“สุริยะ” กำชับทุกหน่วยงาน “คมนาคม” รับมือพายุวิภา จัดเจ้าหน้าที่ - อุปกรณ์ ช่วยเหลือปชช.ทันที เกาะติดสถานการณ์ 24 ชม.
“สุริยะ” สั่งการทุกหน่วยงาน “คมนาคม” รับมือพายุ “วิภา” จัดเจ้าหน้าที่ - อุปกรณ์ ช่วยเหลือประชาชนทันที - มีประสิทธิภาพ กำชับทุกฝ่ายเกาะติดสถานการณ์ 24 ชั่วโมง ดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้ผลกระทบอย่างใกล้ชิด
วันที่ 23 กรกฎาคม 2568 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้พายุโซนร้อนวิภากำลังพาดผ่านประเทศไทย ส่งผลให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ต้องเผชิญกับลมพายุและฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือน และมีความเสี่ยงดินโคลนถล่ม จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ดำเนินมาตรการความปลอดภัยสูงสุด เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้
กรมทางหลวง (ทล.) จัดเตรียมป้ายเตือนอันตราย ป้ายแนะนำเส้นทางเลี่ยง - ทางลัด และเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยงตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะถนนสายหลักและเส้นทางภูเขาที่มีความเสี่ยงดินโคลนถล่ม อาทิ จังหวัดน่าน พะเยา เชียงราย แพร่ และลำปาง เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำและทางหลวงสายสำคัญ พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักรเพื่อแก้ไขสถานการณ์ได้ทันทีหากเกิดเหตุฉุกเฉิน อีกทั้งให้ประสานการทำงานกับหน่วยงานท้องถิ่น และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมแจ้งเตือนประชาชนและผู้ใช้ทางอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ทล. ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมและดินสไลด์ในโครงข่ายทางหลวง ข้อมูล ณ 23 กรกฎาคม 2568 เวลา 11.30 น. พบ 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย (10 สายทาง 14 แห่ง) น่าน (5 สายทาง 8 แห่ง) และพะเยา (5 สายทาง 7 แห่ง) รวม 29 แห่ง การจราจรผ่านได้ 22 แห่ง ผ่านไม่ได้ 7 แห่ง ขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง หลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีฝนตกหนัก ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด และสอบถามเส้นทางผ่านสายด่วน ทล. โทร. 1586 ตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้กำชับให้หน่วยงานในพื้นที่จัดเจ้าหน้าที่ให้ลงพื้นที่ตรวจสายทางที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างใกล้ชิด หากพบถนนที่ได้รับผลกระทบทั้งสัญจรผ่านได้และผ่านไม่ได้ให้เร่งดำเนินการนำเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย เข้าติดตั้งเพื่อแจ้งเตือนประชาชนผู้ใช้เส้นทางระมัดระวังในการขับขี่สัญจรทันที พร้อมรายงานสถานการณ์เข้าสู่ระบบบริหารจัดการงานอุทกภัย ทช. หรือ FMS เพื่อให้ผู้บริหารและประชาชนได้รับทราบเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว สามารถแจ้งเหตุสายด่วน ทช. โทร. 1146 ข้อมูล ณ 23 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.30 น. มีสายทางที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม 3 จังหวัด สามารถสัญจรผ่านได้ ดังนี้ 1) ชม.3018 แยก ทล.108 - บ้านกิ่วแลป่าเป้า อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ช่วง กม. ที่ 11+730 - 11+740 2) พร.6040 บ้านน้ำพุ - บ้านแม่แรม อำเภอร้องกวาง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ช่วง กม. ที่ 5+280 - 6+150 และ 3) อบ.4038 แยก ทล.2173 - บ้านพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ช่วง กม. ที่ 18+000 - 18+200
กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งดำเนินมาตรการป้องกันน้ำท่วมในระบบขนส่งทางราง โดยเน้นการทำความสะอาดและปรับปรุงระบบระบายน้ำ ขุดลอกทางน้ำธรรมชาติ จัดเจ้าหน้าที่สำรวจพื้นที่เสี่ยง และจัดหาเครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินรถ ทั้งนี้ รฟท. ได้เตรียมความพร้อมโดยกำชับทุกฝ่ายให้เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบอุปกรณ์ทั้งรางรถไฟและตัวรถ อาณัติสัญญาณ เครื่องกั้นอัตโนมัติให้พร้อมใช้งาน และสำรองพนักงานรถจักรสำหรับภารกิจเผชิญเหตุ รวมถึงตรวจเช็กระบบต่าง ๆ ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ติดตามปริมาณน้ำฝน ประเมินสถานการณ์ จัดหาสถานที่พักคอยผู้โดยสาร และขอความร่วมมือผู้ขับขี่เพิ่มความระมัดระวังบริเวณจุดตัดเสมอระดับและอุโมงค์ลอดใต้ทางรถไฟ โดยให้สังเกตป้ายและสัญญาณเตือนระดับน้ำ เพื่อความปลอดภัย
ขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้แจ้งให้ผู้โดยสารที่จะเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ฮ่องกง มาเก๊า และเซินเจิ้น เป็นต้น ตรวจสอบข่าวสารและสถานะของเที่ยวบิน หากได้รับผลกระทบจากเที่ยวบินล่าช้าหรือการยกเลิกเที่ยวบิน จะได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งในเที่ยวบินแบบประจำในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น การเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินหรือการขอรับเงินค่าโดยสารคืนเต็มจำนวน แต่ยกเว้นการรับค่าชดเชยเนื่องจากเกิดจากเหตุการณ์ภายนอกที่ไม่อาจคาดหมายและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.caat.or.th/th/archives/97266 หรือ โทร. 0 2568 8800 สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศไทยจากสนามบินที่ได้รับผลกระทบให้ตรวจสอบสิทธิและทางเลือกจากเว็บไซต์ของสายการบินที่เดินทาง
ด้านบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ได้ออกมาตรการรองรับสภาพอากาศที่อาจส่งผลกระทบการบินเพื่อเพิ่มระดับของความปลอดภัย และประสิทธิภาพในการจัดการจราจรทางอากาศ ตามแนวทางขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) การให้บริการจราจรทางอากาศและการปฏิบัติการบิน 2) การให้บริการเครื่องอำนวยความสะดวกการเดินอากาศ โดยให้เฝ้าระวังและเตรียมการรองรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ 3) ลักษณะทางกายภาพของสนามบิน เช่น ทางวิ่ง ทางขับ และอื่น ๆ จนส่งผลต่อการให้บริการจราจรทางอากาศ และ 4) อาคารสถานที่ของ บวท. โดยให้ตรวจสอบสภาพการใช้งาน ความมั่นคงแข็งแรง รวมทั้งให้กำหนดแนวทางการบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ เพื่อให้ทุกเที่ยวบินเกิดความสะดวก และความปลอดภัยทางการบินสูงสุด
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) รายงานว่า ท่าอากาศยานในสังกัด ทอท. มีการดำเนินการโดยท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้จัดเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่ พร้อมให้บริการในการเปิดศูนย์ประสานงานบริเวณเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ชั้น 1 ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2568 เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุกรณีเกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังภายในเขตสนามบินอย่างเคร่งครัด โดยจะมีการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน เวลา 09.00 น. เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงที รวมถึงได้เปิดพื้นที่สำหรับจอดยานพาหนะ เพื่อช่วยเหลือพนักงานและประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบ สามารถรองรับรถยนต์ได้ประมาณ 250 คัน ขณะที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย อนุญาตให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังบ้านเรือน นำรถยนต์มาจอดบริเวณถนนเส้นทางบ้านพักพนักงานได้ ช่วงวันที่ 23 - 24 กรกฎาคม 2568 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด โดยเที่ยวบินยังเข้า - ออกได้ปกติ
ในส่วนของกรมเจ้าท่า (จท.) ได้ออกประกาศ จท. ที่ 152/2568 เรื่องให้ระมัดระวังการเดินเรือ เนื่องจากจากอิทธิพลของพายุวิภา และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ควรงดออกจากฝั่ง เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมและทุกหน่วยงานเกี่ยวเกี่ยวข้อง พร้อมที่จะเข้าดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้สถานการณ์ดังกล่าวเกิดผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชน แต่หากมีสถานการณ์ผิดปกติจะเร่งส่งหน่วยงานเข้าลงพื้นที่และเร่งจัดการโดยทันที พร้อมกันนี้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติม หรือแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายระหว่างเดินทางติดต่อได้ที่ สายด่วน กระทรวงคมนาคม 1356 ทล. 1586 ทช. 1146 การรถไฟแห่งประเทศไทย 1690 AOT Contact Center 1722 และกรมเจ้าท่า 1199