จีนพร้อมทำงานกับทุกฝ่าย หนุนความร่วมมือ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ คุณภาพสูง
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
ปักกิ่ง, 23 ก.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันอังคาร (22 ก.ค.) กัวเจียคุน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน แถลงข่าวเกี่ยวกับรายงานแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ว่าจีนพร้อมทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อสร้างความก้าวหน้าอันเป็นรูปธรรมในการแสวงหาความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่มีคุณภาพสูงเพื่อการพัฒนาร่วมกันและอนาคตที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์
รายงานระบุว่ามูลค่าโครงการภายใต้แผนริเริ่มฯ ช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายนของปี 2025 สูงกว่ามูลค่ารวมของทั้งปี 2024 ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ ด้านสื่อมวลชนและนักวิชาการบางส่วนระบุว่ากรณีจีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มฯ เพิ่มขึ้นนั้นสวนทางกับแนวทางของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังจัดเก็บภาษีศุลกากรกับคู่ค้าทั่วโลกอย่างหนักหน่วง ทำให้กลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มฯ เห็นโอกาสกระชับความสัมพันธ์กับจีน
ปัจจุบันความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเข้าสู่ระยะใหม่ของการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง โดยผลลัพธ์ของความร่วมมือนี้ส่งผลประโยชน์แก่ประชาชนในกว่า 150 ประเทศ ตั้งแต่ยูเรเซียจนถึงแอฟริกาและลาตินอเมริกา ตั้งแต่การเชื่อมต่อทางกายภาพจนถึงการเชื่อมโยงเชิงองค์กร รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ซึ่งโครงการที่โดดเด่นภายใต้แผนริเริ่มฯ มีดังนี้
– ทางรถไฟความเร็วสูงสายจาการ์ตา-บันดุง ขนส่งผู้โดยสารมากกว่า 10 ล้านคน
– รถไฟด่วนจีน-ยุโรป ให้บริการรถไฟสินค้ามากกว่า 1.1 แสนเที่ยว
– การเดินเรือแบบสองทางระหว่างเมืองชานเคย์กับนครเซี่ยงไฮ้ครั้งแรกผ่านระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศใหม่ระหว่างจีนกับลาตินอเมริกา
– กำลังการผลิตติดตั้งโดยรวมของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จีนและแอฟริกาสร้างร่วมกันสูงกว่า 1.5 กิกะวัตต์
– โครงการ “เล็กแต่สวยงาม” เช่น ห้องปฏิบัติการหลู่ปาน (Luban Workshop) และเทคโนโลยีจวินเฉ่า (juncao) นำพาครัวเรือนสู่ความเจริญ
กัวชี้ว่าหลังจากพัฒนามานานกว่าทศวรรษและสานต่อความก้าวหน้าด้านการเชื่อมโยง ความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางขยับขยายกลายเป็นเวทีสำหรับความร่วมมือทางการค้าและอุตสาหกรรม ช่วยเหลือประเทศต่างๆ บูรณาการเข้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ รวมถึงรักษาเสถียรภาพและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
สำหรับความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จีนยึดถือหลักการ “วางแผนร่วมกัน ก่อสร้างร่วมกัน และรับประโยชน์ร่วมกัน” ปรัชญาความร่วมมือแบบเปิดกว้าง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสะอาด และเป้าหมายของการแสวงหาความร่วมมือที่มีมาตรฐานสูง เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง และยั่งยืน ตลอดจนมุ่งส่งเสริมการสร้างความทันสมัยของทุกประเทศ