“GPSC” รุกศึกษา “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก” เทคโนโลยี Gen IV
นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ผู้จัดการใหญ่ และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า GPSC อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า SMR (Small Modular Reactor) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศอย่างมีเสถียรภาพ ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฯ สู่สิ่งแวดล้อม
สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero Emissions (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) ของกลุ่ม ปตท. โดย SMR ถือเป็นนวัตกรรมสำคัญในการผลิตไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถป้อนพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับเทคโนโลยี SMR ที่ GPSC กำลังศึกษาพัฒนาอยู่ถือเป็นนวัตกรรมพลังงานสะอาดยุคใหม่จากเทคโนโลยีปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นที่ 4 (Generation IV หรือ Gen IV) ที่จะช่วยยกระดับศักยภาพการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย ด้วยคุณสมบัติเด่นที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ สามารถผลิตพลังงานได้อย่างมีเสถียรภาพ ความปลอดภัยสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากออกแบบเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก กำลังการผลิต 100-300 เมกะวัตต์ต่อหน่วย
ส่งผลให้มีระยะเวลาการก่อสร้างที่รวดเร็ว สามารถผลิตแบบโมดูลสำเร็จรูปจากโรงงาน และตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่สามารถจ่ายทั้งไฟฟ้าและไอน้ำได้อย่างต่อเนื่อง ต่างจากพลังงานหมุนเวียนทั่วไปที่ผลิตได้เฉพาะช่วง
ส่วนกระบวนการผลิตไฟฟ้า ใช้แท่งเชื้อเพลิงยูเรเนียมความเข้มข้นต่ำ ร่วมกับระบบระบายความร้อนด้วยเกลือหลอมเหลว (Molten Salt Technology) ลดความเสี่ยงด้วยระบบความปลอดภัยแบบพาสซีฟ (Passive Safety System) ที่อาศัยหลักธรรมชาติในการลดความร้อนจากแท่งเชื้อเพลิงโดยอัตโนมัติในกรณีฉุกเฉิน อีกทั้งไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างกระบวนการผลิตไฟฟ้า
อย่างไรก็ดี การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า SMR จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดหลายด้าน ทั้งการเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม เทคโนโลยีเฉพาะ การจัดการความปลอดภัย และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่ง GPSC กำลังดำเนินการศึกษาอย่างรอบคอบตามกรอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ PDP 2024 ซึ่งได้กำหนดขนาดกำลังผลิตไว้ที่ 300 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงปลายแผนปี 2580
นายศิริเมธกล่าวอีกว่า การที่ไทยจะเดินหน้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ต้องยอมรับว่าในทุกกระบวนการผลิตจะต้องไม่ปล่อยคาร์บอนฯ ซึ่งยังมีมิติความท้าทายด้านพลังงาน 3 ด้าน (Energy Dilemma) ที่ต้องเผชิญ ได้แก่ 1.ความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) ,2.ความสามารถในการจ่าย (Affordability) ที่ตอบโจทย์ภาคประชาชนในราคาค่าไฟฟ้าที่สามารถยอมรับได้ และ3.ความยั่งยืนทางพลังงาน (Sustainability) ซึ่งต้องไม่ปลดปล่อยคาร์บอนฯ
ดังนั้น การใช้พลังงานหมุนเวียนเพียงอย่างเดียว จึงยังไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสม โดยยังไม่มีโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีใดสามารถตอบโจทย์ได้ทั้ง 3 ด้านดังกล่าว ยกเว้น SMR ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions ได้
“GPSC มีความพร้อมในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า SMR เนื่องจากมีความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีดังกล่าว โดยเชื่อมั่นว่ากฎเกณฑ์ภาครัฐที่อยู่ระหว่างจัดทำขึ้นอย่างชัดเจน จะเป็นโอกาสในการเปิดให้มีการพัฒนา SMR ซึ่ง GPSC จะเป็นเอกชนรายแรกที่เดินหน้าโครงการนี้ โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้นำร่องในไทย”