'ภาษีทรัมป์' ฉุดรายได้ 'การท่าเรือฯ' จ่อหยุดสถิตินิวไฮ 3 ปี ซ้อน
ผลประกอบการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เติบโตทำ New Record ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน สะท้อนถึงภาพการส่งออกและนำเข้าสินค้าทางเรือที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา กทท. มีรายได้สูงสุดรวม 17,224 ล้านบาท เป็น New Record มีกำไรสุทธิ 7,648 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้ง
ขณะที่ผลประกอบการในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ต.ค. 2567 – มี.ค. 2568) มีกำไรสุทธิ 3,500 ล้านบาท โดยเฉพาะปริมาณเรือเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง รวมสูงถึง 7,371 เที่ยว เพิ่มขึ้น 1.95% สินค้าผ่านท่า 61.68 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.10% และตู้สินค้าผ่านท่า 5.56 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 5.35%
อย่างไรก็ดี การเติบโตของปริมาณสินค้าทางเรือหลังจากนี้ยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ภายหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเตรียมจัดเก็บภาษีศุลกากร สำหรับประเทศไทยในอัตราสูง 36% เริ่ม 1 ส.ค.นี้ ซึ่งผลพวงที่ชัดเจนคือจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก ปริมาณการส่งออกสินค้าทางเรือที่เป็นขนส่งหลักของผู้ประกอบการเลือกใช้ และเป็นผลกระทบมายังรายได้ของ กทท.ในปีนี้ที่อาจพลาด New Record ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงกรณีสหรัฐฯ ประกาศจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% เริ่ม 1 ส.ค.นี้ โดยระบุว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณลบจากผู้ประกอบการสายการเดินเรือ เนื่องจากการนำเข้าและส่งออกเป็นธุรกิจที่ต้องดำเนินการล่วงหน้าประมาณ 2 – 3 เดือน จึงเชื่อว่าผลกระทบดังกล่าวน่าจะเห็นภาพชัดเจนในช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี ภาพรวมการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เนื่องจากมาตรการกำแพงภาษีของทรัมป์ได้ประกาศออกมาล่วงหน้า ทำให้ผู้ประกอบการเร่งรับคำสั่งซื้อและส่งออกสินค้าไปล่วงหน้าตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา โดยมีหลายบริษัทที่รับคำสั่งซื้อล่วงหน้าจนถึงสิ้นปี
และทยอยส่งออกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือของไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบังซึ่งเป็นท่าเรือหลัก มีปริมาณขนส่งสูงสุดถึง 9.5 แสน TEUs ต่อเดือน จากเดิมปริมาณตู้สินค้าอยู่ที่ 6-7 แสน TEUs ต่อเดือน
“เรื่องผลกระทบของภาษีที่ปรับเพิ่มขึ้นที่จะทำให้ปริมาณการส่งออกลดลงนั้น เรื่องนี้การท่าเรือฯ ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแผนการรับมือต่อไป"
รวมทั้งและเชื่อว่ารัฐบาลกำลังพยายามที่จะเจรจาลดผลกระทบเรื่องนี้อยู่ ซึ่งก็ยังมีเวลาที่ยังไม่ทำให้เรื่องนี้กระทบต่อปริมาณการส่งออก เพราะส่วนใหญ่ผู้ประกอบการรับออเดอร์ล่วงหน้าไปแล้ว ดังนั้นตอนนี้ในระยะสั้นจึงยังไม่ได้รับผลกระทบ น่าจะไปเห็นภาพกลางเดือน ส.ค.นี้
นายเกรียงไกร กล่าวด้วยว่า กรณีที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับผู้ประกอบการที่ลงทุนในท่าเรือของไทย และอาจเปลี่ยนใจไปลงทุนในท่าเรือของประเทศเพื่อนบ้านที่มีภาษีต่ำกว่านั้น กทท.ประเมินว่าเรื่องนี้ไม่น่าเป็นผลกระทบต่อการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงการลงทุน เนื่องจากการลงทุนท่าเรือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้เวลาก่อสร้าง มีสัมปทาน และมีมูลค่าการลงทุนสูง ดังนั้นไม่น่าจะมีกรณีย้ายฐานการเดินเรือ
อีกทั้งหากเปรียบเทียบอัตราภาษีที่เกิดขึ้นในหลายประเทศของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงนั้น พบว่าอยู่ในอัตราภาษีที่ใกล้เคียงกับไทย อาทิ อินโดนีเซียถูกจัดเก็บ 32% และมาเลเซียถูกจัดเก็บ 25% ดังนั้น กทท.จึงไม่กังวลมากว่าเรื่องนี้จะเป็นแรงจูงใจทำให้นักลงทุนเปลี่ยนฐานการลงทุน