกระทง เป็นต้น โดยจะเป็นอีกสีสันร่วมสร้างบรรยากาศที่คึกคักให้แก่ลูกค้า
“จุดสำคัญคือ การร่วมดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้จำกัดเพียงนักท่องเที่ยว จากที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวจีน ในทำเลแห่งนี้ถึง 40% จึงต้องผสมผสานกลุ่มลูกค้าให้หลากหลาย ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลุ่มคนทำงานในทำเลแห่งนี้ และนิสิตจุฬาฯ รวมถึงการดึงคนจากนอกพื้นที่เข้ามาด้วย เพื่อสร้างกลุ่มเป้าหมายอย่างหลากหลาย ทำให้เกิดการหมุนเวียนเข้ามาใช้บริการซ้ำ เป็นผลดีต่อย่านการค้าในระยะยาว ร่วมสร้างความยั่งยืน”
อย่างไรก็ตาม โครงการ “โต๊ะกลม” ที่จัดโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ (PMCU) จะเป็นกิจกรรมอบรมที่จัดต่อเนื่องรวม 7 ครั้ง 7 หัวข้อ ระหว่างเดือนกรกฎาคม–กันยายน 2568 เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจของพื้นที่บรรทัดทอง–สามย่าน ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เช่าพื้นที่รุ่นเก่า–รุ่นใหม่ พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการได้ร่วมเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ประกอบด้วย
- ทางรอด-ทางรุ่งธุรกิจอาหาร โดย ผศ.ดร.เอกก์ ภัทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และที่ปรึกษาด้านแบรนด์ จุฬาฯ
- ปักหมุดให้เจอร้าน สร้างรีวิวให้ปัง โดยคุณทัพไทย ฤทธาพรม ผู้ร่วมก่อตั้ง Haab
- เพิ่มยอดขายด้วย Data ใช้ AI ให้ธุรกิจโตไว โดยคุณนภสินธุ์ ปิยะสินธ์ชาติ
- แก้เกม นักท่องเที่ยวหาย สร้างยอดขายด้วยลูกค้าประจำ โดยณธน โชติหิรัญรัตน์ โค้ชป้อ Line Thailand
- ขายดีแต่ไม่มีกำไรบัญชีช่วยได้ โดยคุณณัฐพิชญ์ รัตน์ปุนภพ และ คุณพัชรี พาตินธุ Senior Product Specialist FlowAccount
- แชร์แพสชั่น ดันลูกค้าสู่การเติบโต โดยคุณคุณาพงศ์ เตชวรประเสริฐ เจ้าของเพจขายดีไปด้วยกัน และ คุณธันยณภัทร สินสมบูรณ์ โค้ชปืน LINE MAN
- ย่านมีชีวิต และเมืองมีเรื่องราวการพัฒนาเชิงอัตลักษณ์เพื่อความยั่งยืนร่วมกัน โดย ผศ.ดร.จรัสพัฒน์ พฤกษารัตนวุฒิ ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ
ทั้งหมด จุฬาฯ ต้องการร่วมแสดงถึงบทบาทในการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย และพันธมิตรทางธุรกิจสู่การพัฒนาเมืองและชุมชน สอดรับพันธกิจของมหาวิทยาลัยในการเป็นศูนย์กลางความรู้เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน พร้อมการสร้างเมืองเติบโตอย่างยั่งยืน