สหรัฐ เปิดเกมรุก วางยุทธศาสตร์สร้างความมั่นคงทางอาหาร ต่อยอดเก็บภาษีคู่ค้า
สหรัฐประกาศเก็บภาษีตอบโต้ไทย 36 % เริ่ม 1 ส.ค. หลังการเจรจาภาษีไทยและสหรัฐล้มเหลว โดยสหรัฐไม่ตอบรับข้อเสนอ 5 ข้อของไทย แต่ก็ยังเปิดช่องให้ไทยได้ยื่นข้อเสนอรอบ 2 ได้ก่อนเส้นตาย 1 ส.ค.
การประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าของไทยไปสหรัฐสร้างตกใจและช็อค เพราะทุกฝ่ายยังมั่นใจว่า ไทยจะไม่โดนภาษี 36 % ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เกี่ยวข้องประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นหากไทยไม่สามารถต่อรองภาษีสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การส่งออก”ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญทางเศรษฐกิจของไทยและมีสัดส่วน 50-70 % ของจีดีพีไทย
สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือผู้ส่งออก ประเมินว่า หากปิดดีลไม่ได้ ไทยโดยภาษีเต็ม 36% จะกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐ ซึ่งสูงถึง 2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศไทย และยังส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในวงกว้าง ทั้งด้านการค้าการลงทุน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูอย่างน้อย 5-10 ปี
ขณะที่ทีมเจรจาที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ยื่นข้อเสนอรอบที่ 2 ให้กับสหรัฐเมื่อวันที่ 6 ก.ค.2568 โดยมีข้อเสนอไทยขยับเป้าหมายสมดุลการค้าสหรัฐเร็วขึ้นจาก 10 ปี เหลือ 7-8 ปี
โดยกำหนดให้ปี2573 ไทยลดได้ดุลการค้าสหรัฐลง 70% และปี2574-2575 ไทย และสหรัฐมีสมดุลการค้ากัน ลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าอื่นๆ กว่า 90% ตามกรอบความตกลง RCEP ซึ่งว่ากันว่ามีสินค้ากว่า 9,000 รายการ เรียกได้เทหมดหน้าตักเพื่อแลกกับการลดกำแพงภาษีที่สหรัฐ ซึ่งเวลานี้ก็คงต้อง “รอ”ให้สหรัฐพิจารณา
นอกเหนือจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ เร่งเดินหน้าเก็บภาษีประเทศคู่ค้าแล้วยังเดินหน้าเปิดเกมรุกเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับสหรัฐ ซึ่งเว็ปไซต์กรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เมืองชิคาโก สหรัฐ รายงานว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) ได้มี การเปิดเผยแผนยุทธศาสตร์ใหม่เชิงรุก
โดยนายบรูค โรลรินส์ (Brooke Rollins) รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการ ที่ปกป้อง และสร้างความมั่นคงของระบบอาหารและการเกษตรของสหรัฐฯ โดยประกาศว่า ความมั่นคงของเกษตรกร คือ ความมั่นคงของชาติแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกที่ระบุไว้ ได้แก่
1.การรักษาที่ดินทำกิน “ที่ดินที่เป็นของชาวต่างชาติ” โดยเฉพาะผู้ที่มาจากประเทศที่เป็นปัญหาหรือประเทศคู่แข่ง ทางการเมืองกับสหรัฐฯถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในอนาคต กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) จะดำเนินการปฏิรูปอย่างเข้มข้น เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและควบคุมการเป็นเจ้าของที่ดินโดยชาวต่างชาติให้เข้มงวดขึ้น รวมถึงการเปิดตัวเว็ปไซต์ใหม่ทางออนไลน์
2. การเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน USDA จะจัดทำรายชื่อวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีความสำคัญ เช่น ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ และแร่ธาตุซึ่งจำเป็นต่อความมั่นคงภายในประเทศ และจะทำการประเมินความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งจัดการ ซ้อมแผนสถานการณ์ รวมถึง “การวางแผนในภาวะสงคราม”
3. การต่อสู้กับการทุจริตในโครงการ SNAP (Supplemental Nutrition Assistance Program ซึ่งเป็นโครงการของ รัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารสำหรับผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการ EBT Card เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถซื้อ อาหารที่จำเป็นจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ) หน่วยงานได้ให้คำมั่นว่าจะป้องกันการทุจริตในรูปแบบการแสวงหาผลประโยชน์ จากโครงการฯ
4. การปกป้องงานวิจัยและนวัตกรรม การรักษาความปลอดภัยของงานวิจัยทางการเกษตร จากอิทธิพลของต่างชาติ การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับถ่ายโอนทางเทคโนโลยี และภัยคุกคามจากการก่อการร้ายทางการเกษตร การใช้เงินกองทุน ภาษีไปกับงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการมุ่งเน้นสนับสนุนเกษตรกรชาวอเมริกันเป็นอันดับแรก และส่งเสริม นวัตกรรมทางธุรกิจของสหรัฐฯ
5.การปกป้องสุขภาพของพืชและสัตว์โดยการทำงานร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการตรวจจับ บรรเทา และตอบสนอง ต่อภัยคุกคาม เช่น ศัตรูพืชที่รุกรานและโรคสัตว์ รวมถึงให้ความร่วมมือกับ DARPA (Defense Advanced Research Projects Agency) เพื่อรับรองว่า โครงการเกษตรกรรมที่สนับสนุนจะช่วยส่งเสริมความพร้อมทางทหาร การปกป้องพืชและสัตว์ของสหรัฐฯ และเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทาง การเกษตร
6. การปกป้องโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ USDA จะเพิ่มความร่วมมือด้านการป้องกันทางไซเบอร์ และการฝึกอบรมธุรกิจ ทางการเกษตร เพื่อปกป้อง และขยายความแข็งแกร่ง และความยั่งยืนของระบบอาหารของสหรัฐฯ โดยทำงานร่วมกับผู้ว่าการรัฐ สมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐ และพันธมิตรอื่น ๆ อย่างใกล้ชิดมากขึ้น
สคต.เมืองชิคาโก ให้ความเห็นว่า แผนปฏิบัติการใหม่เชิงรุกของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) สะท้อนให้เห็นถึง การให้ความสำคัญ ของภาคการเกษตร และการเตรียมความพร้อมในการปกป้อง และสร้างความมั่นคงของระบบอาหาร และการเกษตรของสหรัฐฯ รวมทั้งการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ
โดยให้ความสำคัญกับนโยบาย Make Agriculture Great Again กับเกษตรกร ผู้เลี้ยง สัตว์ และผู้บริโภคชาวอเมริกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมความมั่งคั่งทางเกษตร และเศรษฐกิจ และเป็นการตอบรับกับนโยบาย‘America First’ อีกทั้ง USDA ได้ให้คำมั่นว่า เงินทุนทั้งหมดของ USDA จะได้รับการจัดลำดับความสำคัญ รวมทั้งการใช้ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมที่ทำการผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกา
“ การเก็บอัตราภาษีนำเข้า 36 % กับสินค้าจากประเทศไทย เริ่มในวันที่ 1 ส.ค. 2568 หากยังไม่มีความคืบหน้าใน การเจรจาข้อแลกเปลี่ยนเพื่อลดอัตราภาษีลง สินค้าไทยจะไม่สามารถแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากสูงกว่าคู่แข่งขัน ทั้งใน สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร รวมทั้งกลุ่มสินค้าเกษตร/เกษตรแปรรูป ซึ่งมี ข้าวหอม มะลิ อาหาร/ผลไม้กระป๋อง ซอส เครื่องปรุง น้ำผลไม้ ฯลฯ “สคต. เมือง ชิคาโก สหรัฐ ระบุ